กกต.ชงจำคุก10ปีทุจริตเลือกตั้งส.ว. – กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

หัวข้อข่าว กกต.ชงจำคุก10ปีทุจริตเลือกตั้งส.ว.

ที่มา; กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

 

กกต.ถกกฎหมายลูก”ที่มาส.ว.”วันนี้  ยึดแนวคิด กรธ. “เลือกไขว้” 200 คน ชงเพิ่มโทษ”คุก 10 ปี -เพิกถอนสิทธิสมัคร-ใช้สิทธิเลือกตั้ง” เอาผิดผู้สมัคร และฝ่ายการเมืองทุจริตเลือก ส.ว.  ด้าน “ศุภชัย”ติง “เซ็ตซีโร่”อย่าจ้องเล่นงานเฉพาะ กกต.

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งกกต.วันนี้ (26 ก.ย.) ที่ประชุมจะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)   โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นเรื่องของกระบวนการ วิธีการได้มาซึ่งส.ว 200 คน ตามมาตรา 107 ของร่างรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็น 3 หมวดคือหมวดการได้มาซึ่งส.ว. หมวดการสืบสวน หรือไต่สวน และวินิจฉัย หมวดการควบคุมการเลือกและบทกำหนดโทษและบทเฉพาะกาล

 

โดยบุคคลที่จะเป็นส.ว.ต้องมีความรู้ เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในงานแต่ละด้านนั้น ร่างกฎหมายได้กำหนดเป็น 20 ด้านตามแนวความคิดของกรธ. ซึ่งผู้สมัครแต่ละด้านต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 108 ของร่างรัฐธรรมนูญโดยสามารถยื่นลงสมัครได้เพียงด้านเดียวพร้อมค่าธรรมเนียม 5 พันบาท ห้ามหาเสียง ทำได้เพียงเอกสารแนะนำตัวเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว การศึกษา ผลงานในการทำงาน โดย กกต.เป็นผู้เผยแผร่ให้

 

ส่วนการเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 60 วัน โดยกกต.จังหวัดและ คณะอนุกรรมการประจำอำเภอ

 

ที่มีการแต่งตั้งขึ้น จะดำเนินการเลือก ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ส่วน กกต.กลางเลือกระดับประเทศ หนึ่งหน่วยเลือกตั้งจะประกอบด้วยผู้มีสิทธิลงคะแนนจำนวน 500 คนเป็นประมาณ ใช้หีบบัตรเลือกตั้ง 20 หีบ ผู้สมัครจะลงคะแนนเลือกให้ผู้สมัครกลุ่มอื่นได้กลุ่มละหนึ่งหมายเลข เกณฑ์ได้รับเลือก

 

ผู้ได้คะแนนมากที่สุดเรียงลำดับ ลงมาตามจำนวนที่ต้องการในการเลือกของแต่ละกลุ่มแต่ละระดับเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีคะแนนเท่ากันในลำดับที่ทำให้เกินจำนวนที่จะพึงมีในแต่ละกลุ่มแต่ละระดับให้ใช้การจับสลาก และการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดใช้เวลาระดับละ 15 วัน ระดับประเทศ 7 วัน เปิดเส้นทางเลือดส.ว.200คน

 

ระดับอำเภอเมื่อดำเนินขั้นตอนการสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครแล้ว หากผู้สมัครกลุ่มใดใน 20 กลุ่มมีจำนวนเกินกว่า 5 คน จะทำ 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกให้ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่มให้เหลือผู้สมัครกลุ่มละ 5 คน ขั้นตอนที่ 2 ให้ผู้ที่ผ่านการคัดกรองกันเอง 5คนของแต่ละกลุ่ม ไปเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น 19 กลุ่มที่เหลือ หรือที่เรียกว่า “เลือกไขว้” โดยแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นได้กลุ่มละหนึ่งหมายเลข เพื่อให้ได้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนมากสุดเรียงลำดับลงมาจำนวน 3 คนในแต่ละกลุ่ม

 

ดังนั้นหนึ่งอำเภอเมื่อคัดเลือกได้ ผู้สมัครที่เป็นตัวแทนกลุ่มละ 3 คนจาก 20 กลุ่ม ก็จะได้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนอำเภอๆ ละ 60 คน ประเทศไทยมี 928 อำเภอ ก็เท่ากับว่าจะได้ผู้สมัครส.ว. ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับอำเภอ 55,680 คน โดยคณะอนุกรรมการฯจะประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ได้รับเลือก ในระดับอำเภอไว้ที่ว่าการอำเภอให้ประชาชนตรวจสอบพร้อมส่งรายชื่อดังกล่าวให้กับกกต.จังหวัดซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการเลือกส.ว.ประจำจังหวัดนำเข้าสู่กระบวนการเลือกระดับจังหวัด การเลือกในระดับจังหวัดนั้นเมื่อนำ ผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับ อำเภอ 55,680 คน มาแยกเป็น 20 กลุ่มก็จะได้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับอำเภอกลุ่มละ 2,784 คน ไปลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ในกลุ่มอื่น 19 กลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มของตน โดยเลือกให้เหลือกลุ่มละ 3 คน เป็นผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัด ซึ่งทั้งประเทศมี 77 จังหวัด ดังนั้นใน 20 กลุ่ม ก็จะได้ผู้สมัคร ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนจังหวัดรวม 4,620 คน รายชื่อดังกล่าวจะถูกส่งให้กกต.กลางดำเนินการเลือกในระดับประเทศ

