คลังเข้ม’ทุจริต-หักหัวคิว’จ่ายเงินค่าข้าวชาวนา

หัวข้อข่าว: คลังเข้ม’ทุจริต-หักหัวคิวจ่ายเงินค่าข้าวชาวนา

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

 

คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มี นายอภิศักดิ์  ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เรียกประชุมวานนี้ (2 พ.ย.) เพื่ออนุมัติให้ธนาคาร ดำเนินมาตรการช่วยเหลือชาวนาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย รมว.คลังมั่นใจว่าโอกาสที่ ธ.ก.ส.จะเสียหายจากโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวมีน้อย

 

ในการประชุมคณะกรรมการ ได้พิจารณาอนุมัติให้ธนาคารดำเนินการช่วยเหลือ ชาวนาตามมติคณะรัฐมนตรี โดยทำ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวตันละ 9,500 บาท และการให้เงินช่วยเหลือในการปรับปรุงคุณภาพข้าวตันละ 2,000 บาท สูงสุด และเงินช่วยเหลือเป็นค่าเก็บยุ้งฉางอีกตันละ 1,500 บาท รวมเป็นตันละ 13,000 บาท

 

การทำโครงการดังกล่าว อยู่ในวิสัย ที่ธนาคารบริหารจัดการได้  มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากราคาข้าวในตลาดตกต่ำกว่าราคาต้นทุนการให้สินเชื่อของ ธ.ก.ส. จนทำให้ชาวนาไม่มาไถ่ถอนข้าวมีน้อยมาก เนื่องจากเป็นไปได้ยากที่ราคาตลาดโลกจะลดลงจนบีบให้ราคาข้าวตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

 

อย่างไรก็ตาม หากราคาในตลาดโลกตกต่ำจนเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจริงๆ  ธ.ก.ส.ก็สามารถที่จะแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวถุงแล้วขายเองได้  ซึ่งเชื่อว่าจะมีคนที่มีน้ำใจช่วยซื้อไม่น้อย แต่ต้องเป็นการขายตรง ไม่ผ่านคนกลาง  ดีกว่าไปซื้อข้าวในตลาดที่มีราคาสูงกว่า

 

“หัวใจสำคัญในการช่วยเหลือชาวนา คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการทุจริต ทำให้เงินที่ช่วยออกไปถึงมือชาวนาโดยตรง เพราะเมื่อสองวันก่อนมีข่าวการรั่วไหล ของการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท โดยชาวนาในพื้นที่ดังเคยทำนา 10 ไร่ เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำนาแล้ว ก็ยังได้รับเงินจำนวน 1 หมื่นบาท โดยถูกหัก หัวคิวไป 7,000 บาท และชาวนาได้รับ 3,000 บาท เรื่องนี้ก็ต้องจัดการ เรา พยายามช่วยเหลือคนยากจนแต่ก็ยังมี พวกเหลือบไรมาเอาประโยชน์ จึงต้องจัดการในเรื่องนี้”

 

รายงานข่าวจาก ธ.ก.ส.แจ้งว่า  สำหรับขั้นตอนการดำเนินการจ่ายเงินสินเชื่อ ช่วยเหลือชาวนานั้นหลังจาก ครม.มีมติอนุมัติให้ธนาคารดำเนินการเมื่อวันที่  1 พ.ย. และบอร์ดธ.ก.ส.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา  ธนาคารจะออกคำชี้แจงเพื่อซักซ้อม การทำงานและประชาสัมพันธ์โครงการ ให้กับเกษตรกรรับทราบ

 

ขณะที่ ทางสาขาของธนาคารทั่วประเทศก็จะมีการประชุมซักซ้อมการทำงาน ร่วมกับ ชาวบ้านและเกษตรกร

 

โดยหลังจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะต้องมีการแจ้งความประสงค์ว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่หากเข้าร่วมโครงการก็จะต้องเข้ามาทำสัญญาและธนาคารก็จะจ่ายเงินกู้เข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง

 

รัฐให้เงินช่วยชาวนาแล้ว 5.6 หมื่นล้าน

 

ทั้งนี้การช่วยเหลือชาวนาล่าสุด เมื่อรวมกับมาตรการก่อนหน้า ทำให้รัฐบาลมีการช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบของเงินให้เปล่ารวมเป็นวงเงิน  56,000 ล้านบาท  ซึ่งวงเงินนี้ธนาคารจะสำรองจ่ายแทนรัฐบาลรัฐบาลจะจัดสรรวงเงินงบประมาณมาชำระคืนในปีงบประมาณ 2561 พร้อมชดเชยต้นทุนการเงินให้ในอัตราประมาณ 2.5%

