กองทุนปราบโกงเลือกตั้งแก้ปัญหาไม่ตรงจุด!

หัวข้อข่าว กองทุนปราบโกงเลือกตั้งแก้ปัญหาไม่ตรงจุด!  

ที่มา; กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559 

 

ดารากร วงศ์ประไพ

 

กองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปราม การทุจริตการเลือกตั้ง” เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่จะเสนอไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันศุกร์ที่ 30 ก.ย.นี้ สำหรับบทบาทและหน้าที่ของกองทุนดังกล่าว เพื่อเป็นกองทุนที่ใช้ปราบปรามการทุจริตเลือกตั้งโดยการจ่ายสินบนนำจับแก่ ผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตเลือกตั้ง

 

โดยโครงสร้างของกองทุนดังกล่าวนั้นประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารกองทุนรวม 10 คนโดยประธานกกต.เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย กกต.คนหนึ่ง ผู้แทนกระทรวงคลัง ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน การบริหารกองทุนภาครัฐหรือภาคเอกชน อย่างละ 1 คน และเลขาธิการกกต. เป็นกรรมการ  มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการ รับ-จ่ายเงิน เก็บรักษาเงิน ทรัพย์สินของ กองทุนเงินของกองทุนมาจาก 1.เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ 2. เงินอุดหนุนที่รัฐจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.เงินสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษ ผู้ที่กระทำความผิดต้องจ่ายตามพ.ร.บ. เลือกตั้งส.ส. 4.เงินหรือทรัพย์สินที่มี ผู้บริจาคหรืออุทิศให้ 5.ดอกผลและ ผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน 6.เงินที่ ได้รับจากแสดงเจตนาในแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 100 บาท7 .เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำ ผิดในคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 8.เงินค่าปรับที่ได้จากการลงโทษทางอาญาแก่ ผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส. การได้มา ซึ่งส.ว. การออกเสียงประชามติ และเลือกตั้ง ท้องถิ่น 9.เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็น ของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมายอื่น การจ่ายสินบนจ่ายให้กับ ผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตเลือกตั้ง ถ้าเป็นเลือกตั้งส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น จำนวนตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท สมาชิกสภาท้องถิ่น 30,000-80,000 บาท ต่อประเด็นนี้มีความเห็นจากอดีตกกต. “สดศรี สัตยธรรม” ที่มองว่า เชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวกกต.ไปอิงกับหลักกับการให้สินบนนำจับในคดีการพนันซึ่งเป็นคดีอาญา แต่สำหรับการให้สินบนนำจับคดีเลือกตั้งนั้นถือเป็นคดีทางการเมืองซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ยากเพราะ ในเรื่องของการเมืองนั้นมีทั้ง ผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จึงมี ความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การสร้างหลักฐานเท็จเพื่อนำไปสู่การรับสินบนเหล่านี้

 

อีกทั้งมองว่า เรื่องการต่อสู้ทางการเมืองถือเป็นเรื่องที่สำคัญผู้ที่ได้ประโยชน์ ก็อาจจะสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาได้ จึงเห็นว่าเงินจำนวนนี้จึงไม่ควรนำมาใช้กิจการที่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง เรื่องของการเมือง ควรต้องให้การเมืองเขาว่ากันเอง เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินภาษีของประชาชนขอถามว่า สมควรหรือไม่ที่จะนำเงินดังกล่าวมาใช้ ในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์  ทั้งนี้ส่วนตัวมีข้อเสนอว่าแทนที่จะให้สินบนนำจับแก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสเป็นจำนวนมาก เราควรที่จะให้ความสำคัญกับผู้ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยให้สิทธิประโยชน์กับคนเหล่านั้นจะดีกว่า

 

คำถามที่ว่า ในทางปฏิบัติแนวคิดนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อดีตกกต.ผู้นี้มองว่า มีความเป็นไปได้แต่ก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้คดีทางการเมืองเป็นเสมือนคดีที่เป็นคดีอาญาแผ่นดิน การให้สินบนนำจับในลักษณะดังกล่าวจึงเป็น การใช้เงินที่ผิดวัตถุประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างการให้สินบนในคดีการพนันที่ก็ไม่ได้ทำให้การพนันลดลงแต่ยิ่งทำให้เพิ่มขึ้นและใช้วิธีที่หลบซ่อนมากขึ้น

 

จึงเห็นว่าประเด็นนี้น่าจะแยกออก จากกัน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้การเมืองดีขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงควรให้สิทธิประโยชน์กับประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิจะดีกว่า หากเป็นเช่นนั้นการซื้อสิทธิก็จะลดลง”  ส่วนประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาการ ซื้อสิทธิขายเสียงนั้นควรเพิ่มกระบวนการตรวจสอบให้มากกว่าเดิมคือจะต้องผ่านศาลทั้ง 3 ศาล หรือในอนาคตอาจจะมีศาลทุจริตเลือกตั้งไม่ใช้ให้กระบวนการไปจบแค่ ที่กกต.เหมือนที่ผ่านมา  ถ้าผิดก็ควรที่จะมีบทลงโทษให้หนัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกระบวนการต่างๆก็ต้องทำด้วยความรวดเร็ว และ มีบทลงโทษที่หนักหากพบความผิดที่ชัดเจนเพราะได้ผ่านกระบวนการไต่สวนมาถึง 3 ศาลแล้ว เช่นเดียวกับความเห็นในมุมของ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ(สนช.) อย่าง นายทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และยังเป็นอนุกรรมาธิการระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง สนช.ที่มองว่า มองว่า แนวคิดดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะ และน่าจะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะให้รัฐเข้ามาดูแลทั้งที่แต่ก่อนเราให้ภาคประชาสังคมในการช่วยสอดส่องดูแล

 

ดังนั้นจึงมองว่าการใช้อำนาจรัฐเข้ามา ดูแลจึงเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการที่เป็นประชาธิปไตย ในทางปฏิบัติแนวคิดนี้อาจจะมี ความเป็นไปได้โดยการเพิ่มแรงจูงใจการเขียน กฎหมายโดยให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ขณะเดียวกันก็จะเป็นการประจานว่า เจ้าหน้าที่รัฐอย่างกกต.อ่อนแอและ ถือเป็นการดูถูกประชาชน

 

จึงมองว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล และเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ส่วนตัวมองว่าการแก้ปัญหาการทุจริตเลือกตั้งควร ที่จะเพิ่มอำนาจให้ประชาชน เมื่อก่อนเรามีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่นี้ แต่เราได้รับ คำชี้แจงจากกกต.ว่าองค์กรดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพ

 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงขอเสนอว่าเราควรที่จะใช้องค์กรที่ทำหน้าที่นี้ที่มีอยู่เดิม แต่ควรเพิ่มประสิทธิภาพเหล่านั้นโดยเพิ่มบทบาทในภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น แทนการเพิ่มอำนาจให้กับกกต.”