ชู’ตับแตก’ปฏิรูปคุมผู้ต้องหา

หัวข้อข่าว: ชู’ตับแตก’ปฏิรูปคุมผู้ต้องหา

ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

 

ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะย้ำใช้กรณี “ธวัชชัย” ยกเครื่องใหม่ มาตรการการสอบ สวนกรณีผู้ต้องหาเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “เหรียญทอง แน่นหนา” หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมาแถลงระบุว่า นายธวัชชัย อนุกูล เสียชีวิตเพราะ “ผู้อื่นทำให้ตาย แต่ไม่ใช่ฆาตกรรม” โดยระบุว่า ถ้าคณะกรรมการแพทย์นิติเวชวิทยา และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของนายธวัชชัย อนุกูล ได้ดูบันทึกวงจรปิดของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ความยาวกว่า 5 ชั่วโมงครึ่งแล้ว…น่าจะได้เห็นข้อเท็จจริงหลายประการเกี่ยวกับนายธวัชชัย อนุกูล ในระหว่างเวลา 02.30 น.-07.55 น. วันที่ 30 ส.ค.59 เช่น ลักษะท้องอืดของนายธวัชชัยเกิดจากอะไร??? จากเลือดในช่องท้องจำนวนมากใช่หรือไม่??? หรือว่าอ้วนลงพุง???, การปั๊มหัวใจที่ถูกต้องเพียงไม่กี่ครั้งทำให้เกิดตับแตกมีเลือดออกในช่องท้องจำนวนมากได้หรือไม่??? ฯลฯ

 

ผมกล้าพูดว่าบันทึกภาพเหตุการณ์วงจรปิดของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ความยาวกว่า 5 ชั่วโมงครึ่ง มีประโยชน์อย่างมากต่อคณะกรรมการแพทย์นิติเวชวิทยาและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการสอบสวนหาข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของนายธวัชชัย อนุกูล ผมกล้าพูดว่าหายากครับที่จะมีพยานหลักฐานทางการแพทย์เป็นบันทึกภาพวงจรปิดที่เป็นภาพเคลื่อนไหวที่ไม่มีการตัดต่อครบถ้วนสมบูรณ์ชัดเจนสำหรับกรณีการเสียชีวิตที่มีเงื่อนงำอย่างนี้…ขนาด DSI หน่วยงานความมั่นคงของประเทศยังไม่มีบันทึกภาพวงจรปิดเพียบพร้อมเท่า รพ.มงกุฎวัฒนะ รพ.เอกชนที่ไม่ได้มีเงินงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนมากเท่าเลยนะครับ

 

นพ.เหรียญทองระบุว่า ขอเชิญคณะกรรมการแพทย์นิติเวชวิทยาและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของนายธวัชชัย ได้มาดูบันทึกวงจรปิดของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ความยาวกว่า 5 ชั่วโมงครึ่งที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ สถานที่จริงๆ พร้อมกับสอบปากคำจากบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้นโดยตรงเลยครับ ผมจะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่

 

ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะบอกด้วยว่า หากเป็นไปได้ผมอยากให้โพสต์นี้ถึงพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา หรือคณะกรรมการปฏิรูปงานยุติธรรม โดยผมขอเสนอให้มี Protocol เป็นมาตร การการสอบสวนกรณีผู้ต้องหาเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยขอเสนอให้กระทรวงยุติธรรมจะต้องเข้าปฏิบัติการ ในทันทีที่ทราบว่ามีผู้ต้องหาเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังต่อไปนี้

 

1) กระทรวงยุติธรรมจะต้องจัดชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจเข้าควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐที่แวดล้อมผู้ตายในทันที แล้วแยกการควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละบุคคลออกจากกัน จากนั้นให้ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ กระทรวงยุติธรรม หรือหน่วยงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกแยกการควบคุมในทันที ไม่ใช่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐที่แวดล้อมผู้ตายแต่ละคน ยังคงมีอิสรเสรีที่จะสามารถพูดคุยกันเพื่อทำความเข้าใจตรงกันได้ หรือสามารถทำลายหลักฐานกันได้

