หัวข้อข่าว: กลุ่มนายทุน-ผู้มีอิทธิพล’ ยะเยือก…! ป่าไม้ผนึกจิสด้า เช็กบิลเรียลไทม์ ทุก 3 เดือน
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559
ผ่านมา 3 ปีแล้วกับภารกิจอันหนักหน่วงทวงคืนผืนป่าจากกลุ่มนายทุน และผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศของบรรดาเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2559 มีผลสรุปการจับกุมดำเนินคดี 3,049 คดี ผู้ต้องหา 659 คน เนื้อที่ 103,124 ไร่ ประเมินความเสียหายมูลค่า 9,281 ล้านบาท หากรวมผลการดำเนินการทั้ง 3 ปี ตั้งแต่ 2557-2559 มีจำนวนถึง 9,679 คดี ผู้ต้องหา 2,337 คน เนื้อที่ทั้งหมด 326,131 ไร่ ถือเป็นผลงานน่าชื่นใจ เมื่อเทียบกับจำนวนบุคลากรที่มีอยู่น้อยนิด
เคลียร์รีสอร์ตฮุบป่า 1,958 แห่ง
ภารกิจครั้งนี้ สปอตไลต์ต่างจับจ้อง ไปที่แผนปฏิบัติการตรวจสอบบ้านพัก ตากอากาศ และรีสอร์ตในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ในช่วงแรกกรมป่าไม้ประกาศออกมาว่ามีจำนวนกว่า 900 แห่งเท่านั้น แต่ข้อมูลล่าสุดพบบ้านพักตากอากาศ/รีสอร์ตในเขตป่าสงวนแห่งชาติพุ่งไปถึง 1,958 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 1,025 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 400 แห่ง ภาคกลาง 229 แห่ง และภาคใต้ 304 แห่ง
ทั้ง 1,958 แห่งนั้น แยกเป็นตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว 476 แห่ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ยังมิได้แสดงเอกสาร 1,022 แห่ง และไม่พบผู้ครอบครองอีก 460 แห่ง ซึ่งกลุ่มสุดท้ายนี้จะให้เวลาถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2559 เพื่อแสดงตัว หากยัง ไม่มาจะเสนอให้กรมที่ดินดำเนินการตรวจสอบต่อไป
ในส่วนที่ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว 476 แห่ง ประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มไม่มีเอกสารการถือครอง ดำเนินคดีแล้ว 94 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ 26 แห่ง เชียงราย 3 แห่ง น่าน 1 แห่ง นครสวรรค์ 12 แห่ง สระบุรี 14 แห่ง เลย 2 แห่ง ขอนแก่น 2 แห่ง ราชบุรี 12 แห่ง เพชรบุรี 1 แห่ง พังงา 1 แห่ง ระยอง 10 แห่ง และสระแก้ว 2 แห่ง เป็นรีสอร์ต มีเอกสารสิทธิมิชอบ
2.กลุ่มมีเอกสารแต่อยู่ระหว่าง ตรวจสอบเพิ่มเติม 144 แห่ง แบ่งเป็นมีเอกสารสิทธิ 128 แห่งที่มองว่าถูกต้อง และเป็นพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ 16 แห่ง 3.กลุ่มมีเอกสารที่น่าจะมิชอบด้วยกฎหมาย114 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ตามมติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำนวน 112 แห่ง และเอกสารสิทธิทางที่ดิน 2 แห่ง และ 4.กลุ่มพื้นที่นอกความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ 124 แห่ง สำหรับกรณีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 1,022 แห่งนั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร 912 ราย และอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานอื่นตรวจสอบเอกสาร 110 ราย
การดำเนินการอย่างหนักต่อเนื่องใน 3 ปีที่ผ่านมานี้ สั่นสะเทือนนายทุนระดับ 10 ริกเตอร์ ! ไม่ว่าจะเป็นยุทธการ ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีการดำเนินคดี และรื้อถอนแล้วถึง 19 แห่ง ยุทธการอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ยุทธการเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยุทธการอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ยุทธการอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หรือหุบเขาไฮโซ และล่าสุดที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นต้น
หยุดการรุกป่า 33 ล้านไร่
“ชลธิศ สุรัสวดี” อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้ บริบทพื้นที่ป่า 70 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าในการดูแลของกรมป่าไม้ 33 ล้านไร่ วันนี้เรากำลังเดินตามกรอบทิศทางที่รัฐบาลกำหนด คือ หยุดการรุกป่า แก้ไขปัญหา ผู้ยากไร้ด้วยการจัดที่ดิน ซึ่งการใช้ประโยชน์ต้องโปร่งใสถูกต้อง โดยใน 33 ล้านไร่นี้ นอกจากจะลดการบุกรุกแล้ว ในปี 2560 ต้องไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่ม พร้อมทั้งนำคนที่ไม่มีสิทธิในที่ดินออกให้หมด และการดูแลผู้ยากไร้ จัดระเบียบสังคมให้ถูกต้อง
