หัวข้อข่าว: ปราบโกง’ ยุครัฐบาลประยุทธ์จุดเริ่มขจัดรากเหง้าคอร์รัปชัน
ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย นายส่องแสง
การขับเคลื่อนแนวทางปฏิรูปประเทศไทย ระยะที่ 1 ตั้งแต่ในช่วง 1 ปีแรก (12 กันยายน 2557-12 กันยายน 2558) ของ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความสามัคคี ความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ขจัดความขัดแย้ง และทุ่มเทเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาที่สะสมเรื้อรังมาอย่างยาวนาน
มีการกำหนดให้ทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของประเทศ จำนวน 11 ด้าน รวม 48 เรื่อง เรื่องแรกที่เป็นประเด็นร้อนแรงและลงมือทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมาโดยตลอด คือ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กวาดล้างผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจหน้าที่เจือสมระคนกับกลโกงเอารัดเอาเปรียบประชาชนแสวงหาประโยชน์จากหัวโขนที่สวมใส่
รัฐบาลชุดนี้ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม คนทำผิดต้องรับกรรมโดนลงโทษตามกฎหมาย… เมื่อปัญหาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ถูกกำหนดให้เป็นเรื่องเร่งด่วนต้องรีบแก้ไข ดังนั้น การขจัดคอร์รัปชันจึงกลายเป็นวาระแห่งชาติให้รัฐบาลต้องเดินหน้าตรวจสอบข้อกล่าวหา เร่งแสวงหาข้อเท็จจริง
รีบไต่สวนข้อร้องเรียนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงกลุ่มบุคคลซึ่งมีอิทธิพลต่อประชาชนในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ ไฮโซ ไฮซ้อ มหาเศรษฐี ผู้ดีมีอันจะกิน เรียกว่า ขจัดโกงให้สิ้นซากในทุกวงการและทุกระดับ
โดยเฉพาะการดำเนินการทางวินัยและอาญาผู้กระทำความผิด ตามนโยบายปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ขึ้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ ทำหน้าที่เป็นองค์กรอำนวยการระดับชาติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 มีเรื่องร้องเรียนปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ จำนวน 96 เรื่องร้องเรียน มูลค่าความเสียหายสูงมหาศาลกว่า 167,323,441,655.68 ล้านบาท เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสนใจและทุ่มเทสรรพกำลังไปมากมายเพื่อหาข้อเท็จจริง รวมถึงนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้
ผลงานน่าสนใจในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลตั้งใจทำเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติโดยดำเนินการกับเรื่องร้องเรียนปัญหาทุจริตทั้งในองค์กรราชการ องค์กรเอกชน และหน่วยงานสำคัญๆ มากมาย อาทิ คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายจากการทุจริตในโครงการจำนำข้าว คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีในโครงการรับจำนำข้าว คดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นซึ่งเชื่อมโยงกับวัดพระธรรมกาย ฯลฯ
นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ยังปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในภาครัฐที่ไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มีความผิดวินัย มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยการเสนอเรื่องส่งฟ้องดำเนินคดีอาญา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจมาตรา 44 เข้ามาจัดการกับปัญหาดังกล่าว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 นายกรัฐมนตรีมีคำสั่ง หน.คสช.ที่ 43/2559 ใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจกระทำทุจริตและทำผิดวินัย จำนวนทั้งสิ้น 60 ราย ประกอบด้วย ข้าราชการผู้บริหารสถานศึกษา 2 ราย และข้าราชการพลเรือน 8 ราย รวมทั้งสิ้น 10 ราย ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราวจนกว่าผลการตรวจสอบจะเสร็จสิ้น