 

ซึ่งเมื่อแบ่งเป็น 20 กลุ่มก็จะมีผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับจังหวัดในแต่ละกลุ่ม 231 คน ไปลงคะแนนเลือกผู้สมัครใน กลุ่มอื่น 19 กลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มของตนให้เหลือ กลุ่มละ 10 คน เป็นผู้ได้รับเลือกในระดับประเทศจาก 20 กลุ่มรวม 200 คน ซึ่งหาก กกต.เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ไม่มีการคัดค้านก็จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกตามลำดับคะแนน 10 อันดับในแต่ละกลุ่ม 20 กลุ่มจำนวน 200 คน เป็นผู้ได้รับเลือก เป็นส.ว.

 

พร้อมจัดทำบัญชีสำรองของผู้ผ่านการคัดเลือกไว้บัญชีละ 10 รายชื่อ เผื่อกรณีที่สมาชิกภาพของส.ว.ในกลุ่มใดสิ้นสุดลงก่อนครบวาระ 5 ปี ก็จะไม่ต้องมีการเลือกใหม่ แต่ให้เลื่อนจากบัญชีสำรองในแต่ละกลุ่มได้เลย กำหนดโทษเหมือนส.ส.

 

ขณะที่การดำเนินการเกี่ยวกับกรณีมี การร้องเรียน การคัดค้านการทุจริตการเลือก ส.ว.หรือบทลงโทษนั้นส่วนใหญ่จะเหมือนกับที่บัญญัติในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีเพิ่มในส่วนผู้ใดกระทำการสนับสนุนให้บุคคลเข้าหรือไม่เข้ารับการสมัครเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนให้แก่ตนหรือ ผู้สมัครอื่นหรือลงสมัครเพื่อการเลือก โดยมีผลประโยชน์ตอบแทน

 

รวมทั้งกรรมการบริหาร ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง ส.ส. ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด กระทำการโดยวิธีใดที่เป็นการช่วยเหลือให้ผู้สมัครได้รับเลือกเป็นส.ว หรือ ผู้สมัครคนใดยินยอมให้บุคคลเหล่านี้ ช่วยเหลือเพื่อให้เป็นส.ว.

 

อีกทั้งผู้ใดกระทำการให้ สัญญาว่า จะให้จัดเลี้ยง ใช้อิทธิพล เพื่อจูงใจให้ ผู้มีสิทธิลงคะแนนๆ ให้แก่ตน หรืองดเว้น ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด ให้ถือว่ามีโทษ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่สองหมื่น -สองแสนบาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ย่างไรก็ตามผู้ได้รับเลือกเป็นส.ว.จำนวน 200 คนดังกล่าวบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 269 (ค) ได้บัญญัติให้คสช.เลือกผู้ที่ได้รับเลือกเป็นส.ว.จากบัญชีที่กกต.ส่งไปนี้ จำนวน 50 คน และคัดเลือกรายชื่อสำรองไว้อีกจำนวน 50 คน โดยให้นำจำนวนที่เลือกจากบัญชีที่กกต.ส่งไป 50 คนไปรวมกับที่คสช.คัดเลือก 194 คน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. อีก 6 คน รวมเป็น 250 คน ตามรัฐธรรมนูญกำหนด’ศุภชัย’ชี้เซ็ตซีโร่ต้องทุกองค์กรอิสระ

 

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวถึงข้อเสนอให้เซ็ตซีโร่กกต.ว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ทุกอย่างต้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกองค์กรอิสระด้วย ไม่ใช่จ้องแต่จะเล่นงาน กกต. อย่างเดียวก็อาจจะไม่ยุติธรรม แล้ว เช่น สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้เลยไม่ต้องไปถามรัฐบาล

 

ส่วนกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่น หนังสือผลตรวจสอบจริยธรรมนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามตินั้นประธานกกต.กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ให้สำนักงาน กกต. รวบรวมข้อมูลเพื่อส่งมาให้กกต. ซึ่งเราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย และต้องดูพยานหลักฐาน ส่วนที่ ผู้ตรวจฯบอกว่าเรามีการล่าช้านั้น เป็นเพราะประเด็นคำถามที่ถามมานั้นเป็นปัญหาส่วนตัวของนายธีรวัฒน์ 4 – 5 ข้อ ซึ่งตนก็ตอบกลับไปว่ามันเป็นปัญหาเรื่องส่วนตัวที่ไม่สามารถตอบได้ แต่ระหว่างที่นายธีรวัฒน์ ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ กกต. ก็ไม่มีข่าวอะไรในสิ่งที่กล่าวหากันปชป.พร้อมร่วมมือถกกม.ลูก

 

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความเห็นของประชาชน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองร่วมแสดงความคิดเห็นต่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องพรรคการเมือง และการเลือกตั้งส.ส. ว่า ในส่วนของพรรคเราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อให้กฎหมายที่จะออกมาเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชนมากที่สุด

 

ทั้งนี้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญที่ประชาชนจะช่วยกลั่นกรองบุคคลเข้าไปเป็นตัวแทนทำงานการเมืองบริหารประเทศ จึงอยากให้กรธ.เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งทางตรง ทางอ้อมในการแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมรูปแบบต่างๆ มากที่สุด เท่าที่จะทำได้