หัวข้อข่าว: ความรู้ท่วมหัว ต้องเอาตัวเอง(และบ้านเมือง)ให้รอดด้วย
ที่มา: คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน, คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
ต่อภัสสร์: สวัสดีครับ สัปดาห์นี้ผมมีเรื่องใหม่ๆ อยากจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการฝึกตัวเองให้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องเสมอในสถานการณ์ต่างๆ
ลองนึกถึงเรื่องใกล้ตัวดูนะครับ เวลามีเพื่อนมาปรึกษาปัญหากับเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทำงานหรือปัญหาชีวิต เราจะกลายร่างเป็นที่ปรึกษาชั้นเลิศ สามารถวิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหาได้เป็นฉากๆ และให้คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์นั้น เช่น ถ้าเพื่อนมาเล่าว่าแฟนไปมีกิ๊ก เราก็มักจะแนะนำให้เลิกไปเลย สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นจริงคือ เพื่อนมันก็จะไปบอกเลิกกับแฟน แต่ผ่านไป 2-3 วันก็จะเดินควงกันกลับมาใหม่ แต่อีกไม่นานพอกลับมาสู่วงจรอุบาทว์อีกรอบ เมื่อเพื่อนมาร้องไห้ เราก็จะบอกไปว่า “เห็นมั้ย เตือนแล้วไม่ฟังเอง”
แต่เมื่อไหร่ที่เรื่องแบบนี้เกิดกับเราเอง เราจะกลายเป็นไร้เหตุผลขึ้นมาในทันที หาเหตุผลร้อยพันมาอธิบายว่าทำไมจึงควรจะให้อภัย แฟนเรานั้นดีแสนดี เดี๋ยวก็กลับตัวได้ สุดท้ายเรื่องก็มักจะจบเหมือนกับกรณีเพื่อนข้างบนเลย แล้วเพื่อนคนเดิมที่เราเคยตักเตือนไป ก็จะกลับมาบอกประโยคเดิมนั้นกับเรา
จริงๆ แล้วเรื่องแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับเรื่องชีวิตความรักหนุ่มสาวเท่านั้น ในโลกธุรกิจก็เป็นปัญหาใหญ่มหาศาลเลยทีเดียว ตอนยังไม่เกิดเรื่องอะไร ผู้บริหารทั้งหลายก็มักผยองว่าตัวเองนี่เก่งนัก ใครมาขอคำปรึกษาอะไรก็แนะนำได้อย่างละเอียด บางคนถึงกับเขียนหนังสือแนะนำให้นักธุรกิจคนอื่นๆ อ่านเพื่อทำตามเลยทีเดียว แต่พอถึงเวลาปฏิบัติจริงๆ ทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาก็มักจะไม่ได้ช่วยให้ตัดสินใจได้ถูกต้องเสมอไป
คนเรามักมองว่าตัวเองเป็นคนดี ไม่ค่อยมีใครหรอกที่บอกว่าตัวเองนั้นชั่วร้ายมาตั้งแต่เกิด เพียงแต่สิ่งชั่วร้ายที่ตนเคยทำไปนั้นเพราะมีเหตุจำเป็น หรือทำไปเพื่อสร้างโอกาสให้ได้ทำดีที่ยิ่งใหญ่กว่าความเลวร้ายนั้นต่อไปในอนาคตผมเชื่อว่าผู้อ่านคอลัมน์นี้แทบทุกคนเกลียดการโกง แต่ลองถามตัวท่านเองและตอบในใจด้วยความสัตย์จริงว่าท่านเคยทำผิดกฎระเบียบโดยตั้งใจหรือไม่ เคยขับรถฝ่าไฟแดงเพราะรถมันติดเหลือเกิน ขอผ่านไปแค่คันเดียวนะ หรือเคยแอบเดินลัดสนามที่ห้ามผ่านเพราะ “คนอื่นๆ เขาก็ทำกัน”บ้างหรือเปล่า หากท่านตอบว่า เคย ก็อย่าโทษตัวเองนะครับ เพราะนี่คือสิ่งที่คนทั่วไปก็เป็นกัน เรามักจะมีข้ออ้าง มีเหตุผลสนับสนุนการกระทำที่ไม่ถูกต้องของเราเสมอ
แต่ถ้าความผิดนั้นมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เราจะยังมีข้ออ้างให้ตัวเองได้หรือไม่ คำตอบคือ มีเสมอครับ ตั้งแต่เดินลัดสนามจนคอร์รัปชันเลย ลองคิดดู ข้าราชการทุจริตที่เรามองว่าเป็นคนชั่วร้ายมาก ที่จริงเขาอาจทำไปเพราะลูกนอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล แล้วเขาไม่มีเงินไปจ่ายค่าผ่าตัดก็ได้ บางคนรู้ทั้งรู้ว่ากำลังโกงกินบ้านเมืองอยู่ก็ยอมทำ แถมบอกว่าถึงนรกมีจริงก็ยอมตกนรก ขอเพียงให้ครอบครัวมีกินมีใช้ก็พอ ทุกคนมีเหตุผลของตัวเองครับดังนั้นเลยกล่าวได้ว่า เรื่องทฤษฎีความดีนี่ ทุกคนมีความรู้แน่นปึ้ก แต่พอถึงการปฏิบัติจริงมักจะล้มเหลวไม่เป็นท่าทั้งนั้น ใครสนใจเรื่องนี้สามารถไปหาอ่านต่อได้ในหนังสือชื่อThe Blind Spots:Why we fail to do what’s right and what to do about it. โดย Max Bazerman และ Ann Tenbrunsel ได้ครับ ผมเองได้รับอนุเคราะห์หนังสือเล่มนี้มาจาก นพ.ม.ล.ทยา กิติยากร รุ่นพี่นักอ่านและนักกิจกรรมเพื่อสังคมตัวยง
ต่อตระกูล: ถ้าเรารู้ตัวแล้วว่า เราเป็นพวกนักทฤษฎี ที่มักสอบตกภาคปฏิบัติ เราจะเตรียมตัวอย่างไรให้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องในสถานการณ์จริง
ต่อภัสสร์ : ผมเองในฐานะนักทฤษฎี เวลาสอนวิชาเรื่องธรรมาภิบาลให้กับนักศึกษาก็มักจะเน้นทฤษฎีว่า ผลกระทบของการไร้ธรรมาภิบาลและการมีคอร์รัปชันอยู่ในระดับสูงนั้น มันแย่ต่อการพัฒนาประเทศมากเพียงใด เช่น การเพิ่มของอัตราการคอร์รัปชัน (CPI) เพียง 1 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน จะทำให้อัตราการเติบโตของรายได้คนจนลดลงถึง 4.7% และเล่ากรณีศึกษาต่างๆ ว่าคนอื่นๆ เขาได้รับผลกระทบจากการคอร์รัปชันกันอย่างไรบ้าง แต่สิ่งที่หลักสูตรของผมขาดไปก็การดึงผลกระทบนี้เข้าไปสู่ตัวของนักศึกษาเองจริงๆ เพื่อให้เขาสามารถนำทฤษฎีที่มีอยู่เต็มหัวไปใช้จริงได้
ต่อตระกูล: ใช่เลย ปัญหาคือจะยกสถานการณ์อะไรที่ใกล้ตัวเขา ให้เขาต้องตัดสินใจ และใช้หลักอะไรในการตัดสินว่าสิ่งที่จะทำนั้นมันเป็นการประพฤติผิดหรือถูก
ต่อภัสสร์: ผมได้คำตอบเมื่อมาพบกับอาจารย์นิกม์ พิศลยบุตรผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการความยั่งยืน สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้แนะนำให้รู้จักกับแนวความคิดและหลักสูตร Giving Voice to Values (GVV) หรือ การให้เสียงหรือความสำคัญกับคุณค่าที่เรามีและยึดถือ พัฒนาโดย Dr.Mary Gentile แห่ง Babson College สหรัฐอเมริกา
แนวความคิดและหลักสูตรนี้มีหลักการง่ายๆ คือ ทำอย่างไรให้เราสามารถนำคุณค่าที่เรามีอยู่ในตัวเรานั้นมาใช้เพื่อการตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ โดยมุ่งเป้าการวิเคราะห์และศึกษาที่ตัวเราเอง โดยคำว่า คุณค่าในมุมมองของ GVV คือ คุณค่าที่ออกมาจากความปรารถนาของเราจริงๆ ที่มีจริยธรรมและศีลธรรมอยู่ด้วย คุณค่าเหล่านี้ก็เช่น ความซื่อสัตย์ ความเคารพ ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม และความเห็นอกเห็นใจ
ผมเชิญอาจารย์นิกม์มาสอนในวิชาสังคมและธรรมาภิบาลที่ผมเป็นอาจารย์สอนที่คณะโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะอยากเห็นว่า จะนำทฤษฎีในหัวไปปฏิบัติจริงในสถานการณ์ที่ยากลำบากในการตัดสินใจอย่างไร หลักสูตรนี้เป็นการมุ่งศึกษาตัวเองจริงๆ โดยให้ตอบคำถามต่างๆ ที่มุ่งไปสู่คุณค่าที่เรามีและยึดถืออยู่ และสร้างความเข้าใจว่าสถานการณ์ของการขัดกันระหว่างคุณค่านี้กับทางเลือกในบทบาทปัจจุบันของเราเกิดขึ้นได้เสมอ จึงควรเตรียมตัวไว้ให้พร้อม
โดยวิธีเตรียมตัวคือ การจำลองสถานการณ์ผ่านกรณีศึกษาต่างๆ เพื่อประเมินดูว่า เราจะปฏิบัติตัวอย่างไรโดยต้องไม่หลอกตัวเอง ในสถานการณ์จำลองต่างๆ นั้น จะมีกรอบความคิดแนบมาให้ว่าควรคิดอย่างไรภายใต้สถานการณ์แบบนี้ เช่น ถ้ามีเพื่อนสนิทมาขอลอกข้อสอบ เราอาจจะเจอความขัดกันของคุณค่าที่เรายึดถือ 2 คุณค่าพร้อมๆ กันคือ ความซื่อสัตย์ และความรักที่มีต่อเพื่อน แบบนี้ก็จะทำให้ตัดสินใจลำบาก เพราะเลือกทางไหนก็เหมือนจะเป็นทางที่ถูกไปหมด เราจึงต้องปรับมุมคิดว่าที่เพื่อนสนิทเรามาขอลอกข้อสอบ เขาได้ทำลายความรักที่มีต่อเราไปแล้ว เมื่อคิดแบบนี้ได้ก็เปลี่ยนตัวเลือกเป็นความซื่อสัตย์กับการทุจริต แบบนี้ก็ตัดสินใจเลือกทางที่ถูกต้องได้ง่าย
นอกจากนี้ยังมีมุมมองเรื่องการคิดระยะยาวกับการคิดระยะสั้นอีกที่เป็นกรอบความคิดที่สำคัญในการเปลี่ยนมุมมอง แนวความคิดนี้น่าสนใจมากๆต่อการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาเรามีแต่เผยแพร่และสั่งสอนประชาชนว่าคอร์รัปชันเป็นสิ่งไม่ดี สังคมจะล่มจม ซึ่งทุกคนก็รู้ดีอยู่เต็มอก แต่พอถึงสถานการณ์จริง ก็หาข้ออ้างร้อยแปดเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิด หากวันหนึ่งคนส่วนมากในสังคมสามารถตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องตามคุณค่าที่ยึดถือที่มีจริยธรรมและศีลธรรมอยู่ด้วยได้จริงแล้ว สังคมไทยก็คงจะพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วทีเดียวเลยครับ
ใครสนใจศึกษาต่อเรื่องนี้สามารถอ่านได้จากหนังสือ Giving Voice to Values: How to speak your mind when you know what’s right โดย Dr.Mary Gentile ครับ