 

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกทั้งสินเชื่อชะลอการขายข้าว สินเชื่อเพื่อรวบรวมและแปรรูปข้าว และสินเชื่อโครงการนาแปลงใหญ่รวมเป็นวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 37,630 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังมีอีกสองโครงการเพื่อช่วยเหลือการลดต้นทุนการเงินให้กับเกษตรกรประกอบด้วย 1.ลดดอกเบี้ย 3% สำหรับชาวนาที่ขอสินเชื่อนาข้าวในปีนี้ มีเกษตรกรที่ได้ประโยชน์ประมาณ 2 ล้านรายสามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยได้ประมาณ 900 ล้านบาท

 

2.โครงการดูแลหนี้สินให้กับเกษตรกรที่ลำบากโดยพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 2 ปี พร้อมกับลดดอกเบี้ยให้ 3% มีชาวนาที่ได้ประโยชน์ประมาณ 1.4 ล้าน ช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้ประมาณ 2,700  ล้านบาทต่อปีหรือประมาณ 5,400 ล้านบาท ในช่วง 2 ปี

 

ธกส.ชี้ 5 วันเงินถึงมือชาวนา

 

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือชาวนาที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ วานนี้แล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ จะเข้ากระบวนการจำนำ รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพข้าว เพื่อให้ได้มาตรฐานก่อนนำข้าวไปเก็บที่ ยุ้งฉางได้ หลังจากเก็บแล้วจะมีกระบวนการสอบซึ่ง ธ.ก.ส.พร้อมจะจ่ายเงินถึงมือเกษตรกรภายใน 5 วัน หลังจากนำข้าวเข้าสู่ ยุ่งฉางแล้วโดยเป็นการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง

 

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามีโครงการจำนำยุ้งฉาง ตั้งเป้า 2 ล้านตัน  แต่มีข้าวเข้าร่วมโครงการเพียง 5 แสนตัน เนื่องจากราคา ข้าวในปีที่ผ่านมาไม่ได้ต่ำเหมือนปีนี้ แต่ในปีนี้ คาดว่าปริมาณข้าวเข้าร่วมโครงการน่าจะสูงเนื่องจากข้าวราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมามาก

 

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติและกรรมการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ระดับราคาจำนำยุ้งฉางที่เพิ่มขึ้นจาก 9,700 บาทต่อตัน  ทำให้ชาวนาได้รับเงินเพิ่มขึ้นเป็น 13,000 บาทต่อตันนั้น เป็นราคาที่ชาวนาพอใจ

 

มีความเป็นห่วงกรณีที่รัฐบาลให้ ธ.ก.ส.รับผิดชอบความเสียหายจากการขายข้าวในยุ้งฉางเอง  ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อ่อนไหวมาก เพราะถ้าราคาจำนำสูง ธ.ก.ส. ต้องรับ ความเสี่ยงมาก อาจจะทำให้เกิดปัญหาไม่เต็มใจในการดำเนินโครงการนี้

 

อยากเสนอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น  รวมทั้งเสนอให้ใช้พื้นที่ยุ้งฉางของสหกรณ์ทั่วประเทศในการรับจำนำดังกล่าว  เพื่อให้ปริมาณข้าวเข้าโครงการถึง 2 ล้านตัน ตามเป้าหมายที่วางไว้ ตนในฐานะกรรมการ  ธ.ก.ส.จะเสนอบอร์ดในเรื่องดังกล่าวด้วย

 

นอกจากนี้ เสนอให้เร่งระบายข้าวในโกดังของรัฐบาลโดยให้นายกรัฐมนตรี  เชิญผู้ส่งออก  กระทรวงพาณิชย์มาหารือ เพื่อเปิดตลาดใหม่  เพราะถ้าใช้แบบปกติการระบายข้าวทำได้น้อยมาก  ถ้าไม่เร่งระบายข้าวในสต็อกออกมา จะมีแรงกดดันด้านจิตวิทยาต่อราคาข้าวเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. และสภาเกษตรกร แห่งชาติได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรองค์กรและสถาบันของเกษตรกร โดยเฉพาะ การพักดันให้เกิดเอสเอ็มอีเกษตใหม่ใน 3 พันตำบล ทำให้เกิดจำนวนผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีระดับตำบล 4.5-6 หมื่นราย ภายใน 3  ปีข้างหน้า

 

“หัวใจสำคัญการช่วยเหลือชาวนา คือ หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการทุจริต เงินที่ช่วยออกไปถึงมือชาวนาโดยตรง” อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์