หัวข้อข่าว: ปปท.แฉปลอมลายเซ็น’ถนนผี’ ซัดส่อทุจริต-จ่อฟัน’อบต.สามัคคี’ ตั้งฎีกาเบิกซ้ำซ้อน-เอื้อผู้รับเหมา
ที่มา: มติชน ฉบับวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559
จากกรณีภาคประชารัฐจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้องเรียนกล่าวหาโครงการซ่อมแซมถนนขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ เป็นโครงการซ่อมแซมถนนลูกรังแบบกินเปล่า บางโครงการไม่มีถนน แต่เขียนโครงการเบิกจ่ายตั้งแต่ปี 2552-2559 ทำให้สูญเสียงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สตง., ป.ป.ท.และ ป.ป.ช.ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบค่าประมาณการค่าหินลูกรังแพงกว่าท้องตลาด 30% นั้น
ล่าสุด นายทองสุข ณ พล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 4 (ขอนแก่น) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่และตรวจสอบโครงการล่าสุด ปีงบประมาณ 2558-2559 ก่อน พบว่ามีการโครงการซ่อมแซมถนนลูกรังทั้งหมด 16 โครงการ รวมเป็นเงินงบประมาณเกือบ 2 ล้านบาท โดยการซ่อมแซมทาง อบต.สามัคคีได้ตั้งงบประมาณไว้ในหมวดซ่อมแซมใช้จ่ายและซื้อวัสดุ แต่การตั้งงบไว้ไม่เพียงพอ จึงมีการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปอยู่ในหมวดรายจ่ายอื่นๆ และนำเงินไปซ่อมแซมถนนลูกรัง โดยอ้างความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งตามระเบียบจะต้องมีการร้องขอจากประชาชนและถนนเกิดความชำรุดเสียหาย แต่จากการตรวจสอบกลับพบว่าถนนที่ซ่อมไม่ได้ชำรุดและไม่มีความเสียหายมากนัก ที่สำคัญคือจากการตรวจสอบลายมือชื่อเบื้องต้นกับผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9,10,11,12 พบว่าลายเซ็นไม่เหมือนกัน และผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนเซ็นชื่อในเอกสารร้องขอให้ซ่อมถนน ดังนั้น ถือเป็นการปลอมลายเซ็น
“จากการสุ่มตรวจสอบยังพบว่าถนนลูกรังบ้านนาเรียง หมู่ 10-หนองไห ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่มีชื่อถนนในใบฎีกาเบิกเงิน พบว่าไม่มีถนนสายดังกล่าวในพื้นที่ ซึ่งเป็นเหมือนถนนผีตามที่ชาวบ้านระบุ นอกจากนี้ถนนลูกรังบ้านทรัพย์เจริญ หมู่ 11-หนองเลิงเปือย ซึ่งระบุในใบฎีกาเบิกเงินอีกหนึ่งโครงการ แต่ตรวจสอบแล้วเป็นการซ่อมแซมทับซ้อนกับการซ่อมแซมของ อบจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งยังไม่ทราบว่ามีการนำหินลูกรังมาซ่อมจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีถนนลูกรังอีกหลายสายมีการตั้งงบประมาณซ่อมแซมบ่อยครั้งในแต่ละปี โดยเฉพาะถนนบ้านนาเรียง หมู่ 9-บ้านโนนเสียว มีการใช้งบประมาณซ่อมปีเดียวถึง 3 ครั้ง ระยะห่างกันเพียง 2-3 เดือน”
นายทองสุขกล่าวด้วยว่า เท่าที่ตรวจสอบยังพบว่า อบต.สามัคคีไม่ได้ทำประกันสัญญาจ้างกับผู้รับจ้าง ซึ่งทำเสร็จก็ปล่อยทิ้งเลย ถือเป็นการเจตนาเลี่ยงระเบียบกฎหมาย และจงใจเอื้อประโยชน์กับผู้รับเหมา เจตนาส่อไปในทางทุจริตอย่างชัดเจน ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องระดับใดบ้าง ดังนั้น ป.ป.ท.จะรวบรวมหลักฐานและเอกสารทั้งหมดรายงานไปยังเลขาธิการ ป.ป.ท.พิจารณา และส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.ต่อไป
ด้านนายยุระ บุตรกัณหา นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบงานจัดซื้อจัดจ้าง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลังตรวจพบว่า อบต.สามัคคีน่าจะมีการตั้งค่าประมาณการ หรือค่าซื้อหินลูกรังแพงกว่าท้องตลาดมากถึง 30% หลายโครงการ ถนนบางสายยังมีการไปซ่อมทับซ้อนกับถนนลูกรังที่ อบจ.กาฬสินธุ์ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบอีกด้วย
“ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องลงพื้นที่สืบข้อเท็จจริง ทั้งการสุ่มถามประชาชนในพื้นที่ และส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรตรวจสอบราคาหินลูกรังตามท้องตลาดในแต่ละปี ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบใบฎีกาเบิกเงินซ่อมแซมลูกรังตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 40 โครงการ เชิญนายกและปลัดเข้ามาชี้แจงใบฎีกาเบิกเงินทุกใบ” นายยุระกล่าว