หัวข้อข่าว: ปปช.ไม่เคยเลือกปฏิบัติ มาตรฐานเดียวใช้ทุกรัฐบาล
ที่มา: โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัยและเกษรา กุมภาพันธ์
สรรเสริญ พลเจียก ปปช.ไม่เลือกปฏิบัติสอบทุกรัฐบาล
เวลานี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังเป็นหมู่บ้านกระสุนตก เพราะถูกฝ่ายการเมืองบางกลุ่มโจมตีอย่างหนักถึงเรื่องมาตรฐานในการทำงาน ภายหลังเพิ่งมีการตั้ง คณะอนุกรรมการไต่สวนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีการบริหารจัดการน้ำ เมื่อปี 2554
ผลของเรื่องดังกล่าว นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่พุ่งเข้าไปใส่ ป.ป.ช. ในโอกาสนี้โพสต์ทูเดย์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “สรรเสริญ พลเจียก” เลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อรับฟังแนวทางการทำงานที่แท้จริงของ ป.ป.ช.อย่างเป็นทางการ รวมไปถึงการวางแผนการปฏิรูปเพื่อสร้างกลไกการป้องกันและปราบการทุจริตในอนาคต
เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยันหนักแน่นว่า ป.ป.ช.ตรวจสอบทุกรัฐบาล ไม่มีการเลือกปฏิบัติว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดใด แต่ผลการตรวจสอบแต่ละคดีจะออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานตรวจสอบทุกรัฐบาล
“ต้องเรียนอย่างนี้นะว่า คดีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ต่อเนื่องกันมา จริงๆ ป.ป.ช.ก็ทำทุกคดีนั่นแหละ แล้วก็ไม่มีจำกัดด้วยว่าคดีไหนจะเสร็จก่อน จะเสร็จเร็ว อะไรก็แล้วแต่ มันขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานทั้งนั้นเลยนะครับ ถ้ามันเป็นคดีที่มันต้องหาพยานหลักฐานยุ่งยากหรือเอกสารมันหาไม่ได้ ระยะเวลามันอาจต้องเพิ่มเติม
“ในคดีของคุณยิ่งลักษณ์เนี่ย เนื่องจากว่าห้วงระยะเวลาที่เราทำมา ตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดก่อน ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากโดยเฉพาะการแก้ข้อกล่าวหา และท่านก็ชี้แจงเอาพยานหลักฐานมา และสืบเนื่องมาถึงห้วงเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่เข้ามารับลูกต่อ พอแบบเนี้ยมันก็เลยกลายเป็นว่าเราทาเฉพาะแต่คดีพวกนี้เหรอ จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่นะ คดีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็วินิจฉัยไปหลายคดี แต่ว่ามันก็ต้องอยู่ที่ว่าอะไรมันมีมูล อะไรมันไม่มีมูลนะครับ
“ป.ป.ช.อาจจะไม่ค่อยได้เปิดเผยรายละเอียดพวกนี้มากนัก มันก็อาจเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้สังคมเขาอาจจะมองว่าทำไมถึงทำอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างกรณีของท่านสุภา (สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.) ก็ถูกโจมตีว่าทำไมคุณเอาท่านสุภามาทำคดีท่านยิ่งลักษณ์อย่างเดียว จริงๆ แล้วไม่ใช่นะ แต่เป็นเพราะท่านสุภาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีที่เกี่ยวกับการเมืองต่อจากท่านวิชา (วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.) ทุกเรื่องที่ค้างอยู่ก็ต้องทำให้หมด ท่านสุภาก็ไม่ได้เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนทุกคดี”
