หัวข้อข่าว คอลัมน์ เปลว สีเงิน คนปลายซอย: เปล่าเช็กบิลแค่กรรมเก่าสุดซอย
ที่มา; ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559
ผักกาดหอม plew_seengern@yahoo.com plewseengern@gmail.com
ไม่ทันจะอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่เสียแล้วล่ะครับ!
ผลจากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ๓ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และถอดถอน-เอาผิดทางอาญา
โทษฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบในกรณีเสียบบัตรลงคะแนนเสียงแทนกัน และสลับร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี ๒๕๕๖
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ฐานแทรกแซงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม
ทำให้หลายคนในระบอบทักษิณเกิดอาการ….หลอน…สองสามวันที่ผ่านมานี้ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำมวลชนเสื้อแดงบางคน ดูจะร้อนรนกันเป็นพิเศษ
กลัวถึงขนาด อาจตายยกพรรค!ก็ไม่แปลกใจอะไร เพราะคดีค้างเก่ามันเยอะสมัยอยู่ในอำนาจ มือเติบ ใช้ไปซิครับ อำนาจมันเหลือเฟือ อ้างเสียงข้างมากมาจากการเลือกตั้ง
อ้างเป็นประชาธิปไตย ปากมันเยิ้มตอนทำไม่คิด ใครเตือนไม่ฟัง แถมยังด่ากลับ มาโอดครวญเอาตอนนี้ มันใช่เรื่องมั้ย?
คดีที่ต้องจับตามองคือ คดีที่อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ๔๐ คน ถูก ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเอาผิดกรณีเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง
ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๕๕๖ นักการเมืองในพรรคเพื่อไทยแข่งกันเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือสุดซอย ตามแต่ถนัดจะเรียก
จนเป็นจุดพลิกผันสำคัญ นำไปสู่การประกาศยุบสภาฯ ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๖
จำได้นะครับในชั้นกรรมาธิการฯ มีการสอดไส้ แก้ไขร่างกฎหมายที่มีอยู่แค่ ๗ มาตรา โดยรื้อมาตรา ๓ และ ๔ ซึ่งเป็นหัวใจของร่างกฎหมาย ให้ครอบคลุม การชุมนุมทั้งฝ่ายเหลืองและแดง
รวมไปถึงผู้สั่งการไม่ว่าจะเป็น ทักษิณ อภิสิทธิ์ สุเทพพูดให้ชัดๆ เป็นการนิรโทษกรรมคดีอาญา “ฆ่า-เผา” และ “คอร์รัปชัน” ด้วย
มาตรา ๓ มีสาระสำคัญคือ ให้นิรโทษกรรมการกระทำความผิดของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม การแสดงออก หรือความขัดแย้งทางการเมือง และรวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗ ถึง ๘ สิงหาคม ๒๕๕๖
มาตรา ๔ ให้ระงับการดำเนินคดี การสอบสวน รวมถึงการพิจารณาที่อยู่ในกระบวนการ รวมถึงให้คนที่ต้องคำพิพากษาให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด และหากอยู่ในระหว่างการรับโทษให้ถือว่าการลงโทษสิ้นสุด
มันคือการสับขาหลอกเพื่อล้างความผิดทั้งหมดให้ทักษิณย้ำนะครับให้นายทักษิณเป็นหลักอนุกรรมการสอบสวนของ ป.ป.ช.จะสอบลึกแค่ไหน ยังไม่ทราบครับ แต่มันชัดเจนว่า เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยมิชอบ
อย่างน้อยๆ ก็ ขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๖
ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม อนาคตของอดีต ๔๐ ส.ส. จะเป็นเช่นไร?๔๐ คนนี้ เกือบครึ่งเป็น ส.ส.เขต มาจากภาคอีสานบางคนเผ่นตามนายใหญ่ไปต่างประเทศแล้ว เช่น สุนัย จุลพงศธร
ส่วนที่ยังอยู่ดูหน้าตาแล้ว อยู่ในเครือข่ายเสื้อแดงหลายคน และวันนี้แหกปาก ร้องหาความปรองดอง…
หมายความว่าไงครับ?หมายความว่าหากอยากสร้างปรองดองต้องไม่ดำเนินคดีใดๆ คนกลุ่มนี้อย่างนั้นหรือ
มันถูกเรื่องมั้ย?ที่พูดออกสื่อวันนี้ ยังมีหลายประเด็น เช่น ป.ป.ช.ก้าวก่ายงานรัฐสภา
