หัวข้อข่าว: คลอดก.ม.ลูกจัดซื้อจัดจ้างลดคอร์รัปชัน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
“บัญชีกลาง” เร่งคลอดกฎหมายลูก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ หวังทุกหน่วยงาน ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน สำหรับร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อ จัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. ว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2559
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดี กรมบัญชีกลาง เปิดเผยความคืบหน้า ดังกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอประกาศใช้ อย่างเป็นทางการ และกรมบัญชีกลาง ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อเร่งจัดทำกฎหมายลูกให้สอดคล้องครอบคลุมเนื้อหาในแต่ละมาตราของร่าง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้แล้วเสร็จทันภายใน 180 วัน นับแต่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดจะมีผลใช้บังคับประมาณเดือนส.ค. 2560
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุ ภาครัฐมีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มุ่งเน้นเปิดเผยข้อมูล ที่มีความโปร่งใส และเกิดการแข่งขัน อย่างเป็นธรรม เกิดความคุ้มค่าในการ ใช้จ่ายเงิน เน้นการวางแผนและประเมินผล ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ที่สำคัญช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับ ทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้นำข้อตกลงคุณธรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง โดยเน้นข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการ ผู้เสนอราคา และผู้สังเกตการณ์ โดยผู้สังเกตการณ์ ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีความเป็นกลาง และ ไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการนั้นๆ ซึ่งการเข้าร่วมสังเกตการณ์ จะเข้าร่วม ตั้งแต่เริ่มจัดทำร่าง TOR จนถึงสิ้นสุดโครงการ และประชาชนทั่วไปยังสามารถติดตามตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ได้จากเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th อีกช่องทางหนึ่งด้วย
การจัดซื้อจัดจ้างร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีเพียง 3 วิธี คือ 1. วิธีประกาศเชิญชวน ทั่วไป โดยการให้ผู้ประกอบการทั่วไป ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดเข้ายื่นข้อเสนอ 2. วิธีคัดเลือก เข้าร่วมได้เฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรง ตามที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้เข้ายื่นข้อเสนอได้ เว้นแต่ผู้ประกอบการ ที่มีคุณสมบัติตรงตามกำหนดน้อยกว่า 3 ราย และ 3. วิธีเฉพาะเจาะจง หน่วยงานภาครัฐเชิญผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติ ตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่ง ให้เข้า ยื่นข้อเสนอหรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคากับหน่วยงานของรัฐโดยตรง
ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญ การลงโทษผู้กระทำความผิด โดยกำหนดบทลงโทษทางอาญากับผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ และเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“กรมบัญชีกลาง เร่งจัดทำกฎหมายลูกให้สอดคล้องครอบคลุมเนื้อหา เพื่อให้แล้วเสร็จทันภายใน 180 วัน และเตรียมชี้แจงทำความเข้าใจ เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นมาตรฐาน เดียวกัน กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าสูงสุด กับภาครัฐ”