 

2) กระทรวงยุติธรรมจะต้องเข้าควบ คุมระบบบันทึกภาพวงจรปิดและพยานหลักฐานต่างๆ ในทันที ไม่ใช่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจนอาจมีการทำลายพยานหลักฐาน โดยเฉพาะบันทึกภาพวงจรปิด หากพบว่าระบบบันทึกภาพวงจรปิดบกพร่อง ไม่พร้อมใช้งาน จะต้องถือว่าเป็นความผิดทั้งทางอาญาและวินัยของผู้บังคับบัญชาหน่วยงานรัฐที่ควบคุมผู้ต้องหานั้น เนื่องจากปล่อยปละละเลยให้ระบบบันทึกภาพวงจรปิดไม่มีความพร้อมใช้งาน

 

3) ถึงแม้ศพจะถูกชันสูตรโดยสถาบัน นิติเวชวิทยาแล้ว แต่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม จะต้องเข้าสังเกตการณ์ด้วยในทันที มิชักช้า โดยไม่จำเป็นต้องมี คำสั่งแต่งตั้งใดๆ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนความ กระจ่างชัดร่วมกับสถาบันนิติเวชวิทยา จากนั้นให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ควบคุมศพหลังการชันสูตรเพื่อเก็บรักษาไว้ ในกรณีที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ไม่สามารถทันเข้าสังเกตการณ์ในทันที ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ชันสูตรศพเพื่อการตรวจสอบซ้ำ

 

โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากญาติของผู้ตาย เนื่องจากเป็นกรณีการตายที่ส่งผลต่อระบบงานยุติธรรมอันเป็นงานความมั่นคงของชาติ

 

4) ผลการชันสูตรศพผู้ต้องหาเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องแจ้งให้ญาติผู้ตายทราบโดยเร็วที่สุด มิชักช้า ทั้งนี้ อาจจะแจ้งผลการชันสูตรเพิ่มเติมอย่างเป็นระยะๆ และหากเป็นกรณีที่สังคมมีข้อกังขาเป็นวงกว้าง จะต้องแถลงต่อสาธารณชนด้วย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสและลดความสับสนของสังคม อันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อหน่วยงานรัฐสายงานด้านความยุติธรรม

 

5) ต้องให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของภาคประชาชน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และ/หรือคณะกรรมการคุ้มครองอื่นๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ในฐานะพยานภาคประชาชนโดยมิชักช้าด้วย การเสนอมาตรการการสอบสวนกรณีผู้ต้องหาเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐข้างต้นนี้ เป็นความบริสุทธิ์ใจของตนที่มีต่อกระทรวงยุติธรรมและงานด้านความยุติธรรมอันเป็นความมั่นคงของชาติ เนื่องจากที่ผ่านมาเรามักทราบข่าวบ่อยครั้งว่า ผู้ต้องหาฆ่าตัวตายในห้องขังอย่างมีเงื่อนงำน่าสงสัย แต่ก็สรุปผลกันอย่างรวดเร็วง่ายดายจนเกิดความเคลือบแคลงสงสัย และส่งผลต่อความเชื่อมั่นงานยุติธรรมอันเป็นความมั่นคงของชาติ การที่สังคมไทยวันนี้สงสัย หรือกล่าวหามีการฆาตกรรมที่มีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจ จึงเป็นสิ่งที่กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานรัฐจะต้องน้อมรับแล้วพิสูจน์ต่อสาธารณชน

 

“กรณีนายธวัชชัย อนุกูล จะเป็นกรณีที่จุดประกายการพัฒนางานด้านยุติธรรม โดยเฉพาะมาตรการควบคุมผู้ต้องหาและการสอบสวนกรณีผู้ต้องหาเสียชีวิตในระ หว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

อย่าลืมนะครับว่าผู้ต้องหาหรือผู้ต้องโทษนั้น หากเขาทั้งหลายจะกระทำผิดกฎ หมายจริง เขาก็จะต้องรับโทษตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าจะกระทำการย่ำยีชีวิตร่างกายเขาได้ตามอำเภอใจ” นพ.เหรียญทองระบุ.