สรรเสริญ ระบุว่า ต่อไป ป.ป.ช.อาจต้องชี้แจงให้สังคม ชี้แจงให้สื่อทราบมากขึ้น ว่าในการทำงานของเราเป็นอย่างไร แต่กล่าวโดยสรุป ณ เวลานี้ คือ เราทาทุกคดีไม่ได้เลือกปฏิบัติอย่างแน่นอน โดยทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและหลักฐาน
“สรุปคือมันขึ้นอยู่กับพยาน หลักฐาน ถ้ามันไม่มีพยานหลักฐาน จะให้ ป.ป.ช.ไปกล่าวหาเขาลอยๆ มันก็ไม่มีทาง ที่นี่เขาก็ไม่ทำกัน นักกฎหมายเขาก็ไม่ทำหรอกครับ ที่จะไปกล่าวหาใครโดยไม่มีพยานหลักฐานนะครับ แต่ยังมีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจ และไปกล่าวหาว่าจะเป็นการทำลายความ น่าเชื่อถือ เช่น กรณีที่มีอดีต 40 สส. (ผู้ถูกกล่าวหาในคดีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) มาร้องเรียนกับ ป.ป.ช. เป็นต้น ซึ่งขอทำความเข้าใจ ว่าเรื่องนี้เป็นการดำเนินการตั้งแต่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเก่า มันไม่ใช่เพิ่งเกิดมาเริ่มทำคดีในช่วงที่มีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่”คสช.ก็โดน ปปช.สอบ
ป.ป.ช.ได้เข้าไปตรวจสอบปัญหาความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นระหว่างการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บ้างหรือไม่อย่างไร? สรรเสริญ ตอบว่า “ดูหมดแหละครับ ทุกเรื่องเลย ไม่ว่าจะเป็นที่ผ่านมา อย่างโครงการอุทยานราชภักดิ์ คือถ้ามันเป็นเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการทุจริตหรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติมันก็อยู่กับเราหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนสมัยใดเราก็ต้องทำหมด เพียงแต่ว่าทาแล้วเรื่องใดที่มันมีมูลหรือเรื่องใดที่มันไม่มีมูลเท่านั้นเองนะครับ
“ถ้ามันไม่สามารถหาพยานหลักฐานจนกระทั่งเห็นได้ว่าเรื่องมันมีมูล มันก็ไม่สามารถไปดำเนินคดีได้ แต่เรื่องใดที่มันมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีก็ต้องมีระเบียบดำเนินคดีนะครับ กรรมการ ป.ป.ช.แต่ละท่านเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีวุฒิภาวะทั้งด้านตำแหน่ง ทั้งด้านการงานอะไรมาสูง เขาคงไม่เอาไอ้ตัวชื่อเสียงเกียรติยศอะไรทั้งหลายแหล่มาทิ้งกับเรื่องแบบนี้หรอก
“ผมมองในมุมของผม แล้วผมก็สัมผัสกรรมการ ป.ป.ช.หลายท่าน ในฐานะที่ผมเป็นเลขาฯ ในที่ประชุม ผมก็จะเห็นวิธีการทำงานของกรรมการในแต่ละท่าน ท่านก็ต้องมาดู ไม่มีหรอกที่จะบอกว่าไอ้โน่นไม่ผิด ต้องเอาให้ผิดให้ได้ กรรมการ ป.ป.ช.มี 9 คนนะครับ ไม่ได้มีคนเดียว ถ้าคนใดจะดึงดันเอาผิดหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ในเมื่ออีก 7 ท่าน 8 ท่านนั้นไม่เห็นด้วย มันก็จบไป หรือแม้แต่ถ้าบางท่านบอกว่าไม่ผิด แต่อีก 7 ท่าน ท่านเห็นด้วยว่าผิด ท่านก็ต้องยอม ใช่ไหม มันก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการของการลงความเห็นทางกฎหมาย”
ปฏิรูปล้างวงจรอุบาทว์
หลังจากสนทนาถึงเรื่องไต่สวนคดีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ป.ป.ช.แล้ว มาถึงจุดนี้จึงเข้าสู่การพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปการทำงานของ ป.ป.ช.เพื่อนำไปสู่การปราบปรามการทุจริตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
