หัวข้อข่าว: บินไทยฉาวพันล้าน โรลส์รอยซ์แฉจ่ายใต้โต๊ะซื้อเครื่องยนต์3ครั้ง ให้อดีตข้าราชการ-พนักงานที่มา: โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560
บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตยานยนต์และอากาศยานจากอังกฤษ บรรลุผลเจรจายอมความกับสำนักงานสืบสวนการฉ้อฉลรุนแรงของสหราชอาณาจักร (เอสเอฟโอ) ในคดีการขายเครื่องยนต์ไม่โปร่งใส ซึ่งนำไปสู่การติดสินบนใหมใน 7 ประเทศ เช่น ไทย จีน อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ด้วยการจ่ายค่ายอมความรวม 671 ล้านปอนด์ (ราว 2.8 หมื่นล้านบาท) ให้ซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ รวมถึงประเทศไทยในระหว่างปี 2534-2548
การจ่ายค่ายอมความดังกล่าวเป็นการจ่ายให้เอสเอฟโอ 497 ล้านปอนด์ (ราว 2 หมื่นล้านบาท) และจ่ายให้กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ 170 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6,000 ล้านบาท) รวมถึงจ่ายให้กับทางการบราซิลอีก 26 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 917 ล้านบาท)
ทั้งนี้ เอสเอฟโอเข้าสืบสวนการซื้อขายเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ให้กับการบินไทยจำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการซื้อขายเครื่องยนต์ ที-800 ในเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 777 ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2534-30 มิ.ย. 2535 ซึ่ง โรลส์-รอยซ์ จ่ายค่านายหน้าคนกลางให้หน่วยงานหนึ่งเป็นเงิน 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 663 ล้านบาท) และเงินดังกล่าวมีการนำไปให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย เพื่อช่วยให้โรลส์-รอยซ์ ชนะการเสนอขายดังกล่าว
สำหรับครั้งที่สอง โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงิน 10.38 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 336 ล้านบาท) ระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 2535-31 มี.ค. 2540 ให้นายหน้าคนกลาง ซึ่งนำเงินดังกล่าวบางส่วนไปให้พนักงานการบินไทย ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2547-28ก.พ. 2548 โดยโรลส์-รอยซ์จ่ายเงินให้กับคนกลาง 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 254 ล้านบาท) ซึ่งมีเงินบางส่วนตกไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย
ด้าน นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย ว่า บอร์ดได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงอดีตฝ่ายบริหารและอดีตบอร์ดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดหาเครื่องยนต์เครื่องบิน กรณี บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์ใช้สำหรับเครื่องบิน สหราชอาณาจักร ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการ ทุจริต (Serious Fraud Office : SFO) ว่ามีการจ่ายสินบนให้กับหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยระหว่างปี 2534-2548
“การบินไทยจะเร่งรวบรวมและสืบหาข้อเท็จจริง เบื้องต้นจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน และยืดเวลาตรวจสอบได้เป็น 60 วัน และ 60 วัน ตามกฎหมาย” นายจรัมพร กล่าว
นายจรัมพร กล่าวว่า หากสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ได้ข้อมูลการบินไทยจะไม่นิ่งเฉย เพราะข้อมูลเฉพาะการระบุปีที่รับผิดชอบมันสามารถตรวจสอบได้เลยว่าช่วงนั้นเวลานั้นใครรับผิดชอบบ้าง
ด้าน ร.อ.กนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ระบุว่า การบินไทยมีระเบียบสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร และอดีตผู้บริหาร แม้จะเกษียณ หรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม