หัวข้อข่าว: ซื้อเก้าอี้…โทษประหารตัดปีกการเมือง
ที่มา: โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
ต้องยอมรับว่าประเด็นทางการเมืองในเวลานี้ นอกเหนือไป จากดราม่าเรื่องการซื้อขายข้าว้ในช่วงราคาข้าวตกต่ำแล้วก็มีการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เกี่ยวกับการจัดทาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ล่าสุดคณะ กรธ.ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงการแก้ไขเนื้อหาอีกไม่มาก คาดว่าจะพร้อมส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทันที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ ขณะเดียวกัน กรธ.เดินหน้าจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ไปบ้างพอสมควรไม่ต่างกัน โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต
ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตโดยตรงทั้งการจัดวางโครงสร้างอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และวิธีการพิจารณาคดีทุจริตที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ
โดยหลักการแล้ว คณะ กรธ.มีเป้าประสงค์ที่ต้องการแบ่งอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่อยู่เดิม เช่น การให้อำนาจไต่สวนการทุจริตเจ้าหน้าที่ระดับล่างเป็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือวางกรอบอำนาจหน้าที่ให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนให้เร็วขึ้น เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความกระชับและไม่ล่าช้าจนเกินไปเหมือนในอดีต ที่ผ่านมา เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านี้ เพื่อให้การปราบปรามการทุจริตทรงพลังมากขึ้น กรธ.ยังมีแนวคิดที่จะเพิ่มโทษกับผู้กระทำผิดถึงขั้นประหารชีวิตด้วย โดยโทษประหารชีวิตจะให้กับกรณีการซื้อขายตำแหน่งในทางการเมืองและราชการ
“หลักการที่ กรธ.วางไว้คือ จะมีโทษเหมือนการทุจริตที่มีโทษถึงประหารชีวิต และเรากำลังคิดว่าจะมีโทษที่เบากว่า อาทิ จำคุกตลอดชีวิตหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่การประหารชีวิตทางการเมือง เพราะเรื่องนี้เป็นคดีอาญา ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับเหตุผลและพฤติการณ์ที่เป็นความผิด เพราะโทษการประหารชีวิตถือเป็นบทลงโทษที่มีอยู่ในกฎหมายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังไม่ใช่ข้อสรุป หากคิดว่าแรงไปก็อาจมีการปรับได้ “มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุแนวคิดของ กรธ.ดังกล่าวนับว่าสร้างความฮือฮาไม่น้อย เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันได้มีการกำหนดโทษประหารอยู่แล้วสำหรับผู้กระทำทุจริต แต่เป็นเฉพาะการทุจริตในกรณีการเรียกรับสินบนเท่านั้น
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 มาตรา 123/2 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต”
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต”
มาตรา 149 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทาการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือ จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต”
หากวิเคราะห์ในทางการเมืองแล้วต้องยอมรับว่าแนวคิดของ กรธ.ที่ว่าด้วยการกำหนดโทษประหารชีวิต นับว่ามีนัยทางการเมืองอยู่ไม่น้อย
กล่าวคือ ตามปกติแล้วอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ คือ การโยกย้ายข้าราชการ ดังจะเห็นได้จากรัฐบาลทุกสมัยเมื่อเข้ามาสู่อำนาจจะดำเนินการจัดกำลังข้าราชการระดับสูงเป็นสิ่งแรก
การโยกย้ายข้าราชการถูกเพ่งเล็งเป็นอย่างมากว่าเป็นบ่อเกิดสำคัญในการวิ่งเต้นเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญด้วยการแลกกับผลประโยชน์บางอย่าง อันเป็นที่มาของการทุจริต
เมื่อ กรธ.ส่งสัญญาณเช่นนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับการเข้ามาจัดการกับการใช้อำนาจทางการเมืองของนักการเมืองไปโดยปริยาย ซึ่งแน่นอนว่าการกำหนดโทษประหาร ย่อมมีผลให้นักการเมืองไม่กล้าใช้อำนาจของตนเองอย่างเต็มที่ เนื่องจากกลัวว่าหากตัวเองใช้อำนาจย้ายข้าราชการ อาจมีบางฝ่ายไม่พอใจใช้เป็นข้ออ้างเพื่อฟ้องกับ ป.ป.ช.ได้
ดังนั้น การเตรียมใช้กฎหมายมาจัดการกับนักการเมืองในครั้งนี้ จึงเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญเพื่อตีกรอบนักการเมืองไม่ให้ขยับตัวและสยายปีกได้เหมือนกับที่ผ่านมา