หัวข้อข่าว: ชงเพิ่มเงินนักการเมือง สปท.อ้างปราบโกง
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
ผู้จัดการรายวัน 360 – สปท.ลงมติเห็นชอบปฏิรูปค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ภาครัฐ สมาชิกฯแนะปรับให้มีมาตรฐานทัดเทียมกัน เพื่อลดช่องว่างระหว่างตำแหน่ง ลดการทุจริต
ที่รัฐสภา วานนี้ (8 พ.ย.) มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดย ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เป็นประธานการประชุมพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องการปฏิรูประบบค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ภาครัฐ
โดยนายศานิตย์ นาคสุขศรี เลขานุการกรรมาธิการ ชี้แจงสาระสำคัญของรายงานที่เกี่ยวกับการจัดการภาครัฐ ในส่วนของระบบค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ให้มีความเหมาะสม และมีความเป็นเอกภาพในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนระหว่างหน่วยงาน โดยปรับองค์ประกอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) ให้มีอำนาจกำหนดนโยบายกำกับดูแล ควบคุมการจ่ายค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ภาครัฐ ไม่ใช่แค่การกำหนดนโยบายเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับได้ พร้อมทบทวนกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน
โดยกำหนดหลักการค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ เกี่ยวกับความสามารถในการจ่ายของรัฐ ค่าตอบแทนที่ตรงมาตรฐานค่าครองชีพ และหลักความพอเพียง ซึ่งกรอบงบประมาณเกี่ยวกับค่าตอบแทน ไม่ควรเกิน 35% ของ งบประมาณของแต่ละหน่วยงาน
นายศานิตย์ กล่าวว่า จากอดีตที่ผ่านมาการกำหนดสิทธิประโยชน์ไม่เป็นธรรม และเกิดความแตกต่างค่าตอบแทนของข้าราชการแต่ละประเภท คณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาแผนปฏิรูประบบค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ภาครัฐให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับค่าของงานของตำแหน่ง และความสามารถของแต่ละบุคคล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้เสนอให้ทบทวนโครงสร้างของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติจาก 25 คน เป็น 15 คน
ขณะที่ สมาชิก สปท. เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับข้าราชการหลายคน ซึ่งในการปฏิรูประบบเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ทั้งระเบียบข้อบังคับ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกคนต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไขให้ดีที่สุด
จากนั้นเป็นการอภิปรายของสมาชิก สปท. อาทิ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายนิกร จำนง และนายกษิต ภิรมย์ โดยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปอัตราค่าตอบแทน เสนอให้มีหลักการปรับอัตราค่าตอบแทนที่มีมาตรฐานทัดเทียมกัน โดยต้องมีการกำหนดอย่างละเอียด และสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี รวมถึงสอดคล้องกับค่าครองชีพ และสวัสดิการที่เหมาะสม เพื่อลดช่องว่างระหว่างตำแหน่ง ลดการทุจริต โดยเฉพาะการปรับตำแหน่งผู้บริหารบางตำแหน่ง ที่นั่งเป็นกรรมการหลายหน่วยงาน ทำให้มีรายได้สูงกว่าที่จำเป็น เพราะรับรายได้จากหลายทาง
ต่อมาที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องการปฏิรูประบบค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ภาครัฐ ด้วยคะแนน 139 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง และ งดออกเสียง 5 เสียง ซึ่งจะนำเสนอรายงานดังกล่าวต่อประธาน สปท.ภายใน 7 วัน.