คสช. ‘ปราบโกง’ 3 ปี 10 คดี เชือด 355 ขรก. ขึ้นบัญชีนักธุรกิจสีเทา

หัวข้อข่าว: คสช. ‘ปราบโกง3 ปี 10 คดี เชือด 355 ขรก. ขึ้นบัญชีนักธุรกิจสีเทา

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

 

การปราบปรามการทุจริตเป็นภาระและวาระหลัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” เมื่อ 9 กันยายน 2559
มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ-อนุกรรมการหลายชุดขึ้นมาเพื่อ “ปราบโกง”
ทั้งการจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน มีอำนาจรับเรื่อง-รวบรวมเรื่องร้องเรียนการทุจริต
ทั้งการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) อันมีนายกฯเป็นประธาน พิจารณา-คาดโทษ
แม้ว่าในองคาพยพรัฐบาล คสช.จะถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ ตั้งแต่ปมอุทยานราชภักดิ์ ไปจนถึงปมที่เกี่ยวกับการรับสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐ บริษัทครอบครัวน้องชาย “พล.อ.ปรีชา” แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็พารัฐนาวารอดพ้นได้
และในการประชุม คตช.ครั้งที่ 5/2559 เมื่อ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” เอาจริงเอาจังถึงขั้นสั่งขึ้นบัญชีดำ นักธุรกิจที่มีพฤติการณ์ทุจริต และสั่งให้สะสางคดีทุจริตที่ค้างอยู่ในระบบ
“สังศิต พิริยะรังสรรค์” ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า นายกฯได้สั่งการเร่งรัดคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรง เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี โดยให้ไปรวบรวมข้อมูลและรายงานความคืบหน้าคดีนี้ในการประชุมครั้งต่อไป
และสั่งการให้รวบรวมรายชื่อ “ขึ้นบัญชีดำ” นักธุรกิจที่มีพฤติกรรมทุจริต เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้มาทำประมูลงานกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการป้องกันการทุจริตได้อีกทางหนึ่ง
หากพลิกผลงาน “ปราบโกง” โดย “พล.อ.ประยุทธ์และพวก” ตั้งแต่เข้าควบคุมอำนาจปี 2557 นั้น มีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่ง หัวหน้า คสช. สั่งให้บุคคลระงับการปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิมชั่วคราว ทั้งสิ้น 9 คำสั่ง รวม 355 ราย
แยกเป็น คำสั่งที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 จำนวน 45 ราย โดยไล่ออก/พ้นจากตำแหน่ง/เกษียณ/ครบวาระ/เสียชีวิต 11 ราย ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยเป็นความผิดไม่ร้ายแรง 3 ราย รอความเห็น ป.ป.ช.-สตง. 2 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด 7 ราย ป.ป.ช.ชี้มูล 7 ราย ศอตช.ยังไม่ได้รับรายงาน 17 ราย
คำสั่งที่ 19/2558 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2558 จำนวน 70 ราย โดยไล่ออก/พ้นจากตำแหน่ง/เกษียณ/ครบวาระ/เสียชีวิต 16 ราย ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยเป็นความผิดไม่ร้ายแรง 15 ราย รอความเห็น ป.ป.ช.-สตง. 1 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด 22 ราย ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 5 ราย ศอตช.ยังไม่ได้รับรายงาน 12 ราย
คำสั่งที่ 1/2559 ลงวันที่ 5 มกราคม 2559 จำนวน 59 ราย โดยไล่ออก/พ้นจากตำแหน่ง/เกษียณ/ครบวาระ/เสียชีวิต 43 ราย ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยเป็นความผิดไม่ร้ายแรง 4 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด 4 ราย ป.ป.ช.ชี้มูล 2 ราย ศอตช.ยังไม่ได้รับรายงาน 6 ราย
คำสั่งที่ 33/2559 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2559 จำนวน 23 ราย โดยต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยเป็นความผิดไม่ร้ายแรง 16 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด 6 ราย ศอตช.ยังไม่ได้รับรายงาน 1 ราย
คำสั่งที่ 43/2559 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2559 จำนวน 60 ราย โดยไล่ออก/พ้นจากตำแหน่ง/เกษียณ/ครบวาระ/เสียชีวิต 1 ราย ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยเป็นความผิดไม่ร้ายแรง 3 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด 19 ราย ป.ป.ช.ชี้มูล 3 ราย ศอตช.ยังไม่ได้รับรายงาน 34 ราย
คำสั่งที่ 44/2559 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 จำนวน 1 ราย ศอตช.ยังไม่ได้รับรายงาน 1 ราย
คำสั่งที่ 50/2559 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2559 จำนวน 2 ราย ศอตช.ยังไม่ได้รับรายงาน 2 ราย
คำสั่งที่ 52/2559 ลงวันที่ 2 กันยายน 2559 จำนวน 21 ราย โดยอยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด 6 ราย ศอตช.ยังไม่ได้รับรายงาน 15 ราย
คำสั่งที่ 59/2559 ลงวันที่ 27 กันยายน 2559 จำนวน 75 ราย โดยไล่ออก/พ้นจากตำแหน่ง/เกษียณ/ครบวาระ/เสียชีวิต 7 ราย ศอตช.ยังไม่ได้รับรายงาน 65 ราย
ส่วนคดี ศอตช.ตรวจสอบแล้วมี 10 คดี 1.คดีประพฤติมิชอบของอปท.2.คดีทุจริตโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวมและบำบัดน้ำเสีย คลองด่าน 3.ทุจริตโครงการระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ 4.โครงการตามมาตรการเพิ่มรายได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย (ไร่ละ 1,000 บาท) 5.การทุจริตก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล
6.ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของกรมพลศึกษาและกรมการท่องเที่ยว 7.ตรวจสอบการบริหารงานของกองทุนสปสช.8.ตรวจสอบการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา 9.ตรวจสอบการบริหารงานของสำนักงานกองทุนสสส. และ 10.ตรวจสอบโครงการตามมาตรการส่งเสริมตำบลละ 5 ล้านบาท
เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการมี 3 เรื่อง 1.คดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้าภายใต้โครงการรับจำนำข้าว 2.การตรวจสอบการทุจริตโครงการอุดกลบบ่อน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 3.ตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอ
ยังไม่นับรวมคดีการทุจริตภาคเอกชนที่ร่วมมือกับข้าราชการระดับสูง ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งให้รวบรวมเพื่อขึ้นบัญชีดำ อาทิ โครงการบ้านเอื้ออาทร คดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย จะนำมาพิจารณาในการประชุม คตช.ครั้งที่ 6 ในศักราช 2560