ดึงอสส.บี้สินบนสายตรงผู้ดีฟันปมโรลส์-รอยซ์

หัวข้อข่าว: ดึงอสส.บี้สินบนสายตรงผู้ดีฟันปมโรลส์-รอยซ์  

ที่มา: แนวหน้า ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

 

ศอตช.เตรียมดึง “อัยการสูงสุด” ร่วมสอบคดีสินบน “โรลส์-รอยซ์” ประสานตรง “อังกฤษ-สหรัฐ” ขอข้อมูลไล่เบี้ยคนผิด พร้อมเปิดทางป.ป.ท.เรียกสอบ คนที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า

 

ที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นประธานการประชุม ศอตช. ติดตามความคืบหน้ากรณีให้สินบนโรลส์-รอยซ์รวมทั้งการพิจารณามาตรการในการป้องกัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

 

โดย นายสุวพันธุ์ เปิดเผยหลังการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการสืบสวนคดีสินบน 5 คดีของ ป.ป.ช. โดยคดีโรลส์- รอยซ์ ที่มีความเกี่ยวพันกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังอยู่ระหว่างการ แสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การตั้ง คณะอนุกรรมการไต่สวน โดยยังต้องรอข้อมูล จาก ป.ป.ช.ประเทศอังกฤษ เพื่อนำมา ประกอบในการสืบสวนเพื่อหาตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนั้นในช่วงระหว่างนี้ จึงสามารถดำเนินเฉพาะในส่วนข้อมูลที่ได้รับจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เช่น ข้อมูลเอกสารประชุม ครม. และมติ ครม. ซึ่งมีข้อมูลเบื้องต้นว่ามีใครบ้างที่เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยในส่วนนี้เมื่อทราบข้อมูลคนที่เกี่ยวข้องแล้ว ป.ป.ท. สามารถเชิญมาให้ปากคำได้ระหว่างที่รอข้อมูลจากต่างประเทศไปพลางๆ ก่อนได้

 

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศอตช. ยังได้เห็นชอบ ให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ใช้อำนาจ หน้าที่ผ่านพ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 เพื่อประสานขอข้อมูลกับผู้ประสานงานกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสืบสวนคดีอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งข้อมูลที่จะได้รับผ่านช่องทางนี้ถือเป็นข้อมูลอย่างทางการ ที่สามารถใช้ดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ทันที

 

“ส่วนคดีสินบนที่เกี่ยวกับการจัดซื้อสายไฟฟ้าเคเบิลของบริษัทเจอเนอรัล เคเบิล คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตและจำหน่ายสายเคเบิล และคดีสินบนสุราข้ามชาติของบริษัทดิอาจีโอ บีแอลซี บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของอังกฤษ ล่าสุด ป.ป.ช. ได้รายงานในที่ประชุมว่า ได้ใช้ข้อมูลเดิมในการสอบสวน จนกระทั่งมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนได้ทั้งคดีแล้ว ส่วนคดีสินบนจัดซื้อกล้องวงจรปิดในรัฐสภา ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการรวบรวมข้อมูล และแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป” รมว.ยุติธรรม กล่าว

 

วันเดียวกันที่รัฐสภา พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานคณะกรรมการ สืบสวน ข้อเท็จจริงกรณีสินบนกล้องวงจรปิด (CCTV) รัฐสภา กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือไปที่ ป.ป.ช., ปปง. และสตง.เพื่อขอตัวแทนจาก 3 หน่วยงาน ให้มาร่วมประชุมกับทางรัฐสภา ซึ่งในส่วนของการขอข้อมูลจากต่างประเทศนั้นจะต้องขอจากทาง ป.ป.ช.เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็มีข้อมูลจากทางตลาดหลักทรัพย์และจากทางกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐระบุว่ามีการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่คนไทยจำนวน 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ

 

พล.อ.อ.วีรวิทกล่าวต่อว่า สำหรับผลการตรวจสอบการจัดซื้อกล้อง CCTV พบว่า การจัดซื้อในช่วงปี 2550-2552 ไม่พบ ความผิดปกติแต่อย่างใด แต่ได้พบข้อพิรุธในการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงปี 2547-2549 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่รัฐสภามี งบประมาณเหลือ คาดว่าเป็นดำริของประธานรัฐสภาในขณะนั้นต้องการที่จะให้มีการจัดซื้อ แต่ทั้งนี้ต้องไปตรวจสอบรายละเอียดกันต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ประธานรัฐสภาที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2547-2549 นั้นมีด้วยกัน 2 คน คือนายอุทัย พิมพ์ใจชน ที่ดำรงตำแหน่งในปี 2544-2548 และ นายโภคิน พลกุล ในปี 2548-2549