หัวข้อข่าว: ธรรมาภิบาล!
ที่มา: คอลัมน์ รู้เรารู้โลก, สยามรัฐ ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล
ตลอดระยะเวลาเกือบตลอดปี เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา “คณะกรรมการธรรมาภิบาล” ซึ่งเป็นคณะกรรมการจากส่วนกลาง ที่ได้จัดตั้งมาอย่างยาวนานประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยจัดให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด” แต่เนื่องด้วยเป็นโครงการใหม่ที่ทุกภาคส่วนยังอาจไม่เคยได้ยิน โดยเฉพาะเป็นการจัดตั้งในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพียงแต่เมื่อจบภารกิจของอดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ ทุกอย่างก็ค่อยๆ จางหายไป
จนในที่สุดมาถึงยุค “รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)”โดยพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาได้รื้อฟื้นให้มีการปลุก”คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด” ขึ้นมาอีกครั้ง โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ซึ่งมอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้ผมในฐานะผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (ศ.ดร.วิษณุเครืองาม) เข้าร่วมจัดโครงการด้วย ในฐานะเป็นนักวิชาการและสื่อมวลชน แต่บังเอิญท่านปลัดฯ เอก ทราบมาว่า ผมเองได้ร่วมก่อตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว จึงขอท่านรองนายกฯ วิษณุให้เข้ามาร่วมช่วยจัดและเป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงบ่าย โดยมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการระดับสูงจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และป.ป.ท. บวกกับผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และรองอธิบดีหรือผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ : DSI) เข้าร่วมพิธีจัดสัมมนาในช่วงบ่าย
การจัดทั้งสิ้นจำนวน 8 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย เริ่มที่จังหวัดพิษณุโลก ตามด้วยเชียงใหม่ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานีขอนแก่น นครปฐม ชลบุรี และสงชลาเป็นต้น จนจบไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อทำการ “ปลุก-ปลูก” ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคราชการส่วนภูมิภาคได้ตื่นตัวกับ”การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ” ในการพัฒนาประเทศไทย พุ่งเป้าไปที่ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า “ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณได้!” เท่ากับเป็นการเตือนและมอบ “ดาบอาญาสิทธิ์” ว่า”การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินต่อแต่นี้ไปต้องระวังการตรวจสอบจากประชาชน!”
ถามว่า “งบประมาณแผ่นดิน” เป็นเงินมาจากไหน ก็ต้องตอบตรงไปตรงมาแบบฟังธงว่า “เงินภาษีของประชาชน” ที่ “เราทุกคนต้องจ่ายภาษีแก่รัฐ” หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็หมายความว่า “เงินภาษีคือเงินเราคนไทยทุกคน” มิใช่เงินมาจากที่ไหนเลยดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีสิทธิในการ “สอดส่อง ตรวจสอบ ดูแล”ยิ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์เชิงวิเคราะห์ว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุจริตคดโกงมากถึงร้อยละ 30-31” และบางแห่ง “อาจสูงถึงร้อยละ 50!” .โอ้แม่เจ้าโว้ย!
ดังนั้น “การรื้อฟื้นคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด”หรือ “ก.ธ.จ.” นั้นนับว่าเป็นการเริ่มต้นเพื่อปลุกและปลูกกระแสให้ประชาชนตื่นตัวและต่อต้านการทุจริตฉ้อราฎร์บังหลวงโดยมีสิทธิครบถ้วนทุกประการ โดยเริ่มต้นอีกครั้งจากรัฐบาลทหาร!
โดยในวันที่ 19 กันยายน 2559 รองนายกรัฐมนตรี (ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการสัมมนาเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลให้กับคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด(ก.ธ.จ.) และเครือข่าย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบแนวคิดของรัฐบาลเกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาชนในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ รับทราบเกี่ยวกับแนวทางในการสอดส่องแผนงาน/โครงการ และการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) การปฏิบัติงานร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานตามอำนาจหน้าที่ของ ก.ธ.จ.ให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการจัดโครงการสัมมนา ก.ธ.จ.และเครือข่ายทั่วประเทศ รวมจำนวน 8 ครั้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2559
การสัมมนา ก.ธ.จ.และเครือข่ายในครั้งสุดท้ายนี้ เป็นการจัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างรวม 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พัทลุ และตรัง มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ธ.จ. หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดสงขลา กรรมการก.ธ.จ. ที่ปรึกษา ก.ธ.จ. ฝ่ายเลขานุการ ก.ธ.จ. เครือข่าย ก.ธ.จ. หัวหน้าส่วนราชการ/ส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งสิ้นจำนวนประมาณ 800 คน
สำหรับเนื้อหาของการสัมมนาฯ ในภาคเช้ามีรองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “บทบาทของภาคประชาชนในการเสริมสร้างธรรมาภิบาล” สำหรับภาคบ่าย เป็นการอภิปรายเรื่อง “การสอดส่องแผนงาน/โครงการและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในพื้นที่” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส) ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (นางประภาศรี บุญวิเศษ) ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ1 (นายนภดล เพชรสว่าง) สำนักงาน ป.ป.ท.ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ (พันตำรวจโท ถวัลย์ มั่งคั่ง) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสงขลา (นายศรชัย ชูวิเชียร)และมีผมครับรองศาสตราจารย์ ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ผู้ช่วยรัฐมนตรี(ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
เพราะฉะนั้นปี 2560 เราต้องทำอย่างแน่นอนเพื่อตอกย้ำให้มั่นคงยิ่งขึ้น!