หัวข้อข่าว: บรรทัดฐานที่เป็นสากล
ที่มา: เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559
จุดแข็งที่นับเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ การจัดระเบียบสังคม จะเห็นว่าหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต สามารถขจัดและป้องกันความขัดแย้ง ช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุข มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทว่า กระบวนการจัดระเบียบสังคมนั้นจะเห็นผลสัมฤทธิ์ได้ เนื่องเพราะเกิดการปฏิบัติตามบรรทัดฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับ มีสถานภาพชัดเจน การแสดงบทบาทเป็นไปอย่างเหมาะสม และมีข้อกำหนดกระบวนการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่สมาชิกในสังคมให้การยอมรับ
กรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่าใช้จ่ายการเดินทางไปประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน-สหรัฐอเมริกา อย่างไม่เป็นทางการ แม้จะได้รับคำชี้แจงจากนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมทั้งคำยืนยันของ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ว่า การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างโปร่งใส ปฏิบัติตามระเบียบราชการและข้อบังคับของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทางราชการ ประเทศชาติและภูมิภาค กระนั้นสังคมอาจยังกังขาถึงความเหมาะสม โดยเฉพาะการปกปิดรายชื่อผู้ร่วมคณะอ้างเรื่องความมั่นคง ซึ่งเป็นแขกวีไอพีหรือไม่ ยิ่งทำให้เสียงครหาดังตามมา
การสร้างบรรทัดฐานทางสังคมอันเป็นแบบแผน กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือมาตรฐานในการปฏิบัติตาม หรือห้ามมิให้ปฏิบัติของคนในสังคม หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีความชัดเจนและความแน่นอน จะเห็นว่าหลายประเด็นที่เกิดขึ้นกับ “คนใกล้ตัว” ของรัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ ล้วนเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยง แม้ไม่มีข้อห้ามหรือมีข้อกำหนดแต่ ไม่ครอบคลุมถึง เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในแง่คุณธรรมจริยธรรมของตัวบุคคลแล้ว ก็อาจเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของผู้คนในสังคมยิ่ง
เราเห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับการปฏิรูป ทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ขจัดปมขัดแย้ง หรือ สิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมาะในอดีต ให้ดี ให้เหมาะในวันนี้และวันข้างหน้า ให้เกิดความชัดเจน แน่นอน จึงควรมอบหมายให้องค์กรเกี่ยว ข้องกำหนดหลักและแนวปฏิบัติ เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่เป็นสากล เป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะขนาดเป็นรัฐบาลในสถานการณ์พิเศษยังถูก “จับผิด” เช่นนี้ ในอนาคตมีรัฐบาลที่มาจากนักการเมือง เลียนแบบเอาอย่าง อาจบ่มเพาะความขัดแย้งกลับมาใหม่ แม้การ ยกเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นบรรทัดฐานถือปฏิบัติตาม มิใช่ยกขึ้นกล่าวอ้างตามใจ หากต้องพิจารณาภายใต้ข้อจำกัดว่ากรณีที่เกิดนั้น มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างเดียวกับกรณีที่ยกขึ้นเป็นบรรทัดฐาน หรือไม่.