ทำดีตามรอยพ่อ

หัวข้อข่าว: ทำดีตามรอยพ่อ

ที่มา: คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง, โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย พิษณุ พรหมจรรยา
ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (
IOD)

 

          นับตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงสัปดาห์นี้ ประเทศไทยและคนไทยทั้งชาติต้องจมอยู่กับความโศกเศร้า และเสียขวัญจากข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รัก และเคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทย ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรมมาตลอดระยะเวลา 70 ปีในรัชสมัยของพระองค์ พระมหากรุณาธิคุณและผลงานด้านต่างๆ ที่พระองค์ได้ทิ้งไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานไทยมีมากมายจนเหลือที่จะบรรยายให้ทั่วถ้วนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้อยู่บนวิถีของการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

          ตลอดเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นตัวอย่างที่ดีแก่พวกเรา ด้วยการทุ่มเทตรากตรำราชกิจโดยไม่ย่อท้อต่อความเหนื่อยยาก สมตาม พระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2493 ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 

          สำหรับพสกนิกรอย่างเราท่าน สิ่งที่พอจะกระทำได้ตามกำลังของแต่ละคน เพื่อแสดงถึงความกตัญญู และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ก็คือการทำหน้าที่ของตนเองให้ครบถ้วนสมบูรณ์บนวิถีแห่งความสุจริต ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ เจ้าของกิจการเอกชน หรือลูกจ้างพนักงานบริษัท

 

          การปฏิบัติหน้าที่ของตนเองโดยสุจริต หมายความรวมไปถึงการไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในภาคราชการก็มีทั้งการรณรงค์ส่งเสริม และกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงแก่ ผู้ที่กระทำความผิด พร้อมทั้งการออกและบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการเอาผิดกับคนที่ทุจริตคดโกงชาติ

 

          ในส่วนของภาคเอกชนก็พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ด้วยการรวมตัวกันในรูปแบบของแนวร่วมปฏิบัติ เพื่อรวมพลังธุรกิจสะอาดของกิจการในประเทศที่ต้องการทำธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยผ่านโครงการความริเริ่มในภาคเอกชน อย่างเช่น แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจสะอาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยมีบริษัทที่มาร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการแล้วถึง 732 บริษัท และในจำนวนนี้มี 177 บริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่ามีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติภายในองค์กรเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นครบตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด

 

          ในการเข้าร่วมโครงการ CAC บริษัทเอกชนสามารถเข้าร่วมได้โดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับ และไม่มีค่าใช้จ่าย ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับ CAC แต่หลังการประกาศเจตนารมณ์แล้ว บริษัทมีพันธะที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้มีการกำหนดนโยบาย แนวปฏิบัติ รวมถึงระบบควบคุมภายในองค์กรเพื่อป้องกันการทุจริตให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด และต้องให้ผู้ตรวจสอบภายนอกทำการสอบทานว่ามีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจริง พร้อมทั้งยื่นหลักฐานยืนยันการดำเนินการเพื่อประกอบการพิจารณาขอรับการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ให้ได้ภายในระยะเวลา 18 เดือน ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทที่มาร่วมประกาศเจตนารมณ์มีการดำเนินการเพื่อกำหนดนโยบาย และมีการนำนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นไปใช้ให้เกิดผลจริง

 

          การดำเนินการของ CAC อาศัยหลักของการรวมตัวกันในภาคธุรกิจเอกชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดยการมุ่งเน้นการทาธุรกิจอย่างโปร่งใสปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้นไม่สามารถทำได้โดยอาศัยคนเพียงแค่หยิบมือ หรือบริษัทแค่สองสามบริษัท แต่ต้องอาศัยจำนวนที่เข้ามารวมตัวกันมากๆ เพื่อก่อให้เกิดพลังที่จะนำไปผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 13 ก.ค. 2533 ความว่า

 

          ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆ คน หลายๆ ทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง และบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน”

 

          ในวันพรุ่งนี้ (อังคารที่ 18 ต.ค. 2559) CAC จะจัดงานสัมมนาประจาปี ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่เจ็ด ในหัวข้อ “Ethical Leadership: Combating Corruption Together” เวลา 10.00-16.00 น. ที่ห้องนภาลัย บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ภายในงานจะมีผู้ทรงคุณวุฒิ และนักธุรกิจชั้นแนวหน้าจากต่างประเทศและในประเทศเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ตรงที่เกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตในภาคเอกชน

 

          นอกจากนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงท้ายของงานสัมมนาในวันนั้นด้วย เพราะฉะนั้นทั้งบริษัทที่อยู่ในเครือข่าย CAC หรือกำลังพิจารณาเข้าร่วม  รวมถึงผู้ที่สนใจเกี่ยวกับงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่นไม่ควรพลาด