หัวข้อข่าว: “ซีเอซี” ปลื้มยอดบริษัทต้านทุจริตเพิ่ม ผ่านพิจารณาล่าสุด 23 กิจการ ย้ำไม่รับรองพฤติกรรม
ที่มา: ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559
นายบัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) หรือซีเอซี เปิดเผยว่า คณะกรรมการซีเอซี มีมติให้การรับรองบริษัทที่ผ่านกระบวนการประเมินตนเองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริต ภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ซีเอซีกำหนดในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นอีก 23 บริษัท รวมเป็น 200 บริษัท ขณะที่ซีเอซี ก็จะจัดสัมมนาใหญ่ประจำปีในหัวข้อ “Ethical Leadership : Combating Corruption Together” ในวันที่ 18 ต.ค.นี้ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมเสวนา
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีจำนวนบริษัทเอกชน ที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่รับ ไม่จ่าย ไม่ให้สินบน ในการทำธุรกิจตามโครงการซีเอซี รวม 732 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 361 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าตลาดคิดเป็นสัดส่วน 80% ของมูลค่าตลาดรวมของหุ้นทั้งตลาด
นายบัณฑิตกล่าวว่า การที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วม ประกาศเจตนารมณ์ และยื่นขอรับรองจากซีเอซีเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของภาคเอกชนที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ และการที่หน่วยงานกำกับดูแล อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ขณะที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ก็ส่งตัวแทนเข้าไปสอบถามถึงนโยบายและแนวดำเนินการด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน จากผู้บริหารบริษัทต่างๆ ในการประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง
“คณะกรรมการซีเอซี ได้กำหนดกรอบเวลาให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ต้องมีการดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือน เมื่อผ่านการรับรองครบสามปีแล้วต้องยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification)”
ทั้งนี้ ซีเอซีเป็นโครงการที่บริษัทเอกชน เข้าร่วมตามความสมัครใจ
โดยบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการซีเอซี หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการซีเอซี และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการซีเอซีกำหนดซึ่งการรับรองโดยโครงการซีเอซี เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชัน การให้สินบน ทั้งนี้ ไม่ได้รับรองพฤติกรรมของตัวบุคคล