หัวข้อข่าว: งัด’กลไกตลาด’ปราบคอร์รัปชัน สกัดธุรกิจติดสินบนเจ้าหน้ารัฐ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย นครินทร์ ศรีเลิศ
การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่กำลังทำในหลายเรื่อง แต่ปัญหาใหญ่ของสังคมที่ผ่านมาคือคอร์รัปชัน ซึ่งหากไม่สามารถแก้ได้หรือมีกลไกที่ดีพอในการป้องกันคอร์รัปชัน ก็ถือว่าการปฏิรูปยังล้มเหลว เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
ความพยายามแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่กำลังจะเริ่มขึ้นในเรื่องของตัวบทกฎหมาย คาดว่า จะเสร็จในไม่ช้านี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายต้านคอร์รัปชันที่รัดกุมมากขึ้น เพราะจะสามารถเอาผิดภาคธุรกิจที่มีส่วนกับคอร์รัปชัน และที่สำคัญจะใช้กลไกภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้สถานการณ์คอร์รัปชันจะปรับตัว ดีขึ้น แต่ในส่วนของภาคเอกชนก็ต้องไม่ประมาท และจะต้องมีการผลักดันหลายๆเรื่องต่อเนื่อง ขณะนี้มีกฎหมายในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ที่ระบุว่า หากพิสูจน์ได้ว่าเอกชนบริษัทใดมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ ของรัฐ โดยความผิดจะครอบคลุมมากกว่าตัวกรรมการหรือบอร์ดของบริษัท
หากสร้างความเสียหายให้กับรัฐ บริษัทต้องชดใช้ความเสียหายให้กับรัฐด้วย ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ควบคุม และกรณีที่เป็นบริษัทขนาด ใหญ่ก็ต้องมีนโยบายและกลไกในการป้องกันเรื่องการทุจริตในระดับนโยบายขององค์กร
ขณะที่การณรงค์ของภาคเอกชนเรื่องการต่อต้านทุจริตก็ยังดำเนินการต่อเนื่อง โดยสิ่งที่ต้องการผลักดันก็คือเรื่องของความโปร่งใสและความมีธรรมาภิบาลของภาคเอกชน โดยท้ายที่สุดจะต้องมีกลไกตลาด และผู้บริโภค จะต้องเข้ามาสนับสนุน เช่น ธุรกิจไหนทำธุรกิจ โปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ในอนาคตจะมีการติดฉลากบนผลิตภัณฑ์สินค้า โดยเราเรียกโครงการนี้ว่า “Advice Label” องค์การต่อต้านคอร์รัปชันอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD) ในการพัฒนากฎเกณฑ์ของการจัดทำสลาก และให้บริษัทที่ต้องการได้รับสลากปฏิบัติตามเกณฑ์ของบริษัทเอกชนที่เป็นเครือข่าย ของธุรกิจต่อต้านคอร์รัปชัน (CAC) เพื่อวาง เกณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสลาก และช่วยให้ประชาชนจะตัดสินได้ว่าจะสนับสนุนสินค้ายี่ห้อใดระหว่างสินค้าที่ได้สลากกับยี่ห้อที่ไม่ได้สลาก ซึ่งถือเป็นการใช้กลไกตลาดเข้ามา ช่วยตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน โดยไม่ต้อง ใช้กลไกภาครัฐมาคอยตรวจสอบมากนัก
“สิ่งที่เราอยากเห็นต่อไปคือ กลไกตลาด กลไกภาคประชาชนต้องมาสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชัน ให้เป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีใครมารณรงค์ ไม่ต้องใช้กฎหมายหรืออำนาจรัฐ แต่ให้อยู่ในจิตสำนึกและเข้าใจของประชาชน หากเป็นธุรกิจที่ไม่โปร่งใส เราจะไม่สนับสนุน”
สำหรับเรื่องของกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการปราบปราม และป้องกันการปราบปรามคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรม นายมานะบอกว่า ขณะนี้มีการปรับปรุงกฎหมายและออกกฎหมายที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.ของ ป.ป.ช . การ ออกพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกใน การพิจารณาอนุญาต พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย และการจัดตั้งศาลคดีทุจริตคอร์รัปชัน
ขณะเดียวกันยังมีกฎหมายสำคัญมากที่อยู่ในขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเมื่อออกมาก็จะมีเครื่องมือในการป้องกันการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น เช่น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น หวังรธน.ใหม่-ก.ม.ลูกสร้างจุดเปลี่ยน
นายมานะ เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เนื่องจากมีมาตรการที่ครอบคลุมและเป็นระบบลงลึกไปถึงแนวทางปฏิบัติและการลงโทษ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การสร้าง ธรรมาภิบาล ความโปร่งใสมากถึง 50 มาตรา
เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รวบรวมและเสนอต่อ ครม.ว่า จะต้องมีการพิจารณากฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญ 125 เรื่อง ซึ่งจะต้องออกเป็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เช่นกรณีของ ป.ป.ช. องค์กรอิสระ ประกาศกฎกระทรวง นโยบายหรือคำสั่งต่างๆ เพื่อรองรับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมี 21 เรื่องที่เกี่ยวกับการปราบปรามการคอร์รัปชันและธรรมาภิบาล
