จับตารายงานร้อนสปท.เสนอ’ขึ้นเงินเดือนนายกฯ3แสน’

หัวข้อข่าว: จับตารายงานร้อนสปท.เสนอ’ขึ้นเงินเดือนนายกฯ3แสน

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559

 

สปท.เตรียมพิจารณา รายงาน การปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วางแนวทางคัดกรอง ตรวจสอบคุณสมบัติ และค่าตอบแทนให้สอดคล้องภารกิจ จับตาข้อเสนอขึ้นเงินเดือนนักการเมืองเป็น 3 แสนบาทแก้โกง
ตามที่นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงว่า การประชุมสปท.วันอังคาร ที่ 20 ธันวาคม 2559 นี้ มีวาระพิจารณารายงานการปฏิรูป 2 เรื่อง โดยวาระการพิจารณารายงานสปท.ที่สังคมจับตาคือ รายงานเรื่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง สปท. จะยังคง ข้อเสนอเรื่องการปรับเพิ่มเงินเดือน และผลตอบแทนแก่ผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง ตามที่คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง ในกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปท. เคยเปิดประเด็นไว้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่มีกระแสต้านอย่างกว้างขวางไว้ต่อไปหรือไม่
โดยครั้งนั้น นายสมพงษ์ สระกวี  สปท. ในฐานะประธานคณะ อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เปิดรายละเอียดต่อสังคมว่า คณะอนุกมธ.ฯสรุปแนวทางปฏิรูปเรื่องดังกล่าวใกล้แล้วเสร็จ โดย มีสาระสำคัญคือ
1.การปฏิรูปมาตรการคัดกรองตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้มีประสิทธิภาพ โดยทั้ง ผู้สมัครส.ส. และผู้เป็นรัฐมนตรีต้องผ่านการคัดกรองอย่างเป็นประชาธิปไตย จากพรรค เช่น ถ้าเป็นส.ส.เขตก็ผ่านการคัดกรองด้วยวิธีไพรมารีโหวตก่อน และต้องเปิดตัวให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 6 เดือน ถึง 1 ปี ว่าจะลงสมัครส.ส.พื้นที่ใด ส่วนผู้จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องผ่านมติกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการ มีกระบวนการเปิดเผยประวัติ ชื่อเสียงให้คนในพรรคและประชาชนได้รับรู้ เพื่อช่วยกันตรวจสอบ ไม่ใช่มาจากการคัดเลือกของนายทุนพรรค หรือหัวหน้าพรรคเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา
2.ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องผ่านการอบรมหลักสูตรความรู้การเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ดีจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือสถาบันพระปกเกล้าที่กำหนดขึ้น เพื่อให้เป็นที่พึงประสงค์ของประชาชน โดยจะเปิดหลักสูตรอบรมทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง แต่ไม่มีบทกำหนดโทษ เป็นเพียงวางแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ดำรงตำแหน่งอย่างมีเกียรติยศ และซื่อสัตย์สุจริตเท่านั้น และ
3.การพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนแก่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และส.ว. โดยเทียบเคียงกับโครงสร้างเงินเดือนของผู้บริหารองค์การมหาชน ที่ได้รับเงินเดือน 2-3 แสนบาท เช่น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เนื่องจากองค์การเหล่านี้มีโครงสร้างอยู่ในตำแหน่งตามวาระ และดำเนินการโดยไม่หวังผลกำไร
โดยนายสมพงษ์ชี้ว่า เมื่อเราคาดหวังอยากได้นักการเมืองมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีค่าตอบแทนที่คุ้มค่าเพียงพอให้ ควบคู่กับที่จะมีกฎหมาย หลักเกณฑ์และกติกากำกับตรวจสอบนักการเมืองที่ เข้มข้น ทั้งรัฐธรรมนูญใหม่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ การกำหนดมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง กฎหมายการขัดกันซึ่ง ผลประโยชน์ หรือกฎหมาย 3 ชั่วโคตร การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยนักการเมืองมีรายได้จากเงินเดือนและผลตอบแทนทางเดียว ไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นได้ ถ้าไม่เพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสม นักการเมืองก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ หาช่องทางทุจริต โดยปัจจุบันเงินเดือนส.ส.ได้แค่ 1 แสนบาทเศษมาหลายปีแล้ว
ทั้งนี้ นายสมพงษ์ ตระหนักว่าข้อเสนอหลังนี้อ่อนไหว จึงย้ำไม่ได้ระบุว่า จะต้องปรับเพิ่มเป็น 2-3 แสนบาท เท่ากับผู้บริหารองค์การมหาชน เพียงแต่นำมาเทียบให้ดู ต้องให้สังคมช่วยพิจารณา และผลตอบแทนใหม่ให้มีผลบังคับใช้หลังจากนี้ 5 ปีไปแล้ว
อย่างไรก็ตามทันทีที่ชงประเด็นดังกล่าวสู่สาธารณะก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ทันที ทั้งจากกระแสสังคมทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายวัชระ เพ็ชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ออกมาค้านข้อเสนอขึ้นเงินเดือนนักการเมืองอย่างดุเดือด ชี้เป็นงานอาสา ให้แสนเดียวถ้าประหยัดก็อยู่ได้ แต่หนุนเพิ่มให้นายกฯ เหตุได้น้อยกว่าผู้บริหารองค์การมหาชน ยันคนขี้โกงให้เท้าไหร่ก็โกง อบรมก็แก้นิสัย ไม่ได้
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง สปท. เมื่อเห็นกระแสสังคมไม่ตอบรับได้ชี้ว่า หากอนุฯมีข้อเสนอปรับเพิ่มเงินเดือนนักการเมืองเข้ามา ก็คงไม่ผ่านการพิจารณาของกมธ.ปฏิรูปการเมืองแน่
วันที่ 20 ธันวาคมนี้จึงต้องจับตา สุดท้ายข้อเสนอขึ้นเงินเดือนนักการเมืองจะหลุดรอดถึงที่ประชุมสปท.หรือไม่
“ถ้าไม่เพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสมนักการเมืองก็ต้องหลบๆซ่อนๆ หาช่องทางทุจริต”