การดำเนินการครั้งนี้ คือ ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของกรมป่าไม้ ที่สะสางปัญหาที่สะสมมานาน โดยใช้คำว่าปฏิรูปการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด
พร้อมกันนี้ยังตอบรับหลักการ “ไทยแลนด์ 4.0” โดยเฉพาะการติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ ต้นปี 2560 กรมป่าไม้ได้จับมือ กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISDA) ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แม้บุกรุกเพียง 5-10 ไร่ก็จะสามารถรู้ได้เลย พร้อมกันนี้ก็ต้องเพิ่มเครือข่าย เช่น หน่วยน้ำผึ้งในการเจรจาประสานงาน กลุ่มเสนารักษ์พิทักษ์ป่า จะเข้ามามีส่วนร่วม ดูแลพื้นที่ป่า
“สิ่งที่เราทำขอใช้คำว่า เราแกะปมปัญหารีสอร์ตที่มีทั้งหมด ในอนาคตจะได้ไม่ต้องมาเถียงกันว่าใครสร้างก่อนหรือหลัง หรือเอกสารสิทธิออกชอบหรือไม่ชอบ วันนี้เราจะปูพรมทั้งหมดและบันทึกข้อมูลไว้ และแยกเป็นกลุ่มไปเข้าเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถหยุดยั้งพื้นที่ที่มีการบุกรุกได้ หรือหากมีการบุกรุกใหม่ ก็ดำเนินคดีโดยเฉียบขาด ไม่ปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อแล้วกลายเป็นปัญหาสังคมในภายหลัง และจะต้องไม่พูดได้ว่าเมื่อบุกรุกแล้ว ไม่เห็นมีใครว่าอะไรอย่างที่เคยเกิดขึ้น” อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว
บุกรุกใหม่ลดเหลือปีละ 30%
“อรรถพล เจริญชันษา” ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่า และควบคุมไฟป่า หัวหมู่ทะลวงฟันในภารกิจยึดคืนผืนป่า อธิบายว่า วัฏจักรการบุกรุกป่ามีหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่เข้าไปบุกรุก และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ จนถึงมีนายทุน/ผู้มีอิทธิพลเข้ามาครอบครอง และมีกระบวนการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบ ซึ่งวัฏจักร เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีราคาแพง ซึ่งก็คือโซนท่องเที่ยวทั้งหมด
ด้วยมูลค่าที่สูงลิบนี้เอง กลายเป็น อุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานของ เจ้าหน้าที่ “อรรถพล” บอกว่า ด้วยความที่กลุ่มอิทธิพลยังมีพลังในระดับพื้นที่ จึงต้องดึงเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้ามาช่วยเหลือ เพราะหน่วยงานเหล่านี้มีศักยภาพในการสอบสวนได้ดีกว่า และการผนึกกำลังระหว่าง 3 กรมหลัก คือ ทีมพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ทีมพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และทีมฉลามขาว กรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทหาร ตำรวจ กรมที่ดิน ได้เข้าดำเนินการในลักษณะหยุดยั้ง และเอาผิดกับผู้บุกรุก ก็จะทำให้คนในกระบวนการเหล่านี้เกิดความกลัว
“การเฝ้าระวังผืนป่า นับจากปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นไป จะต้องใช้นวัตกรรมมาช่วยทำงานเพื่อความรวดเร็ว คือ ต้องใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งคนที่เก่งที่สุดในประเทศไทยก็คือ จิสด้า ซึ่งเรามีการจัดสรรงบประมาณ 12 ล้านบาท มาให้จิสด้าประมวลผลข้อมูล แล้วก็รายงานให้เราทราบ ในลักษณะ เรียลไทม์ คือ ทุก ๆ 3 เดือน โดยแปรภาพส่งมาให้เรา ซึ่งจะทำให้รู้ได้เร็วขึ้น จากเดิมที่เร็วสุดต้องนั่งเฮลิคอปเตอร์บินดู”
ปฏิบัติการนี้จะหยุดยั้งการบุกรุกป่าได้มากน้อยเพียงใดนั้น หากให้ตอบ 100% ก็คงตอบยาก แต่สถิติพบว่าในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2551-2557 บุกรุกใหม่ปีละ 1 แสนไร่ แล้วเราสามารถดำเนินคดีได้ปีละแค่ 6 หมื่นไร่ แต่ช่วงหลังดำเนินคดีมากขึ้น แต่ว่าเป็นคดีเก่าที่เคยบุกรุกไว้ ส่วนที่บุกรุกใหม่ก็น้อยลงเหลือเพียงปีละ 30% ของการบุกรุกที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าน้อยลงมาก
ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของกรมป่าไม้ในการสางปัญหาที่ค้างคา จนได้รับสมญาว่าเป็น “รุ่นล้างท่อ” แต่จะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงใดนั้น ยังต้องตามติดอย่างไม่กะพริบตา