ขวางรัฐซื้อประกันเอกชนแนะใช้บริการรายหัวบัตรทองให้ขรก.

หัวข้อข่าว ขวางรัฐซื้อประกันเอกชนแนะใช้บริการรายหัวบัตรทองให้ขรก.  

ที่มา; ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559 

 

กรุงเทพฯ * เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ขวางสุดเหวี่ยงรัฐซื้อสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจากบริษัทเอกชน ยกเหตุผลไม่คุ้มค่า แนะให้มาจ่ายค่ารายหัวใช้บริการบัตรทองแทน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิกการนำเงิน 60,000 ล้านบาท ไปซื้อประกันสุขภาพของข้าราชการ และยกเลิกการใช้เงิน 800 ล้านบาท ซื้อประกันอุบัติเหตุให้ประชาชน 8 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนคนจน โดยยกเหตุผลว่ากรณีการซื้อประกันสุขภาพของข้าราชการจำนวน 60,000 ล้านบาทจากภาคเอกชน อาจจะเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องและขัดแย้งกับมาตรา 9 และมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และขัดหลักการสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนในการจัดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ระบบประกันสุขภาพภาคเอกชนมีข้อจำกัด มีเงื่อนไขในการใช้บริการ อาจจะส่งผลกระทบต่อสวัสดิการข้าราชการที่เคยได้รับ

 

โดยรัฐบาลควรใช้บทเรียนการจัดสวัสดิการข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่พบปัญหาการใช้งบประมาณสูงต่อเนื่องทุกปี เช่นเดียวกับระบบสวัสดิการข้าราชการ หลังจากกระทรวงมหาดไทยได้แก้ปัญหาโดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับจัดบริการให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทำให้ปัจจุบันข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าเดิมและไม่น้อยกว่าสวัสดิการข้าราชการ และใช้งบประมาณเพียง 7,000 บาทต่อคนต่อปี โดยที่ระบบสวัสดิการข้าราชการใช้เงินมากกว่า 12,000 บาทต่อคนต่อปี หรือหากให้บริษัทประกันชีวิตภาคเอกชนดำเนินการระบบสุขภาพของข้าราชการไม่ควรใช้งบประมาณเกิน 7,000 บาทต่อคนต่อปี เช่นเดียวกับศักยภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

กลุ่มคัดค้านอ้างอีกว่า การดำเนินการของรัฐบาลครั้งนี้ส่งผลต่อบริการของโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เนื่องจากการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการ โดยส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่ให้โดยตรงกับโรงพยาบาลรัฐในระดับต่างๆ แต่หากจัดซื้อประกันสุขภาพภาคเอกชน ย่อมทำให้งบประมาณส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน ย่อมส่งผลต่อฐานะทางการเงินของโรงพยาบาลรัฐแน่นอน

 

แม้กระทรวงการคลังจะใช้มาตรการนี้เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันการช็อปปิ้งยา ซึ่งเป็นปัญหาปัจเจกบุคคล แต่การใช้มาตรการนี้ไม่มีหลักประกันว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ แต่ส่งผลกระทบต่อการรับบริการของข้าราชการและครอบครัวอย่างชัดเจน”

 

ส่วนกรณีการใช้เงิน 800 ล้านบาท ซื้อประกันชีวิต อุบัติเหตุให้ประชาชน 8 ล้านคน กลุ่มคัดค้านฯ เห็นว่าไม่คุ้มค่า เพราะการทำประกันชีวิต 99 บาท ให้การคุ้มครองน้อยกว่ากฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีเพียงการคุ้มครองเสียชีวิต 50,000-60,000 บาทในกรณีเสียชีวิต และจ่ายชดเชย 300 บาทต่อวัน ขณะที่การคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจ่ายตามจริงไม่เกิน 80,000 บาท การชดเชยรายวัน ไม่เกิน 4,000 บาท (จำนวน 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน) ชดเชยการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจ่าย 300,000 บาทแก่ทายาท สูญเสียอวัยวะ 200,000-300,000 บาท

 

นอกจากนี้ ปัญหาการทำประกันภาคบังคับ กรณี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พบปัญหาอัตราการใช้สิทธิจากอุบัติเหตุต่ำมากไม่ถึง 50% ปัญหาการจ่ายเงินเพื่อการบริหารจัดการสูงถึงร้อยละ 52 หรือประมาณ 4,785 ล้านบาท ขณะที่ใช้งบประมาณในการจ่ายสินไหมทดแทนประมาณ 4,534 ล้านบาท หรือ 48% เท่านั้น จึงขอให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาและยุติการดำเนินการดังกล่าว เพราะขัดต่อกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และขอให้เร่งรัดการดำเนินการให้การใช้งบประมาณทั้งหมดราว 260,000 ล้านบาท พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ.