ชงเงินเดือน3แสน สปท.เสนอขึ้นให้สส.-รมต.อ้างนักการเมืองไม่มีอาชีพเชื่อรายได้สูงป้องกันทุจริต

หัวข้อข่าว: ชงเงินเดือน3แสน สปท.เสนอขึ้นให้สส.-รมต.อ้างนักการเมืองไม่มีอาชีพเชื่อรายได้สูงป้องกันทุจริต

ที่มา: แนวหน้า ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

 

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นายสมพงษ์ สระกวี กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูป ประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สปท. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณา แนวทางปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ขณะนี้คณะอนุกมธ.ได้สรุปแนวทางการปฏิรูปเรื่องดังกล่าวเกือบเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

เสนอคุมเข้มคุณสมบัติสมัครสส.

โดยมีสาระสำคัญคือ 1.การปฏิรูปมาตรการคัดกรองตรวจสอบคุณสมบัติ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้มีประสิทธิภาพ โดยทั้งผู้สมัครสส. และ ผู้เป็นรัฐมนตรี ต้องผ่านการคัดกรองอย่างเป็นประชาธิปไตยจากพรรคการเมือง เช่น ถ้าเป็นสส.เขตก็ผ่านการคัดกรองด้วยวิธีไพรมารีโหวตก่อน และจะต้องแสดงตัวให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 6 เดือน ถึง 1 ปี ว่าจะลงสมัครสส.ในพื้นที่ใด ขณะที่ผู้จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องผ่านมติกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการ มีกระบวนการเปิดเผยประวัติ ชื่อเสียงให้คนในพรรคและประชาชนได้รับรู้ เพื่อช่วยกัน ตรวจสอบ ไม่ใช่มาจากวิธีการคัดเลือกของนายทุนพรรคหรือหัวหน้าพรรคเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา

 

ต้องผ่านหลักสูตรนักการเมือง

นายสมพงษ์กล่าวว่า 2.การให้ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องผ่านการอบรมหลักสูตรความรู้การเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ดีจากกกต.หรือสถาบันพระปกเกล้าที่กำหนดขึ้น เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พึงประสงค์ของประชาชน โดยจะมีการอบรมหลักสูตรพัฒนาการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ดีทั้งก่อนการรับสมัครเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้งทุกครั้งแก่ผู้สมัคร สส. สว. รัฐมนตรี รวมทั้งตำแหน่งเลขานุการ และที่ปรึกษารัฐมนตรี อย่างไรก็ตามไม่มีการกำหนดบทลงโทษว่า หากไม่เข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าวจะมีโทษอย่างไร เพราะเป็นเพียงการวางแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถดำรงตำแหน่งได้อย่างมีเกียรติยศ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเท่านั้น

 

ชงขึ้นเงินเดือนรมต.-สส.2-3แสน

นายสมพงษ์กล่าวว่า 3.การพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนแก่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สส. และสว. โดยเทียบเคียงกับโครงสร้างเงินเดือนของผู้บริหารองค์การมหาชน ที่ได้รับเงินเดือน 2-3 แสนบาท เช่น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยว โรงเรียนมหิดลวิทยา นุสรณ์ เนื่องจากองค์การเหล่านี้มีโครงสร้างอยู่ในตำแหน่งตามวาระ และดำเนินการโดยไม่หวังผลกำไร เมื่อเราคาดหวังอยากได้นักการเมืองมีประสิทธิภาพ จึงต้องมี ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าเพียงพอให้นักการเมืองอยู่ได้

 

อ้างถูกคุมเข้ม-ป้องกันการทุจริต

ทั้งนี้เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่จะมีผลบังคับใช้หลังจากนี้จะมีการตรวจสอบควบคุมนักการเมืองอย่างเข้มข้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดทั้งจากมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง กฎหมาย 3 ชั่วโคตร การตรวจสอบ บัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นใดได้นอกจากนักการเมือง หากนักการเมืองมีรายได้ทางเดียวจึงควรพิจารณาค่าตอบแทนให้เหมาะสมถ้ามีการตรวจสอบเข้มข้น แต่ไม่เพิ่มค่าตอบแทน ให้เหมาะสม นักการเมืองก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ใช้วิธีอื่นทุจริต ปัจจุบันเงินเดือนสส.อยู่แค่ 100,000 กว่าบาท ใช้มาหลายปีแล้ว มีการเพิ่มค่าตอบแทนขึ้นเพียง 1-2% เท่านั้น

 

เสนอยัดไส้ให้ขึ้นหลังจากนี้5ปี

“ข้อเสนอการเพิ่มค่าตอบแทนให้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น อนุกมธ. ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า ต้องเพิ่มเป็น 2-3 แสนบาท เท่ากับผู้บริหารองค์การมหาชน เพียงแต่นำโครงสร้างขององค์การมหาชนมาเปรียบเทียบให้ดู จะเพิ่มเติมเท่าใดต้องให้สังคม และทุกฝ่ายช่วยกันพิจารณา เราห่วงเช่นกันว่า ข้อเสนอนี้จะถูกต่อต้านจากสังคม ดังนั้นในการประชุมอนุกมธ.จึงมีข้อเสนอ ว่า ควรให้ข้อเสนอเรื่องการเพิ่มค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีผลบังคับ ใช้หลังจากนี้ 5 ปี เพื่อมิให้ถูกกล่าวหาว่า เสนอเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง” นายสมพงษ์ กล่าว

 

นายสมพงษ์กล่าวว่า ทั้งนี้คณะ อนุกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะสรุปแนวทางการปฏิรูปเรื่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเป็นทางการในช่วงเช้าวันที่ 8 พ.ย. จากนั้นจะนำเข้า สู่ที่ประชุมสปท.การเมืองในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เพื่อขอความเห็นชอบ และส่งให้ที่ประชุมสปท.พิจารณาต่อไป

 

มีชัยสั่งร่างกม.ลูกต้องเข้มข้นขึ้น

ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่า คืบหน้าไปแล้วกว่า 50% โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการที่รับผิดชอบกฎหมายต่างๆ ไปดูหลักของกฎหมายเดิม และดูรัฐธรรมนูญปี 2550 ประกอบการร่าง โดยให้นำหลักการ สำคัญมาเปรียบเทียบปรับแก้ให้เข้มข้น เหมาะสมกับการปฏิรูปด้วย ดังนั้นถือว่าขณะนี้หลายๆ ฝ่ายต้องพิจารณาและทำงานอย่างหนัก

 

16พย.จัดสัมมนาระดมความเห็น

ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคต่างๆของต่างจังหวัด ทางคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความเห็นฯ ก็ได้เร่งจัดทำ และจะต้องรวบรวมข้อสรุป ในเวทีต่างๆ เสนอต่อที่ประชุมเช่นกัน รวมทั้งการสัมมนาในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ กรธ.ก็จะจัดรับฟังความเห็นในเรื่องพ.ร.บ. ว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และพ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ดังนั้น การร่าง กฎหมายลูกทั้งหมดช่วงนี้ก็ต้องพิจารณาและรอผลสรุปในเวทีรับฟังความเห็นต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในกฎหมายนั้นๆ ด้วย

 

ยอมรับทำงาน240วันหืดขึ้นคอ

เมื่อถามว่าการจัดสัมมนาวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ จะมีเวทีสัมมนาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่รัฐสภาเช่นกัน และทางสนช.ก็อยากให้ กรธ.เร่งส่งกฎหมายลูกมาให้สนช.โดยเร็วที่สุด นายอุดม กล่าวว่า เรื่องเวทีสัมมนาเบื้องต้นกรธ.และสนช.ไม่มีประเด็นที่จะทำร่วมกัน ส่วนเรื่องการทำงานของสนช.เราก็เข้าใจดีว่า ใครก็กลัวทำงานไม่ทัน สนช.เองก็คงกังวลว่าการพิจารณากฎหมายภายใน 60 วันจะเป็นการบีบรัดเกินไป แต่ก็อยากให้เข้าใจกรธ.ด้วยว่า เราก็ต้องการให้กฎหมายออกมามีการปฏิรูปที่ชัดเจน เพราะถ้าทำออกมาแล้วกติกาเป็นแบบเดิมจะทำไปทำไม

 

“ขนาดประธานกรธ.ยังเคยบอกว่า กฎหมาย 4 ฉบับ ภายในเวลา 240 วันก็หืด ขึ้นคอ กรธ.เหมือนกัน”นายอุดม กล่าว

 

สพม.ระดมความเห็นเสนอกม.ลูก

ด้านนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธาน สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำประเด็นและสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ เพื่อเสนอต่อกรธ.ว่า ทาง สพม.ได้ดำเนินการ ใน 3 ส่วน ประกอบด้วย การร่วมมือกับนิด้าโพลของ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในการไปสอบถามคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เกี่ยวกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ จำนวน

 

7,500 ชุด โดยจะมีการสรุปผลในวันที่ 11 พ.ย.นี้ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการประสานงานระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม ซึ่งได้มีการกำหนดประเด็นรับฟังความในลักษณะเดียวกันกับการสำรวจความ คิดเห็นของนิด้าโพล และจะมีการสรุปผล กลับมาในวันที่ 11 พ.ย. เช่นเดียวกัน และจะมีการจัดกิจกรรมโฟกัสกรุ๊ป เพื่อ ระดมความเห็นจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนักการเมือง อดีต สว. องค์กรอิสระ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ที่จะจัดในวันที่ 14 พ.ย.

 

ทั้งนี้เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาพัฒนาการเมืองเพื่อรับทราบ ก่อนนำเสนอต่อ กรธ. และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนความเห็นที่ สพม.ส่งไปจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ ขึ้นกับดุลพินิจของกรธ.