ความโดดเด่นของ CAC ในเวทีโลก

หัวข้อข่าว: ความโดดเด่นของ CAC ในเวทีโลก

ที่มา: คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง, โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 โดย พิษณุ พรหมจรรยา

 

เมื่อวันที่ 20-21 ต.ค.ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมการประชุม Collective Action: Evidence, Experience and Impact ซึ่งจัด ขึ้นโดย International Center for Collective Action (ICCA) ที่เมือง Basel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะที่โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เป็นสมาชิกของ B20 Collective Action Hub การประชุมครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในงานใหญ่ระดับโลกสำหรับคนที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์มากถึงเกือบสองร้อยคนจากทั่วโลก

 

ในช่วงหนึ่งของงานนี้ ผมมีโอกาสได้ขึ้นเวทีเพื่อนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการของ CAC และประสบการณ์การต่อต้านทุจริตในรูปแบบของ Collective Action ในประเทศไทย ว่าทำอย่างไรถึงสามารถดึงให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาเป็นสมาชิกของแนวร่วมปฏิบัติได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีกระบวนการที่จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาเป็นแนวร่วมจะต้องกำหนดนโยบาย และวางแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

สิ่งที่ประเทศต่างๆ สนใจอยากเรียนรู้จากประสบการณ์ของ CAC ก็คือ เรามีการดำเนินการหรือให้แรงจูงใจอย่างไร ถึงสามารถดึงบริษัทเอกชนให้เข้ามาร่วมได้เป็นจำนวนมากถึง 748 บริษัท ในขณะที่โครงการลักษณะเดียวกันนี้ของหลายๆ ประเทศสามารถรวมตัวกันได้เพียงแค่หลักสิบบริษัทเท่านั้น

 

ผมได้เล่าให้บรรดาผู้สนใจฟังถึงกระบวนการในการประกาศเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมของ CAC ว่าสามารถทำได้โดยให้ประธานกรรมการบริษัทลงนามเพื่อแสดงเจตนาว่าจะประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริต และกำหนดแนวทางป้องกันการทุจริตภายในบริษัทอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งจะแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีในด้านการป้องกันทุจริตกับสมาชิกแนวร่วมอื่นๆ และจะสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เข้ามาร่วมเป็นสมาชิก CAC ด้วย ซึ่ง Collective Action ของหลายๆ ประเทศก็มีการดำเนินการลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน

 

แต่คุณลักษณะพิเศษที่ทำให้โครงการ CAC แตกต่างและโดดเด่นเมื่อเทียบกับโครงการ Collective Action ของประเทศอื่นๆ ก็คือ การพัฒนากระบวนการรับรองเพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกจะมีการกำหนด นโยบาย และแนวปฏิบัติที่ดีตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้จริง โดยกระบวนการรับรองของ CAC นี้ได้มีการปรับความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอด้วย กระบวนการรับรองในลักษณะนี้ Collective Action ของประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มี และต่างก็สนใจที่จะเรียนรู้รูปแบบการดำเนินการของ CAC เพื่อนำไปพิจารณาปรับใช้ในประเทศของ ตนบ้าง

 

ผมเล่าว่ามีจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างน้อย 3 จุดที่ทำให้โครงการ CAC เติบโตได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง

 

จุดเปลี่ยนแรก คือ การที่ทุกสมาคมธุรกิจในภาคการเงินเข้ามาร่วมโครงการแบบยกสมาคม ทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต การที่ธุรกิจในภาคการเงินทั้งหมดเข้ามาร่วมโครงการ CAC แสดงถึงการที่ภาคการเงินซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทยยอมรับและให้ความสำคัญกับโครงการ CAC

 

นอกจากนี้ โครงการ CAC ยังได้พยายามชักชวนและสนับสนุนให้สมาคมธุรกิจอื่นๆ นอกภาคการเงินให้เข้ามาร่วมโครงการแบบเป็นกลุ่มด้วย ซึ่งล่าสุดก็มีบริษัทวิจัยชั้นนำ 7 แห่งที่เป็นสมาชิกของสมาคมวิจัยการตลาด (Thailand Marketing Research Society หรือ TMRS) ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC พร้อมกันในการประชุมสามัญประจำปีของสมาคมเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559

 

จุดเปลี่ยนที่สอง คือ แรงสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย ที่ร่วมกันผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ โดยในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก็สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติของบริษัทในเรื่องการต่อต้านทุจริตให้นักลงทุนทราบ ส่วนสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยก็ได้มีโครงการอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น ซึ่งส่งตัวแทนไปร่วมประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัท และสอบถามคณะกรรมการบริษัทถึงความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของบริษัท

 

จุดเปลี่ยนที่สาม คือ การที่บริษัทสมาชิก CAC รับบทเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ด้วยการขยายเครือข่ายการทำธุรกิจอย่างโปร่งใสปลอดคอร์รัปชั่นไปสู่กลุ่มบริษัทที่เป็นคู่ค้าหรืออยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ให้เข้ามาร่วมโครงการ CAC

 

การได้เข้าร่วมประชุมในเวทีระดับโลกครั้งนี้ ทำให้ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนไปนำเสนอเรื่องราวความก้าวหน้าของโครงการ CAC ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆ ได้รับรู้และมองมาที่เราด้วยความชื่นชม อย่างน้อยเรื่อง Collective Action ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้เราพอ จะยืดอกภูมิใจได้ว่า ประเทศไทยของเราก็ไม่น้อยหน้าใครในเวทีโลก นะครับ