สั่งให้ผู้บริหารหรือผู้มีตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสิ้น 40 ราย ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และสั่งให้ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสิ้น 10 ราย ไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่ หรือสถานที่ราชการอื่นในจังหวัดนั้นๆ ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนด ทั้งนี้ จนกว่าผลการตรวจสอบจะแล้วเสร็จด้วยอีกเช่นกัน
นอกจากนี้รัฐบาลยังเดินหน้าการปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกความเป็นข้าราชการ ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน เพิ่มโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในไทยที่เรียกรับสินบน โดยระวางโทษจำคุก 5-10 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท หรือประหารชีวิต รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนภาคีองค์กรภาคเอกชนและเครือข่ายให้เข้ามาร่วมในการต่อต้านการทุจริต
จากการสอบถาม นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ให้ความเห็นว่า หากพิจารณาผลงานในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมีความสนใจและจริงจังมากพอที่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีการออกกฎหมายหลายฉบับมาใช้ควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้หลงไปสู่วังวนของการคอร์รัปชัน
มีการเร่งรัดคดีเก่าๆ ที่เคยค้างอยู่ในศาลให้เสร็จสิ้น แก้ไขปัญหาคนทำผิดประวิงเวลายืดเยื้อในการต่อสู้คดี สิ่งที่ดำเนินการไปนี้จะเป็นบรรทัดฐานป้องกันป้องปรามให้ผู้ที่จะคิดทำความผิดในอนาคตเกิดเปลี่ยนใจ กฎหมายที่ทำแล้วเห็นผลเป็นรูปธรรม อาทิ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกเรื่องการออกใบอนุญาต เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าประชาชน ภาคเอกชน หรือภาคธุรกิจที่ต้องประสานหน่วยงานรัฐเพื่อขอใบอนุญาตเรื่องใดๆ ส่วนใหญ่จะถูกประวิงเวลาเพื่อแสวงหาช่องทางคอร์รัปชันจากเจ้าหน้าที่รัฐในการอำนวยความสะดวก
เกิดปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐเรียกสินบนเพื่อแลกกับความรวดเร็ว แต่เมื่อมีกฎหมายออกมาบังคับใช้แล้วจะเป็นการปิดช่องทางการกระทำผิดเหล่านั้นให้ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากใบอนุญาตแต่ละชนิดจะมีประกาศชัดเจนว่ายื่นกี่วันได้ ใช้เวลาดำเนินการนานเท่าไร เจ้าหน้าที่จะต้องจัดการให้ประชาชนได้ตามนัด จะเตะถ่วงกันไม่ได้อีกต่อไป หนำซ้ำยังช่วยเรื่องการทำงานของระบบราชการให้คล่องตัว เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น
ยังมีกฎหมายอีกฉบับที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ทันภายในสิ้นปี 2559 นี้ คือ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ ตอนนี้ทราบว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กฎหมายฉบับนี้มีการปรับปรุงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐให้รัดกุมมากขึ้น บังคับให้เกิดช่องทางการทุจริตยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการฮั้วประมูลโครงการต่างๆ ที่เป็นเรื่องเรื้อรังมายาวนาน ที่สำคัญกฎหมายยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้ นับเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลได้วางรากฐานเอาไว้เพื่อขจัดคอร์รัปชันให้หมดจากสังคมไทยไปอย่างยั่งยืน
จวบจนเวลานี้ยุทธศาสตร์พัฒนาชาติของรัฐบาลได้ก้าวผ่านปีที่สองมาแล้วเป็นที่เรียบร้อย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ได้มีการวางแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนและปฏิรูปในระยะที่ 2 (เดือนกันยายน 2559 ถึงเดือนกรกฎาคม 2560) ตลอดจนวางแผนการปฏิรูปประเทศสืบเนื่องจนถึงปี 2579 จัดทำเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อผลักดันให้ผลสำเร็จของการแก้ปัญหามีความยั่งยืน ยกระดับประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วตามแนวทางที่วางเอาไว้
คอร์รัปชันคือรากเหง้าความขัดแย้งในสังคมไทย ถ้าขจัดให้หมดสิ้นได้ความแตกแยกจะไม่เกิดขึ้น…