กรมศุลฯตั้งเป้า’ลดทุจริต’เพิ่มรายได้

หัวข้อข่าว กรมศุลฯตั้งเป้าลดทุจริตเพิ่มรายได้

ที่มา; กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 

เพิ่มประสิทธิภาพ 8 สินค้าเป้าหมายหวังปี 60 รายได้ 1.2 แสนล้าน

 

กรมศุลฯ กำหนดปีงบ 60 เป็นปีแห่งการปฏิรูป มอบนโยบายผู้บริหารและนายด่านศุลกากรทั่วประเทศเพิ่มประสิทธิภาพ จัดเก็บผ่านการอุดช่องโหว่รายได้และ ขจัดทุจริต ระบุ พร้อมออกคำสั่งย้ายใน 24  ชั่วโมงหากพบเจ้าหน้าที่ทุจริต

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ  อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยหลังมอบนโยบายการทำงานใน ปีงบประมาณ 2560  แก่ผู้บริหารระดับสูงและนายด่านศุลกากรทั่วประเทศวานนี้ (3 ต.ค.) ว่า ปีงบประมาณ 2560 ต้องการให้เป็นปีแห่งการปฏิรูป ทั้งในเรื่องของการจัดเก็บรายได้ที่ต้องปิดช่องโหว่การทุจริตและการอำนวยความสะดวกทางการค้า แก่ผู้ส่งออกและนำเข้า

 

ส่วนปีงบประมาณ 2559 เก็บรายได้ 1.11 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.9% ดังนั้น ในปีงบ 2560 จึงตั้งเป้าที่จะต้อง เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะ 5 ด่านศุลกากร ที่มีสัดส่วนเก็บรายได้ 92% ต้องเพิ่ม การจัดเก็บรายได้ ประกอบด้วย ด่านศุลกากรแหลมฉบัง ด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพฯ ด่านศุลกากรสำนักศุลกากรกรุงเทพฯ  ด่านศุลกากรลาดกระบัง และด่านศุลกากรสุวรรณภูมิ

 

สำหรับปีงบประมาณ 2560 กรมฯ ได้รับเป้ารายได้ที่ 1.2 แสนล้านบาท

 

ผมได้แจกเป้าหมายการจัดเก็บ รายได้ให้ทุกด่านช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดเก็บ และได้กำหนดรายการสินค้าที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บใน 8 ประเภท อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร เวชภัณฑ์ เหล็ก ผลิตภัณฑ์เหล็ก สินค้าเกษตร และพลาสติก  เป็นต้น”

 

ทั้งนี้ ตนจะติดตามการจัดเก็บรายได้ อย่างใกล้ชิด โดยให้มีการรายงานผลการจัดเก็บในทุกๆ 2 สัปดาห์ และจัดให้มี การประชุมด่านทั่วประเทศทุกเดือน  เพื่อดูว่า จัดเก็บเป็นอย่างไร มีจุดใดที่ยังรั่วไหลบ้าง

 

นอกจากนี้ จะจัดให้มีการพบปะกลุ่ม ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสินค้า ใน 8 ประเภทที่มียอดนำเข้าสูงสุด เพื่อชี้แจงและหารือแนวทางการชำระภาษีอย่างถูกต้อง แบ่งเป็น 3 ประเภท ประเภทแรกเป็น ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มูลค่าชำระภาษีตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ประเภทที่สอง ผู้ประกอบการที่มีมูลค่าชำระภาษี 50-500 ล้านบาท และ ประเภทที่มีความเสี่ยง ในการชำระภาษีอากร

 

กลุ่มที่มีประวัติการชำระภาษีดี เราก็จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออก และจะมีการสุ่มตรวจการชำระภาษี โดยกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีประมาณ 15-16 บริษัท ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง มีประมาณ 165 บริษัท ส่วนกลุ่มที่เสี่ยงนั้น  เราจะกำกับดูแลควบคุมดูประวัติการชำระ ภาษีอย่างเข้มงวดว่าถูกต้องหรือไม่ เบื้องต้น  เราพบว่า มีอยู่ราว 100 บริษัท”

 

เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ออกประกาศเกี่ยวกับจริยธรรมที่ดี ของผู้ประกอบการออกของหรือชิปปิ้ง หากพบ มีชิปปิ้งรายใดทำผิด อาทิ ปลอมแปลง เอกสาร สำแดงราคาเท็จ จะขึ้นบัญชีระงับการให้บริการ 30 วัน และหากยังพบ ทำผิดอีก จะเพิกถอนรายชื่อการเป็น ผู้ประกอบการชิปปิ้งกับกรมฯทันที

 

จำนวนชิปปิ้งที่ทำหน้าที่ออกของกับกรมฯขณะนี้ 1 หมื่นราย จำนวนนี้ มีเพียง 1 ใน 3 ที่ขึ้นทะเบียนเป็นชิปปิ้งกับสมาคม

 

ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ให้ความร่วมมือกระทำความผิดกับชิปปิ้ง กรมฯก็จะมีมาตรการเข้มงวดในการเข้าไปรับผิดชอบที่จะบังคับใช้ ไปถึงผู้บังคับบัญชา หากพบว่า มีเจ้าหน้าที่ร่วมกระทำความผิดกับชิปปิ้ง เราจะสั่งย้ายทันทีใน 24 ชั่วโมง ถ้าตรวจสอบภายหลังว่า ไม่ผิด เราก็จะคืนหน้าที่ให้ ถ้าตรวจสอบและพบว่าผิด จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพื่อชี้มูลความผิดต่อไป