กลไกปราบโกงขยับต่อเนื่อง

หัวข้อข่าว: กลไกปราบโกงขยับต่อเนื่อง

ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

 

กลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่ขับเคลื่อนผ่านฝ่ายต่างๆ กำลังดำเนินไป อย่างเช่น ฝ่ายรัฐบาล คสช.ทางพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง

 

โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้มีการออกคำสั่งหัว หน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 59/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการ ถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 8 จำนวนทั้งสิ้น 72 ราย แยกเป็นกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มที่ 1 ข้าราชการพลเรือน (จำนวน 1 ราย) 1.นายสิทธิ พิพัฒน์ชัยกร ปลัด จ.หนองคาย อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย กลุ่มที่ 2 ข้าราชการตำรวจ (จำนวน 2 ราย) คือ 1.พ.ต.อ.ไพศาล ศักดิ์สุนทรศิริ 2.พ.ต.ต.โยธิน สีหาทิพย์

กลุ่มที่ 3 ผู้บริหารและผู้มีตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (จำนวน 7 ราย) ได้แก่ 1.นายศิริ มะลิลา ประธานสภาและสมาชิกสภา อบต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม 2.นายจรูญ มะลิปิไข ประธานสภาและสมาชิกสภา อบต.หนองจิก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม 3.นายสิทธิชัย โยปัดทุม ประธานสภาและสมาชิกสภา อบต.หนองกุง อ.แกดำ จ.มหาสารคาม 4.นายชัย เหล่าชัย นายก อบต.ศรีสุข อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 5.นายวีระศักดิ์ ทองสมบูรณ์ นายก อบต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม 6.นายมีศักดิ์ ชัยพิสุทธิ์สกุล นายกเทศมนตรีตำบลนาเชือก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม 7.นายสุริยันต์ ยิ่งบุรุษ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช (อีกตำแหน่งหนึ่ง) เป็นต้น

ส่วนฝ่ายกระบวนการยุติธรรม เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.74/2558 ในคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 16 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน

อันเป็นกรณีสืบเนื่องจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 28 พ.ค.58 ชี้มูลความผิด จากการไต่สวนกรณีการร่ำรวยผิดปกติของนายสมศักดิ์ ซึ่งจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ที่ไม่แสดงบ้านพักเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ที่ปลูกสร้าง เมื่อปี 2541 ช่วงที่นายสมศักดิ์ เป็น รมช.ศึกษาธิการ และก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2544 ในช่วงที่นายสมศักดิ์เป็น รมว.ศึกษาธิการ โดยใช้เงินค่าก่อสร้าง 16 ล้านบาท

โดยองค์คณะฯ พิจารณาพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า จำเลยไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินดังกล่าวได้ จึงมีมติเอกฉันท์ ให้บ้านพักเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ที่ปลูกสร้าง เมื่อปี 2541 มูลค่า 16 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน

และที่ต้องแจ้งข่าวกันก็คือ ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ จะมีการเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นเป็นวันแรกตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต หรือที่คนเรียกกันว่าศาลปราบโกง

โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ ดังกล่าวจะรับพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีลักษณะความผิดเช่น (1) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรือความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ

(2) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงิน หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจ การของรัฐ หรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการป้อง กันและปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ (3) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลให้ ความผิดเกี่ยวกับการเรียกรับ ยอมจะรับ หรือ ให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำใดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น เป็นต้น

เมื่อกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเดินหน้าไปเช่นนี้ ก็น่าเชื่อได้ว่า แม้จะไม่ได้ทำให้ปัญหาการทุจริตหายไป เพราะคงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็น่าจะทำให้คนที่คิดทุจริตมีความเกรงกลัวความผิด หากคิดโกงชาติขึ้นมาจนอาจไม่กล้าทำขึ้นมาบ้าง.