บิดเบือนไปถึงขั้นว่า ถ้า ป.ป.ช.ขยายขอบเขตตรวจสอบ ก็ชัดเจนว่า ป.ป.ช.มีเจตนาทำลายพรรคเพื่อไทย
แถมยังข่มขู่ว่า ทำแบบนี้ประเทศก็มีแต่ความขัดแย้งไม่จบสิ้นสันดาน!ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ออกกฎหมาย มันเป็นหลักสากลครับ และเช่นกัน กฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรมก็ต้องถูกตรวจสอบ
ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติจะออกกฎหมายอะไรก็ได้ ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน
กรณีนี้ ป.ป.ช.เขามีสิทธิ์ตรวจสอบ เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เขาระบุอำนาจหน้าที่เอาไว้
….ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวน พร้อมทั้งนำความเห็นเสนอต่อวุฒิสภา กรณีมีการร้องขอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รองประธานศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร รองอัยการสูงสุด ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ…
มันไม่ใช่เรื่องการขยายขอบเขตตรวจสอบแต่อย่างใด ก็คล้ายกรณีเสียบบัตรแทนกันนั่นแหละครับ นักการเมืองไม่ใช่เทวดาที่ตรวจสอบไม่ได้
วันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม จะเป็นวันเปิดทำการของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อย่างเป็นทางการ
ส่วนที่ทำการศาล จะอยู่อาคารศาลแขวงดุสิตแห่งใหม่ ซอยสีคาม แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต
มาทำความรู้จักศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ให้ลึกลงไปอีกนิดครับ
ระบบบริหารงานของศาลอาญาคดีทุจริตฯ จะมีอธิบดีผู้พิพากษา ๑ คน รองอธิบดีผู้พิพากษา ๓ คน
การจ่ายสำนวน อธิบดีผู้พิพากษาจะเป็นผู้จ่ายสำนวนไปยังองค์คณะ
องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดี จะเป็นผู้พิพากษาที่สมัครใจเข้ามาพิจารณาคดี
หัวหน้าคณะจะมีประสบการณ์สูงไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี องค์คณะก็มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี ขณะนี้ศาลมีผู้พิพากษาองค์คณะแล้ว ๒๐ คน ผู้ที่ประสบการณ์ที่น้อยสุดในขณะนี้มีประสบการณ์การทำงานพิจารณาคดีถึง ๑๗ ปี!
ต่อไปจะต้องมีองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีในศาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะต้องรองรับคดีที่มีแนวโน้มปริมาณมากขึ้นจากทั่วประเทศ
ซึ่งตามกฎหมายวางกรอบอัตราองค์คณะ ให้มีได้สูงสุด ๔๕ คนคดีที่จะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ เป็นคดีเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
ส่วนกระบวนพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ นี้ จะใช้ระบบไต่สวนค้นหาความจริงตามพยานหลักฐานที่มีทั้งหมด โดยจะยึดเอาสำนวนจาก ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.เป็นหลัก ลักษณะเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
หากเป็นคดีที่ประชาชนฟ้องคดีเอง ก็จะมีการไต่สวนมูลฟ้องเช่นเดียวกันกับคดีอาญาทั่วไป
และเมื่อศาลเปิดทำการจะมีสำนวนกว่า ๗๐ คดีโอนมาให้พิจารณาในทันที
คือคดีที่ “จำเลย” เป็นข้าราชการระดับสูงจำนวนหลายคน อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง “อำนาจ พวงชมภู” ท่านยืนยันว่า
“ไม่รู้สึกหนักใจ เนื่องจากต้องยึดมั่นตามนโยบาย รวดเร็ว เสมอภาค และเป็นธรรม”
หลังวันที่ ๓ ตุลาคม ศาลนี้ไม่ทำคดีอื่นนอกจากคดีโกงอย่างเดียว
ใครคิดจะโกง แล้วยังเชื่อว่าคดีโกง ยืดเยื้อยาวนานกว่าศาลจะลงโทษชั้นฎีกาอาจกินเวลาเป็นสิบๆ ปี
นั่นมันอดีตครับ