หัวข้อข่าว ปชป.รุมสับอภิรดี บี้ให้เซ็นคดีข้าว จตุพรชี้จ่อเชือด40อดีตส.ส.พท.
ที่มา; ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559
รุมทึ้ง “อภิรดี” ปชป.-กปปส.กระเหี้ยนกระหือรือ บี้ให้ลงนามคำสั่งปมจำนำข้าว “วรงค์” เฉ่งตัดสินใจล่าช้าโยกโย้ ใจไม่ถึง ยกปลัด พณ.ทำงานดีกว่า ใจกล้าว่องไว “กษิต ภิรมย์” จัดหนักซัดไม่อยากทำหน้าที่ ก็ลาออกไปดีกว่า “ปนัดดา” วอนใจเย็นๆ ขอความเห็นใจให้ ขรก.ที่ต้องทำงานบนความรอบคอบ “เหวง” ชี้คนกระทรวงพาณิชย์กระอักกระอ่วนลงนาม หวั่นมีมลทินติดตัว แดกดันให้ใช้มาตรา 44 ยึดทรัพย์ให้จบๆไปเลย ด้าน “จตุพร” ฟันธง 40 อดีต ส.ส.คิวถัดไป หลัง “สุกำพล” ถูกเชือด หลังจากนั้นอีกกว่า 300 คน ส่อตายหมู่ ย้อนนายกฯก่อนจะรื้อล้างบาง ต้องชำระจิตใจตัวเองให้สะอาดก่อน สปท.ยังปวดหัวตึ้บเลือกไขว้ ส.ว. อัดเละวิธีของคนไร้ปัญญาตาบอด โพลหนุนแจกใบเหลือง-ส้ม-แดง-ดำ ชี้โทษรุนแรงทำคนทุจริตขยาด “ถาวร” ทายล่วงหน้าพรรคหนุน คสช.ชนะเลือกตั้ง ชี้ ปชป.จับมือ คสช.ง่ายกว่าไปจับมือ พท.
เป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับการสืบสาวเอาผิดคดีที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ภายหลังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ถูกฝ่ายการเมืองพุ่งเป้าโจมตี ถึงความล่าช้าในการลงนามคำสั่งทางปกครอง เรียกค่าเสียหายการทุจริตขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)
ปชป.ตามจิก “อภิรดี” ปมจำนำข้าว
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง “เรื่องของสุภาพสตรีสองท่านในกระทรวงพาณิชย์” ว่า “ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากผมต้องเป็นหูเป็นตาให้กับประชาชนในโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะเมื่อถึงขั้นตอนการลงนามคำสั่งทางปกครอง จึงต้องติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิดมากขึ้น และรู้จักทั้งสองท่านนี้ดีขึ้นผ่านสื่อ กระทั่งมีข่าวว่าวันที่ 16 ก.ย.นี้ ท่านรัฐมนตรีพาณิชย์ยอมลงนามแทนท่านนายกฯ ส่วนท่านปลัดกระทรวงก็ลงนามแทนท่านรัฐมนตรี เรามาดูการทำงานของท่านรัฐมนตรีอภิรดี ตันตราภรณ์ เท่าที่ติดตามเฉพาะเรื่องการลงนามคำสั่งทางปกครองคดีการระบายข้าวแบบจีทูจี นายกฯมอบอำนาจมาตั้งแต่เดือน ก.ค. มีกระแสข่าวว่าโยกโย้ไม่กล้า จนผมต้องออกมากระตุ้นหลายรอบ ล่าสุดวันที่ 16 ก.ย. รมว.พาณิชย์บอกกับสื่อว่า ได้มีการลงนามในคำสั่งทางปกครองแทนนายกฯแล้ว และให้ปลัดกระทรวงลงนามแทนตนเอง แต่ถึงวันนี้ 17 ก.ย. เท่าที่ผมตรวจสอบ รัฐมนตรีก็ยังไม่ได้ลงนาม”
อวยปลัด พณ.กล้าหาญว่องไว
นพ.วรงค์ระบุว่า “ส่วนการทำงานของท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ คุณชุติมา บุณยประภัศร เคยไปเป็นพยานให้ปากคำคดีการระบายข้าวแบบจีทูจีต่อศาลฎีกาของนักการเมือง ให้ปากคำชัดเจนถือว่า เคลียร์และเห็นภาพ และได้ลงนามแทนรัฐมนตรีในวันที่ 16 ก.ย. หลังมีหนังสือมอบอำนาจมาให้ ก็ลงนามทันทีในบ่ายวันนั้น ทั้งที่ตนเองจะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือน ก.ย.นี้ นี่คือบทสรุปของสุภาพสตรีสองท่านแห่งกระทรวงพาณิชย์ ผมก็หวังว่าท่านรัฐมนตรีอภิรดีก็น่าจะดำเนินการลงนามให้เรียบร้อย เพราะยิ่งช้าท่านยิ่งเสีย ส่วนท่านปลัดกระทรวง ผมคิดว่าประชาชนคนไทยชื่นชมภาวะผู้นำของท่าน สภาพของประเทศขณะนี้ ผมเชื่อว่าคนไทยต้องการคนอย่างท่านมาช่วยทำงานให้ประเทศ”
“กษิต” เย้ย “อภิรดี” ลาออกดีกว่า
นายกษิต ภิรมย์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการ ปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมแนบไฟล์ข่าวและภาพของนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เรื่องการเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ว่า เช้านี้ได้อ่านข่าวหนึ่งบนหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วรู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากมีการนำเอาคำว่า “ฉันไม่ได้เป็นนักการเมือง” มาอ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการทำหน้าที่ มนุษย์เรานั้นมีทั้ง “บทบาท” และ “หน้าที่” โดยการเป็นนักการเมืองหรือไม่ คือบทบาท ส่วนการดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือว่า ย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย บางครั้งมีคนที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองเข้ามารับตำแหน่ง โดยที่ตำแหน่งสูงสุดอย่างนายกรัฐมนตรีก็มีมาแล้ว ดั่งที่เราเรียกกันติดปากว่า “คนนอก” ดังนั้นมีความเห็นว่า ถ้าบุคคลระดับรัฐมนตรี ที่ควรจะเป็นตัวอย่างของสังคม ไม่อยากทำหน้าที่ของตน ก็ควรลาออกจาก ตำแหน่งเสีย เพื่อคนอื่นจะได้มารับตำแหน่ง และทำหน้าที่แทน ขอทิ้งท้ายไว้ว่า สังคมใดก็ตามที่ “ผู้มีหน้าที่ ไม่ทำหน้าที่ของตน” สังคมนั้นก็จะวุ่นวายและยุ่งเหยิง
“ปนัดดา” ขอความเห็นใจ ขรก.
ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายมองการเรียกร้องค่าเสียหายการทุจริตขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มูลค่าเสียหาย 20,000 ล้านบาทล่าช้า เพราะ รมว.พาณิชย์และปลัดกระทรวงพาณิชย์ ไม่กล้าลงนามคำสั่งทางปกครอง เนื่องจากเกรงต้องมารับผิดชอบภายหลังว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่างปลัดพาณิชย์ในฐานะข้าราชการประจำต้องมีความรอบคอบ ระมัดระวัง ต้องศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนลงนาม ไม่ใช่ผลีผลาม จะไปตำหนิปลัดพาณิชย์ไม่ได้ เมื่อถามว่า มองอย่างไรการที่หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งคุ้มครองเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่สุจริต ไม่ต้องถูกดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา แต่ข้าราชการยังไม่มั่นใจ ม.ล.ปนัดดาตอบว่า แต่ละคนมีเหตุผลแตกต่างกันไป ไม่ใช่หวาดกลัวอะไร แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองต้องมีวิจารณญาณ การรับราชการมาหลายสิบปีจนจะเกษียณต้องจบลงด้วยดี
นปช.ยุใช้ ม.44 ยึดทรัพย์ไปเลย
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า เรื่องใช้อำนาจปกครองยึดทรัพย์ค่าเสียหายจากการขายข้าวแบบจีทูจี แม้แต่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ยังไม่กล้าลงนามเอง มอบอำนาจให้ น.ส.ชุติมา บุญยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามแทน จากคำให้สัมภาษณ์ของ รมว.พาณิชย์ เห็นได้ชัดถึงความคลุมเครือในการใช้อำนาจดังกล่าว ปลัดกระทรวงพาณิชย์เหลือเวลาทำงานไม่ถึงสองสัปดาห์ จะเกษียณจะยอมลงนามหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าใครจะยอมทำเรื่องที่เสื่อมเสียในเวลาที่เหลือไม่ถึงสองสัปดาห์ อีกทั้งยังมีรายงานข่าวว่า ว่าที่ปลัดคนใหม่กล่าวกับคนใกล้ชิดว่าหลังเข้ารับตำแหน่ง ถ้ามีการบังคับให้ลงนามเรียกค่าเสียหายข้าวจีทูจี อาจถอดใจลาออก เห็นได้ชัดว่าข้าราชการประจำกระทรวงพาณิชย์ รู้เต็มอกว่าเรื่องนี้ไม่เข้าข่ายที่จะทำได้ตามกฎหมาย ทั้งหมดประจานว่าเป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่เพื่อเอาให้ตายให้ได้ ทำไม คสช.ไม่รอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาออกมาก่อน แล้วค่อยบังคับเอาในเรื่องค่าเสียหายหรือ คสช.กลัวว่าศาลอาจจะพิพากษายกหรือไม่ ถ้า คสช.จะเอาให้สาแก่ใจจริงๆก็เดินหน้าใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จของรัฏฐาธิปัตย์ตามมาตรา 44 ประกาศยึดทรัพย์ไปเลย แต่ยึดทรัพย์ไปแล้ว ประชาชนไทยเขาจะตอบรับอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ย้อนศรให้ยึดทรัพย์แก๊ง ปรส.บ้าง
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรค เพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ให้อำนาจกรมบังคับคดียึดทรัพย์ในความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าวว่า หากเป็นเช่นนี้ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้คำสั่งทางปกครองยึดทรัพย์พวกที่เกี่ยวข้องในคดี ปรส.ที่มีมูลค่าความเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาทด้วย เพราะตัวละครที่เกี่ยวข้องก็ติดคุกไปแล้ว ไม่เข้าใจเลยว่าในคดี ปรส.นั้น ผู้กำหนดนโยบายกลับไม่โดน มีเพียงผู้ปฏิบัติที่โดน ต่างจากคดีจำนำข้าว ที่ผู้กำหนดนโยบายโดนเล่นงานมากขนาดนี้ น่าแปลกที่ประเทศนี้ใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน แต่การดำเนินการ กลับสองมาตรฐาน หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ถือว่ามีเจตนาเล่นงานแต่คนของพรรคเพื่อไทยฝ่ายเดียว ในส่วนของอดีต 40 ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการสอบสวนเอาผิดกรณีเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ นั้นยืนยันว่าไม่หนักใจเพราะเราทำตามหน้าที่ ทำตามข้อบังคับของสภาฯ หาก ป.ป.ช.ขยายขอบเขตตรวจสอบ ก็ชัดเจนว่า ป.ป.ช.มีเจตนาทำลายพวกเรา ทำแบบนี้ประเทศก็มีแต่ความขัดแย้งไม่จบสิ้น