ปราบโกง’ก.ม.3ชั่วโคตร’ฉบับท็อปบู๊ต

หัวข้อข่าว: ปราบโกง’ก.ม.3ชั่วโคตร’ฉบับท็อปบู๊ต

ที่มา: คอลัมน์ ตรวจการบ้าน, เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 

ใกล้คลอดเต็มทีสำหรับร่าง พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ.. หรือ ‘กฎหมายปราบโกง 3 ชั่วโคตร” ที่มีการหยิบมาปัดฝุ่นใหม่รีเมคใหม่อีกครั้งในยุครัฐบาล คสช. เชิญร่วมติดตามพัฒนาการของกฎหมายปราบโกงฉบับท็อปบู๊ตกับ “พล.อ.อ.วีรวิทย์ คงศักดิ์” รองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีความเข้มข้นรุนแรงตั้งแต่ห้ามเสียบปลั๊กไฟหลวงชาร์จแบตมือถือจริงหรือไม่!!!

 

*** ความเป็นมาของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ..

 

ร่างกฎหมายฉบับนี้คนที่เริ่มจริง ๆ คือนายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ได้ส่งเรื่องนี้เข้ามาที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2551 ผมได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการและเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ก็เลยสัมผัสกับเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียด ซึ่งในช่วงนั้นหลายคนไม่ค่อยสบายใจเกี่ยวกับเรื่องของระบบที่อาจจะเป็นของใหม่ โดยเฉพาะคำนิยามของ “ญาติ” ค่อนข้างกว้าง ญาติในร่างกฎหมายดังกล่าวคือข้างบนตั้งแต่ ปู่ พ่อ ตัว ส่วนข้างล่างก็จะเป็นลูก หลาน เหลน คนก็หาว่าเป็นกฎหมาย 7 ชั้น แต่ 7 ชั้นนั้นไม่ได้หมายความว่าจะมีผลบังคับในทุกกรณี มันแล้วแต่กรณี ซึ่งร่างกฎหมายผ่านวาระ 3 ของ สนช. แต่ตกไปโดยอัตโนมัติจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ ต่อมาในยุครัฐบาลเลือกตั้งไม่ค่อยได้รับความสนใจ และกลับเข้ามาอีกครั้งหลังรัฐประหารปี 2557 เมื่อมี สปช. และ สปท. ขึ้นมาทำงาน

 

โดยร่างที่เราทำนั้นเราก็เอาร่างที่ผ่าน สนช. มาแล้ว และปรับสาระที่ยังไม่ครบถ้วนในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต UNCAC 2003 และพิจารณาในเรื่องคำนิยามของ “ญาติ” ว่าแต่ละประเทศเขาเอาแค่ไหน เราก็ไม่อยากให้มันมีปัญหาเหมือนของเดิม นอกจากได้นิยามคำว่า “ญาติ”ที่ สปช.ได้เสนอเข้าไปจะมี 3 ชั้น คือ บุพการี เจ้าหน้าที่ของรัฐและคู่สมรส บุตรและคู่สมรสของบุตร เรามองว่าน่าจะพอเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกส่วนหนึ่งคือเอาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์เข้ามาเติมให้มันเต็ม ซึ่งล่าสุดรัฐบาลก็ส่งกลับมาที่ สปท. โดยเราก็มีข้อสังเกตที่ควรจะเพิ่มเติมในบางประเด็นกลับไปแล้ว

 

*** ร่าง พ.ร.บ.ล่าสุดมีความแตกต่างจากร่างเดิมอย่างไร

สำหรับในร่างใหม่ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิมเป็นเรื่องของการทำให้รัดกุม เหมาะสมขึ้น บางอย่างก็เสริมเติมขึ้นมา ในข้อแรกเรื่องการเข้าไปมีส่วนในการเป็นคู่สัญญาของรัฐ ก็มีกติกาที่พูดกันว่าเริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย การให้ความเห็นชอบกฎหมาย จะเห็นว่าครอบคลุมทั้งนิติบัญญัติและบริหารเลย ถ้าใครเป็นคนดำเนินการในเรื่องนี้ถ้ามีการเอื้อประโยชน์ต่อ บิดา คู่สมรส หรือบุตร จะถือว่ามีความผิด อันที่สองคือการใช้ข้อมูลภายในเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนเหล่านี้ สามคือการริเริ่มเสนอ จัดทำ อนุมัติ โครงการของรัฐที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับคนกลุ่มนี้ และสี่คือการใช้ทรัพย์สินของส่วนราชการ ที่เขาพูดถึงการเสียบปลั๊กไฟ แต่ในเรื่องนี้เขาพูดถึงว่าเว้นแต่ได้รับการอนุญาตโดยชอบและถูกต้องตามกฎหมายและทรัพย์สินนั้นมีราคาน้อย เรื่องเสียบปลั๊กไม่มี ถ้าทรัพย์สินราคาน้อยไม่เกี่ยว นอกจากนั้นเขายังกำหนดไว้ว่าให้ ครม. ส่วนราชการ เช่น คณะกรรมการรัฐสภา คณะกรรมการของศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ กำหนดระเบียบในการใช้สิ่งของ ของรัฐ 4 ประเภทอย่างน้อย คือ ยานพาหนะ เครื่องมือสื่อสาร อาคารสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้ไปออกระเบียบมาว่าจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ในกรณีใดได้บ้าง

 

ทั้งนี้รายงานของกฤษฎีกาเขามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ 14 เรื่อง เช่น มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในเรื่องหลักปกติประเพณีนิยม โดยสรุปง่าย ๆ ภายใต้กฎหมายนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะไม่สามารถรับของขวัญอะไรได้เลย หลักปกติประเพณีนิยมในต่างประเทศเขาให้ไม่มากอย่างเยอรมนีเขาจะกำหนดว่าเท่ากับมูลค่าช่อดอกไม้ แนวทางที่ออกมาในลักษณะพวกนี้เป็นของที่หมดเปลืองไป ไม่ได้เป็นถาวรวัตถุ มูลค่าน่าจะไม่เกิน 1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งแนวทางขณะนี้ทั่วโลกเขาเลิกรับของขวัญไปแล้ว แต่ของเรายังยอมให้ตามประเพณีในกรณีการแสดงความยินดีหรือประเพณีนิยม ถ้าในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายประเทศห้ามไม่ให้รับในทุกกรณี ของไทยเอากันตรง ๆ ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งคุณรับไม่ได้ นอกจากรับไม่ได้แล้ว ญาติก็ยังรับไม่ได้ด้วย แต่ผมอยากเน้นว่ากฎหมายนี้ไม่ได้เน้นให้ข้าราชการถูกเอาผิด แต่เราต้องการให้ความรู้มากกว่า

 

นอกจากนั้นยังให้ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการปรับปรุงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนให้มีความชัดเจนขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้โดยให้ ป.ป.ช. อ้างอิงกฎหมาย ป.ป.ช. มาดำเนินการในกรณีนี้ด้วย โดยกฎหมายระบุว่าคดีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นจะขึ้นศาลคดีอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางซึ่งเป็นศาลใหม่ด้วย โดยมีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี นอกจากนั้นสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา หลักการของกฎหมายเดิมจะช่วยบรรเทาผลร้ายจากเรื่องการทำสัญญาที่ขัดกับผลประโยชน์ของรัฐ โดยมีบทเรียนจากกรณีคลองด่าน กรณีการก่อสร้างโรงพักทดแทน และจำนำข้าว เป็นต้น ให้อัยการสามารถสั่งให้สัญญาเป็นโมฆะหรือให้ป.ป.ช. ไต่สวนและสั่งยุติสัญญาโครงการที่จะทำให้รัฐเสียหายได้

 

“อีกเรื่องที่สำคัญคือกรรมการ ป.ป.ช. ถ้าทำผิดเจอ 2 เท่า อันเดิมกำหนดเฉพาะนักการเมือง แต่ร่างใหม่นี้เพิ่มกรรมการ ป.ป.ช. และบุคคลที่ ป.ป.ช.มอบหมายด้วย โดยให้ดำเนินการผ่านศาลฎีกา ซึ่งกระบวนการนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วโดยยื่นต่อประธานรัฐสภา ให้ส่งต่อศาลฎีกา แต่ตัวกฎหมายดึงออกมาให้ชัดเจนขึ้น เพื่อทำให้หลายคนไม่ต้องกังวลว่า ป.ป.ช. จะกลั่นแกล้ง เพราะถ้ากลั่นแกล้ง ป.ป.ช. ก็โดน คาดว่าถ้าไม่มีปัญหาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในช่วงเดือน ต.ค. และประกาศใช้และเป็นของขวัญให้กับประชาชนในช่วงปีใหม่นี้”

 

*** เมื่อกฎหมายประกาศใช้แล้วจะทำให้นักการเมือง คิดหนักในการลงสู่สนามการเมืองหรือไม่เพราะมีกฎหมายนี้สกัดอยู่

นักการเมืองด้วย ข้าราชการเองก็ต้องระวังตัวหมด แน่นอนว่าเขาจะกลับไปทำแบบเดิมไม่ได้ แม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่าข้อดีของกฎหมายฉบับนี้คือกระบวนยุติธรรมจะต้องเที่ยงธรรมมากขึ้น พูดกัน ง่าย ๆ ว่าไม่สามารถจะวิ่งคดีได้ ที่ผ่านมามันเหมือนบางเรื่องก็ไปลูบหน้าปะจมูกกัน ทุกด้านทั้งในส่วน ป.ป.ช.ก็ดี หรือกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ ถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ความเป็นธรรมของสังคมไทยจะดีขึ้น คนผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีไป คุณจะมาวิ่งคดีหรือมาหยุดคดีไม่ได้ อย่าไป มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการคอร์รัปชั่นเงินงบประมาณอย่างเดียว แต่ส่วนที่มันซ้อนกันอยู่คือการคอร์รัปชั่นประโยชน์ของประชาชน รวมถึงเรื่องทรัพยากรธรรม ชาติกฎหมายก็ครอบคลุมไปถึงด้วย

 

คือมันเป็นการเปลี่ยนวัฒน ธรรมการทำงานของเราจากที่เราเคยทำมา เราเคยใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ระบบอุปถัมภ์ต่าง ๆ จะลดลงได้เยอะและเป็นรูปธรรมเลย ความเป็นธรรมจะมากขึ้น เรื่องโครงการที่ประชานิยมก็จะหาย เพราะมันมีขั้นตอนในการหยุดอยู่เยอะ กระบวนการในการทุจริตเชิงนโยบายหรือการต่างตอบแทนผลประโยชน์ก็จะน้อยลง เรื่องของขวัญก็มีการเปลี่ยนแปลงว่าต่อไปนี้คุณไม่มีสิทธิไปใช้อำนาจรัฐได้ประโยชน์จากสิ่งพวกนั้น จะเป็นโฉมใหม่ที่เป็นมาตรฐานที่สากลโลกเขาใช้กันหมดแล้ว เพราะว่ารัฐภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติฯ ได้ดำเนินการไปหมดแล้ว เหลือน้อยประเทศมากที่ยังไม่ดำเนินการ ซึ่งประเทศไทยคงเป็นประเทศในกลุ่มท้าย ๆ ในอาเซียนก็ทำหมดแล้ว เหลือเพียงไทยกับเมียนมาเท่านั้น และถึงเวลาที่เราต้องทำ

 

*** หากกฎหมายประกาศใช้จะถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของรัฐบาล คสช. หรือไม่

ผมคิดว่ากระบวนการตรงนี้คือตัวที่จะทำให้นโยบายของรัฐบาล สำเร็จ สิ่งที่ สปช. และ สปท. ทำในขณะนี้คือสิ่งที่ตอบนโยบายของรัฐบาลได้และถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่จะช่วยให้ดัชนีความโปร่งใสของเราสูงขึ้น ผมบอกได้เลยว่าสิ่งที่ต่างประเทศเขาดูเราอยู่นี้ เรามีกฎหมายเกี่ยวกับการให้และรับสินบน หรือมีกฎหมายในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่ง 2 เรื่องนี้มันเชื่อมกัน กฎหมายฉบับนี้เชื่อมโยงถึงเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับที่ใช้อำนาจรัฐกับประชาชน ผมคิดว่าจะเป็นรูปแบบใหม่.