หัวข้อข่าว: ถกก.ล.ต.คุมเข้มผู้บริหารบจ. เน้นโปร่งใสนักลงทุนเชื่อมั่น
ที่มา: เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศ ไทย) เปิดเผยว่า ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการป้องกันปัญหาการคอร์รัปชั่นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) เนื่องจาก บจ. เป็นบริษัทขนาดใหญ่มีศักยภาพที่จะประมูลงานในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลและโครงการขนาดใหญ่ของเอกชนได้ เบื้องต้น นายรพี สุจริตกุล เลขา ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล บจ. ยืนยันว่า ก.ล.ต. เข้าไปตรวจสอบพฤติกรรมเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสการดำเนินธุรกิจ หรือผลได้ผลเสียกับผู้ถือหุ้น ของผู้บริหารบริษัทอย่าง เข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ถือหุ้น และภาพลักษณ์ของประเทศไทย
“ปัจจุบันมีกฎหมายต่าง ๆ ที่เข้มงวดในการดูแลไม่ให้ผู้บริหาร บจ. เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในด้านการรับสินบน หรือการจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ แต่ก็ยอมรับว่าคนจะโกงก็จะโกงอยู่ดี แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยเพราะผู้บริหารส่วนใหญ่มีธรรมาภิบาลดี ดังนั้นได้ขอความร่วมมือให้ผู้ถือหุ้น หรือลูกค้าของบริษัท ช่วยกันตรวจสอบหรือแจ้งเบาะแสเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่น”
นายมานะ กล่าวว่า ปัจจุบัน ก.ล.ต. ค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใสของการบริหาร บจ.เป็นอย่างมาก และมีการทำงานร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึง บจ. อีกหลาย ๆ บริษัท ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่นเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา เช่น กรณีของบริษัทโรลส์รอยซ์ ที่ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษว่ามีการจ่ายสินบนในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งได้เกี่ยวข้องกับปตท.และการบินไทย
ทั้งนี้ในอนาคตในส่วนของประเทศไทยอาจจะเป็นผู้ให้สินบนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาคเอกชนได้ค่าปรับและค่าเสียหายมูลค่านับพันล้านบาทหรือหมื่นล้านบาทเหมือนกับในต่างประเทศ ก็เป็นได้หากยังมีพฤติกรรมการให้สินบนอยู่จนเกิดความเสียหายจำนวนมาก ล่าสุดกฎหมายใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็สามารถดำเนินการได้แล้ว และที่สำคัญผู้ถือหุ้นก็จะได้รับความเสียหายอย่างหนักเช่นกัน
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ก็มีการตรวจสอบประวัติผู้บริหารของบจ. หากพบว่ามีคดีที่เกี่ยวกับคอร์รัปชั่นก็ไม่สามารถนั่งในตำแหน่งผู้บริหารแน่นอน รวมทั้งมีการตรวจสอบพฤติกรรมต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากการคอร์รัปชั่น เช่น เรื่องของการเผยแพร่ข้อมูล, การซื้อขายหุ้นจนเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับนักลงทุนทั่วไป เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนรวมถึงจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศด้วย
สำหรับเรื่องของการตรวจสอบนั้นอยากขอความร่วมมือพนักงานในองค์กร หรือผู้ถือหุ้นช่วยตรวจสอบและหากมีความไม่โปร่งใสก็สามารถร้องเรียนมายังหน่วยงานต่าง ๆ ได้ ซึ่งการร้องเรียนมายัง ก.ล.ต. ก็ถือเป็นช่องทางหนึ่ง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจลำดับต้น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหาร เพราะในอดีตช่องทางการคอร์รัปชั่นผ่านรัฐวิสาหกิจมีมากมาย เนื่องจากมีเงินลงทุนที่สูงมาก ซึ่งในอดีตรัฐบาลจะมีหลายพรรคการเมืองเข้ามาบริหาร และแต่ละพรรคก็จะมีโควตาของกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งจะมีรัฐวิสาหกิจรวมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตามสคร.จะมีการส่งตัว แทนหรือตั้งตัวแทนไปเป็นกรรมการหรือ คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจที่ดูแลอยู่
แต่ปัจจุบันสามารถปิดช่องทางในการคอร์รัปชั่นได้มากขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการ นโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ.