กกต.ชงกม.เลือกตั้งส.ส. กำหนดโทษโกง4ระดับ
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559
กกต.ถกร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.อังคารนี้ กำหนดโทษทุจริต 4 ระดับ ใบเหลือง-ใบส้ม- ใบแดง-ใบดำ ทั้งตัดสิทธิสมัครชั่วคราว 1 ปี ร้ายแรงสุดเพิกถอนสิทธิสมัครตลอดชีพ ด้านศาล รธน.เตรียมวินิจฉัยร่าง รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กกต.วันที่ 13 ก.ย.นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นฉบับที่ 2 ในจำนวนร่างกฎหมาย 4 ฉบับ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จากที่ก่อนหน้านี้ กกต.ได้ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไปให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)พิจารณาแล้ว
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คณะทำงานของสำนักงาน กกต.ยกร่างขึ้น แบ่งออกเป็น 5 หมวด ประกอบด้วย การเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง,การเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ, การประกาศผลการเลือกตั้ง,การสืบสวนไต่สวนและวินิจฉัย และบทกำหนดโทษ สาระสำคัญหลัก นอกจากนำหลักการใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญมาบัญญัติไว้ทั้งการประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ให้เป็นอำนาจของ กกต. การคำนวณจำนวน ส.ส. การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว การประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ที่น่าสนใจคือในส่วนการดำเนินการเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรมมีการกำหนดระดับความผิดฐานกระทำทุจริตไว้เป็น "ใบเหลือง-ใบส้ม- ใบแดง -ใบดำ
โดย ใบเหลือง คือก่อนหรือในวันเลือกตั้ง เมื่อ กกต. สืบสวน ไต่สวนแล้วหรือพบเห็นการกระทำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริต เที่ยงธรรมหรือ กกต.แต่ละคนพบเห็นการกระทำผิดให้มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลงยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ หรือ นับคะแนนเลือกใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งรวมถึงในกรณีหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าการเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้สั่งเลือกตั้งใหม่ได้ หรือกรณีกกต.ยื่นขอให้ศาลพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จากกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำทุจริต หรือรู้เห็นการกระทำของบุคคลอื่นแต่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้สมัครไม่ได้กระทำทุจริตหรือรู้เห็นการกระทำทุจริตของบุคคลอื่น ศาลอาจสั่งให้มีการ เลือกตั้งใหม่ได้ซึ่งก็ให้สมาชิกสภาพของ ส.ส. ในเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลง
ส่วน ใบส้ม คือ หลังวันเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ากกต.พบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนอยู่ในลำดับที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัคร ให้กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และสั่งระงับสิทธิการรับสมัครของผู้นั้น หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำ หรือรู้เห็นการกระทำบุคคลอื่นจนเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต มีการนับคะแนนไม่ถูกต้อง ให้ กกต.ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี โดยให้คำสั่ง กกต.ถือเป็นที่สุด
ขณะที่ ใบแดง เป็นกรณีหลังการประกาศผลก ารเลือกตั้ง หาก กกต.พบว่าผู้ที่เป็นส.ส.นั้น เป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้น นอกจากกรณี กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการทุจริตเลือกตั้งหรือรู้เห็นการกระทำของบุคคลอื่น ที่ทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต ก็ให้ยื่นต่อศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี และสั่งเลือกตั้งใหม่ กรณีผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งพร้อมให้รับผิดชดใช้ ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้ง ทั้งค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษจำนวน 2% ของค่า ใช้จ่ายจัดการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งให้คืนเงินประจำตำแหน่งประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ทั้งนี้ ให้การพิจารณาของศาลฎีกาใช้สำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของ กกต.เป็นหลัก และเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้วหากผู้ถูกกล่าวหาเป็นส.ส.ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาว่าไม่ได้กระทำผิด แต่ถ้าศาลฎีกาพิพากษาว่ากระทำผิดให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
สำหรับใบดำ นั้นเป็นกรณีที่บทบัญญัติในร่างกฎหมายดังกล่าวเขียนล้อมาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดให้มีโทษการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ได้มีกำหนดระยะเวลารับโทษว่าจะนานกี่ปี เพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากโทษของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งที่จะมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า 5 หรือ 10 ปี จึงเท่ากับว่า หากผู้สมัคร หรือส.ส.คนใดศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งก็จะถือว่าเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพซึ่งการถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทางการเมืองและกรรมการองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว ตามมาตรา 98, 108ของร่างรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 202 (2) ของ ร่างรัฐธรรมนูญกรรมการองค์กรอิสระ ตามมาตรา 217,203 (4) ของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังให้กกต.เป็นผู้มีอำนาจประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและกรณีมีเหตุอันจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้กกต.ไม่อาจจัดการเลือกตั้งตามวันที่ กกต.ประกาศ หรือมีเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5% (18 เขต) ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด 350 เขตเลือกตั้ง ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือมีเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5%ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด ที่มีเหตุจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น มีมวลชนปิดล้อมซึ่งจะทำให้ กกต.ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ร้อยละ 95% ในครั้งแรกให้กกต.สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุด
ขณะที่การเปิดรับสมัครพื้นที่ใดเกิดเหตุจลาจล หรือเหตุสุดวิสัยอื่น ที่ทำให้กกต.เปิดรับสมัครไม่ได้ ให้ กกต.สามารถดำเนินการรับสมัครโดยวิธีการอื่นได้ ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง สามารถถอนหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครรับเลืกตั้งได้กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งตาย ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามโดยต้องกระทำก่อนการปิดรับสมัคร แต่ในอดีตเมื่อสมัครแล้ว จะไม่สามารถถอนหรือเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนการหาเสียง พรรคการเมืองนักการเมืองจะต้องติดป้ายหาเสียงในสถานที่ที่ กกต.กำหนดเท่านั้นไม่สามารถไปหาสถานที่ติดตั้งเองได้การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงทะเบียนครั้งต่อครั้งและสามารถขอใช้สิทธินอกเขตเลือกตั้งได้.