สรรเสริญ ให้มุมในเชิงหลักการว่า ปัญหาที่ผ่านมาซึ่งสร้างความเสียหาย ต้องยอมรับว่ามีสาเหตุจากนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการหาประโยชน์ให้กับตนเองหรือพรรคพวก
“นโยบายสาธารณะที่อ้างว่าทำเพื่อประโยชน์กับประชาชน แต่ว่าประชาชนได้จริงๆ ก็จะเป็นเศษของเงินงบประมาณเท่านั้นเอง หรือการออกกฎหมาย เพื่อประโยชน์บางประการ และที่สำคัญเกิดการซื้อขายตำแหน่ง นักการเมืองเขาก็เอาพวกของเขามาคุมกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ข้าราชการที่อยากจะเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง โดยที่ไม่ถูกต้องและไปตอบสนอง เพื่อไปตอบสนองนักการเมือง จึงทำให้การทุจริตเกิดขึ้น วงจรพวกนี้เป็นวงจรอุบาทว์”
สำหรับมาตรการที่ ป.ป.ช.เตรียมนำมาใช้ คือ
การกำหนดกรอบเวลาการทำงานของ ป.ป.ช.ให้ชัดเจน และการเพิ่มหลักใหม่ไปในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เตรียมเสนอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
ซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ช. เชื่อว่า ถ้า ป.ป.ช.มีกรอบเวลาการทำงานจะเป็นการป้องปรามไม่ให้คนกล้ากระทำทุจริตไปในตัว
“ถ้าเป็นคดีทั่วไปที่ไม่มีความสลับซับซ้อนมากนัก เราตั้งเป้าหมายแต่ละคดีต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี คำว่าคดีทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น การ จัดซื้อจัดจ้าง การฮั้วคดีปิดรัฐปกปิด ประกวดราคาก็ดี หรือว่าเรียกรับเงินตรวจรับงานก็ดี
“แต่ถ้าเป็นกรณีที่สลับซับซ้อนมันก็ใหญ่ขึ้นมาหน่อย คือ ระดับของอธิบดีในเรื่องของการบริหารจัดการโครงการที่มีหลักเป็น 10 ล้าน 20 ล้าน หรือ 100 ล้านขึ้นไป และมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกรอบระยะเวลา 1 ปี ก็คงต้องยกเว้นไป เพราะมันมีหลายประเด็นที่กล่าวหา อย่างเช่น ทุจริตเป็นสิบๆโครงการในคนเดียวกัน อย่างนี้ก็ไม่สามารถที่จะทำทุกโครงการไปได้ภายใน 1 ปี มันอาจจะต้องมีข้อยกเว้นหรือข้อจำกัด แต่โดยทั่วไปแล้วเราวางไว้ว่าต้องทำให้เสร็จใน 1 ปี
“อย่างไรก็ตาม เราละเลยเรื่องสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เลย เพราะเราต้องให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหา เช่น การคัดค้านคณะอนุกรรมการไต่สวน การให้เขามาตรวจดูเอกสาร การตั้งทนายความ การอ้างพยาน ต่อไปถ้าการพิจารณาคดีทำได้เร็วจะเป็นมาตรการในการป้องปราม เพราะสมัยก่อนคนไม่ค่อยกลัว ป.ป.ช.ไต่สวน เรื่องส่งไปอัยการและ ศาล กว่าจะเสร็จก็ใช้เวลาเกือบ 10 ปี แต่ถ้าต่อไปมีกรอบเวลาชัดเจน เชื่อว่า ภายใน 2-3 ปี ทุกๆ คนก็ต้องระวัง คิดหนัก และอาจจะต้องเลิกคิดในเรื่องของการคอร์รัปชั่นไปเลย” เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุ
“ต้องเรียนอย่างนี้นะว่าคดีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ต่อเนื่องกันมา จริงๆ ป.ป.ช.ก็ทำทุกคดีนั่นแหละแล้วก็ไม่มีจำกัดด้วยว่าคดีไหนจะเสร็จก่อนจะเสร็จเร็ว อะไรก็แล้วแต่มันขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานทั้งนั้นเลยนะครับ”
