หัวข้อข่าว: ความโดดเด่นของCAC ในเวทีโลก (2)
ที่มา: คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง, โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 โดย พิษณุ พรหมจรรยา
ในสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เล่าถึงการไปร่วมประชุม Collective Action: Evidence, Experience and Impact ที่เมือง Basel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 20-21 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังแนวคิดและการดำเนินการเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่นของประเทศต่างๆ พร้อมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ให้ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงความก้าวหน้าของภาคเอกชนไทยในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น
เมื่อเทียบกับ Collective Action ในภาคเอกชนของประเทศต่างๆ แล้ว ปรากฏว่าการดำเนินการของ CAC เรา ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าอย่างน่าภาคภูมิใจ หลังจบการบรรยายเรื่อง CAC มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ ให้ความสนใจเข้ามาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ทั้งตัวแทนจากประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพยายามก่อตั้ง Collective Action และประเทศที่ดำเนินการมาได้สักพักแต่ ประสบปัญหาในการที่จะขยายเครือข่าย อย่างเช่น ลิทัวเนีย อียิปต์ จีน อินเดีย ไนจีเรีย ฯลฯ
นอกจากคำถามสำคัญว่า CAC ทำอย่างไรถึงสามารถดึงบริษัทเอกชนให้เข้ามาร่วมได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผมได้เล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญสามประการในบทความเมื่อสัปดาห์ก่อนไปแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ประเทศต่างๆ สนใจสอบถามกันมากก็คือกระบวนการรับรองของ CAC ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้โครงการ CAC แตกต่างและโดดเด่น
CAC ได้พัฒนากระบวนการรับรองขึ้นมาเพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกจะกำหนดนโยบาย และดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ดีดังที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้จริง แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องย้ำชัดๆ ให้เข้าใจตรงกัน ก็คือ การรับรองของ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบายและกลไกภายในเพื่อการป้องกันการจ่ายสินบนเท่านั้น ไม่ได้รับรองพฤติกรรมของบริษัทหรือบุคลากรของบริษัทแต่อย่างใด
สิ่งที่ทำให้ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ชื่นชมและประทับใจกับกระบวนการรับรองของ CAC ก็คือการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มต้นในระดับที่เอื้อให้บริษัทสามารถดำเนินการตามได้ไม่ยากจนเกินไปนัก และค่อยๆ ปรับความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้กระบวนการรับรองมีคุณภาพ และความน่าเชื่อถือจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
โดยเริ่มจากปี 2555 ซึ่ง CAC ได้จับมือกับ PwC ประเทศไทย พัฒนาแบบประเมินตนเอง 71 ข้อขึ้นมาเพื่อช่วยให้บริษัทสามารถประเมินความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชั่นของตนเอง พร้อมทั้งตรวจสอบตนเองว่ามีการกำหนดนโยบาย และแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการจ่ายสินบนอย่างครบถ้วนครอบคลุมแล้วหรือยัง โดย 71 ข้อนี้ ตัดทอนลงมาจากแบบประเมินตนเอง 241 ข้อที่พัฒนาโดย Transparency International เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้บริษัทในภาคธุรกิจของไทยสามารถดำเนินการได้ เพราะหากเริ่มต้น อย่างเข้มข้นเต็มที่ทั้ง 241 ข้อก็อาจจะทำให้บริษัทส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการได้ และการขยายเครือข่ายธุรกิจสะอาดก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้
ในช่วงแรกของการเริ่มใช้กระบวนการรับรอง ทางคณะกรรมการ CAC ยึดหลัก Honor-based โดยอิงจากการกรอกแบบประเมินโดยบริษัท ซึ่งผ่านการรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ หรือผู้สอบบัญชีภายนอกเพียงเท่านั้น และไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่บริษัทต้องขอการรับรอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏว่าจำนวนบริษัทที่มาร่วมประกาศเจตนารมณ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองกลับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่ามาก และเมื่อบริษัทที่ยื่นขอรับรองมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีขนาดและลักษณะธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น CAC จึงมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มความเข้มข้น และสร้างมาตรฐานของกระบวนการรับรองเพื่อให้สามารถมั่นใจในคุณภาพของบริษัทที่ผ่านการรับรอง ว่าเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล โดยได้ดำเนินการดังนี้
1.กำหนดกรอบเวลาในการยื่นขอรับรองให้บริษัทที่เข้าประกาศเจตนารมณ์ต้องยื่นขอรับรองภายในระยะเวลา 18 เดือน และเมื่อผ่านการรับรองครบสามปีแล้วต้องยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification)
2.กำหนดให้บริษัทที่ยื่นขอรับรองต้องยื่นเอกสารประกอบการตอบแบบประเมินในรูปของ e-document ด้วย
3.กำหนดกระบวนการสำหรับกรณีที่บริษัทที่ยื่นขอรับรองเกิดมีข่าวเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของทางการ (Incident Management Process)
4.มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารับรอง (Certification Committee) ขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรอง
คำขอรับรอง และคุณภาพของแบบประเมินตนเองว่ามีความสมบูรณ์ครบถ้วนตามเกณฑ์ และมาตรฐานที่ CAC กำหนดเอาไว้หรือยัง โดยคณะกรรมการพิจารณารับรองประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับในภาคเอกชน นอกจากนี้ CAC ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งมาตรฐานใหม่นี้จะสอดคล้องกับมาตรฐานการต่อต้านคอร์รัปชั่น ISO 37001 ซึ่งคาดว่าจะนำออกมาประกาศใช้ในปีหน้า โดยจะช่วยให้บริษัทไทยที่มีความพร้อม และต้องการที่จะดำเนินการตามมาตรฐานที่สูงขึ้นในระดับสากลให้สามารถปฏิบัติตามได้
จริงๆ เรื่องยังไม่หมดแค่นี้ แต่พื้นที่สำหรับอาทิตย์นี้หมดเสียแล้ว วันหลังจะมาเล่าให้ฟังต่ออีกนะครับ