นายมานะ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในขณะนี้คือขั้นตอนการออกกฎหมายลูกและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากที่สุดในขั้นตอนการออกกฎหมายลูก เพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ
ที่ผ่านมาเรามีตัวอย่างเช่น การออก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการในปี 2540 แล้วเราก็ภูมิในกันว่าเรามีความก้าวหน้ามากที่สุดในเอเชีย แต่เมื่อใช้กฎหมายไปเรื่อยๆ ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมติดตามตั้งแต่ต้นมือ สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองและราชการในการเตะถ่วงการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ
ขณะที่กฎหมายเรื่องการอำนวยความสะดวกในการบริการภาครัฐแก่ประชาชนเป็นกฎหมายที่ดีมาก เพราะวัตถุประสงค์ ปฏิรูปการให้บริการภาครัฐ ต้องการลดภาระให้ประชาชน แต่ความคืบหน้าในการนำไปสู่การปฏิบัติมองว่ายังไม่ถึง 10% ที่การให้บริการภาครัฐมีการปรับปรุงที่ดีขึ้น ซึ่งอาจมาจากความเข้าใจของข้าราชการที่ยังไม่อยากเปลี่ยนแปลง และการรับรู้ของประชาชนยังมีไม่มากนัก คือไม่รู้ว่า ตนเองมีสิทธิ์อะไรและควรจะเรียกร้องอะไรจากการให้บริการของภาครัฐตามสิทธิ์ที่กฎหมายให้
“ในจังหวะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ การกำหนดรายละเอียดต่างๆ ของกฎหมาย จำเป็นที่จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบมากที่สุด เพราะหากกำหนดกันออกมาแล้วไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน ต่อสาธารณะก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว มันจะกลายเป็นเกราะกำบังที่แข็งแกร่งให้กับคนที่คิดจะหาช่องว่างจากกฎหมายเพื่อไปทำในสิ่งที่ผิด และในช่วงปีเศษที่เหลืออยู่จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องมีการช่วงชิงกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมกับความสะดวก ปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถทำงานตามเดิม” ออกกฎแก้ผลประโยชน์ทับซ้อน
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช.ถือว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งที่จะกำหนดให้พฤติกรรมคอร์รัปชัน หรือ การทุจริตที่มันไม่ได้ถูกบัญญัติว่าเป็นความผิดตาม กฎหมายที่ชัดเจนกลายเป็นความผิดได้ เช่น เรื่องของการแต่งตั้งลูกเข้ารับข้าราชการหรือเอาบริษัทญาติ บริษัทลูก เข้ามารับงานของภาครัฐ
การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่ได้ยึดหลักความรู้ความสามารถ ซึ่งจะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำได้และ ทำไม่ได้ อีกกรณีคือคนที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ หรือดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูงของรัฐ เมื่อเกษียณไปแล้วนอกจากความรู้ ก็จะมีบารมีต่อลูกน้อง เมื่อเกษียณแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จะเอาข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่เกษียณแล้วเข้าไปนั่งเป็นที่ปรึกษา ซึ่งต่อไป ถือว่าอาจเข้าข่ายการขัดกันระหว่างผลประโยชน์รัฐ
“ภาพรวมกฎหมายที่มีคุณค่ามาก และจะส่งผลสำคัญต่อการปกป้องผลประโยชน์ ที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ กับทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในความคิดของ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้กระทั่งนักการเมืองที่ปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายธุรกิจของตนและพวกพ้อง ก็จะเข้าข่ายกฎหมายนี้ และต้องมีความชัดเจนในข้อกฎหมายว่าเป็นความผิดที่ป้องกันการสร้างความ เสียหายให้รัฐอันจะเกิดจากผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่ให้เป็นเครื่องมือให้ข้าราชการมาใช้กลั่นแกล้งกันได้”
‘ภาคประชาชนต้องสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชัน ให้เป็นไป โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีใครมารณรงค์มานะ นิมิตรมงคล’
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถือเป็นฉบับปราบโกงเนื่องจากครอบคลุมและเป็นระบบลงลึกไปถึงแนวทางปฎิบัติและการลงโทษ