วางหลักการใหม่ สร้างประเทศโปร่งใส
ส่วนเรื่องการจัดทาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือการทำงานที่สำคัญของ ป.ป.ช. เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า จะเป็นการจัดทำใหม่ทั้งฉบับและส่งให้ กรธ. โดยจะคงหลักการเดิมเอาไว้ แต่จะเพิ่มหลักการใหม่เข้าไป
“หลักการใหม่ เช่น เรื่องการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ถ้าคุณเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็แล้วแต่ คุณต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองกับต้นสังกัดเอาไว้ เริ่มตั้งแต่เข้ารับราชการ แล้วก็กำหนดว่าภายใน 3 ปี หรือ 5 ปี ยื่นอีกครั้ง ในช่วงระยะ 3 ปี ถึง 5 ปีเนี่ย ต่อมาถ้าคุณมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือเลื่อนตำแหน่งก็ต้องแจ้ง วัตถุประสงค์ของการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นการป้องปรามเจ้าหน้าที่ของรัฐ
“ในเบื้องต้น ป.ป.ช.จะไม่เข้าตรวจ แต่จะตรวจเมื่อมีเหตุสงสัย เช่น มีการร้องเรียนเข้ามาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐท่านนั้นท่านนี้มีพฤติการณ์ที่ร่ำรวยผิดปกติ มีพฤติการณ์ที่ใช้ชีวิตที่มันฟุ่มเฟือย หรูหราเกินกว่าฐานะ หรือตำแหน่ง เราก็อาจจะขอบัญชี เขามาดู แบบนี้จะเป็นการตรวจเชิงคุณภาพ จากเดิม ณ เวลานี้เราตรวจรับแต่ปริมาณมากกว่า ซึ่งในระยะยาวอาจนำมาตรการเรื่องภาษีเข้ามา ช่วยตรวจสอบเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย”
เครื่องมือที่จะทำให้การป้องกันปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพนั้น ในทัศนะของเลขาธิการ ป.ป.ช. คิดว่าไม่ได้อยู่ที่กฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องสร้างทัศนคติใหม่ให้กับคนในสังคมที่ต้องมองว่าการทุจริตเป็นเรื่องที่ไม่สามารถรับได้
“ก่อนที่จะมีกฎหมายเนี่ย พื้นฐานของคนเนี่ย มันจะต้องแยกแยะได้ว่าอันนี้ของเรา อันนี้ของหลวง อันนี้ของส่วนรวม คุณจะไปแตะต้องไม่ได้ คนมาทำส่วนรวมให้ของหลวงเสียหาย คุณต้องเป็นพยานไปชี้ว่า เอ้ย คุณทาไม่ถูก คุณทำผิดนะครับ พื้นฐาน การที่จะปลูกฝังอย่างนี้เราก็คงต้อง ทำเป็นชุดองค์ความรู้ คือปลูกฝังตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับอนุบาลก็เรียนง่ายๆ เรียนก็ไม่ได้เรียนยากอะไร ก็ให้เขาเล่น ให้เขารู้ว่าอันนี้ไม่ใช่ของเขา อันนี้ไม่ใช่ หรือกรณีที่โตขึ้นมาหน่อย อาจจะดูในเรื่องของประโยชน์สาธารณะ เช่น เดินไปเห็นใครเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ ก็ไปปิด เพื่อไม่ให้ทรัพย์สินของทางราชการที่เป็นเงินภาษีของพวกเราสูญเสียไป
“เริ่มจากจุดเล็กๆ ไปที่จะทำให้เขารู้ว่าอะไรคือพื้นฐานทางคุณธรรมจริยธรรม โตขึ้นมาหน่อยจนกระทั่งก่อนที่จะออกมาทำงาน ก็ต้องให้รู้ในเรื่องของว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ อย่าไปบอกว่าใคร คนอื่นเขาก็ทำกัน ความคิดแบบนี้ต้องเลิก เพื่อสร้างสังคมที่เรียกว่าสังคมไม่ทนกับการคอร์รัปชั่น แล้วเราก็พยายามที่จะปรับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่โปร่งใสและใสสะอาด”เลขาธิการ ป.ป.ช. ทิ้งท้าย