ผูกขาดอำนาจสับสน

หัวข้อข่าว: ผูกขาดอำนาจสับสน

ที่มา: คอลัมน์ ทายท้าวิชามาร, ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำถามพ่วง “งอกได้” ให้ กรธ.กลับไปแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 จากเดิมที่บัญญัติว่า ถ้าไม่สามารถตั้งนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง ให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เข้าชื่อเสนอรัฐสภามีมติยกเว้น (เพื่อเอานายกฯ คนนอก) ศาลให้เปลี่ยนเป็น ส.ว.ร่วมเข้าชื่อได้

 

ในทางปฏิบัติ บทบัญญัตินี้ไม่มีความหมายนัก ยังไงๆ ก็นายกฯ คนนอกเห็นๆ เป็นแค่ช่วยปูพรมให้สดสวย แต่ที่น่าขันคือ กรธ.บ่นกันขรม งอกมาได้ไง ตีความเกินคำขอ นี่มัน “ตุลาการภิวัตน์” ชัดๆ

 

ฮากลิ้งเลยครับ กรธ.บ่นยังกับนิติราษฎร์ ศาลตีความรัฐธรรมนูญงอกได้ งอกอำนาจตัวเองอยู่เหนือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากเลือกตั้งทั้งหมดถือว่า “ล้มล้างการปกครอง”

 

แหม แค่เห็นข่าวสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. อดีต ตลก “ถนนลูกรัง” โทรศัพท์กลับไปถามศาลให้วุ่น พวกเสื้อแดงก็หัวร่อท้องแข็ง

 

ถ้าจำกันได้ ก่อนหน้านี้ปู่มีชัยก็บ่นศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตีกลับเอกสารคำร้อง อ้างว่าต้องมีใบมอบฉันทะแนบสำเนาบัตรประชาชน ฯลฯ จนปู่บอกว่าเดี๋ยวจะเขียนร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญซะใหม่

 

ครั้งนั้นนักข่าวก็ถาม ทำไมไม่ให้สุพจน์ไปคุยกับศาล ปู่มีชัยบอกว่าคุยกันแล้ว สุพจน์ได้แต่ส่ายหน้า

 

ปมศาลรัฐธรรมนูญ-กรธ. โหมกระแส Set Zero องค์กรอิสระ ซึ่งก่อนหน้านี้ กกต.ก็ถูกวิพากษ์หนัก ทั้งเรื่องที่ประธาน กกต.ให้คำมั่นสัญญาจะลาออกให้คนอื่นเป็นบ้าง “สมบัติผลัดกันชม” เรื่อง กกต.คนหนึ่งถูกผู้ตรวจการแผ่นดินชี้มูลผิดจริยธรรม หรือเรื่องที่อดีตเลขา กกต.แฉว่าลงมติเพิ่มตำแหน่งเพิ่มเงินเดือนเลขาที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ (แล้วบางคนเอาลูกมาเป็น)

 

เพียงแต่มองให้ทะลุ นี่ไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคลมันเป็นปัญหากลไกอำนาจ ที่สร้างองค์กรอำนาจขึ้นเยอะมาก ต่างคนต่างถือกฎหมายคนละฉบับ “มึงก็ใหญ่กูก็ใหญ่” คิดแต่จะขยายอำนาจตัวเอง จนไม่มีใครถ่วงดุลได้

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ทุกฝ่ายก็อ้าง “ปราบโกง” ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจศาล องค์กรอิสระ ป.ป.ช. กกต. สตง. แต่ สนช.ก็ผ่านกฎหมาย เพิ่มอำนาจใช้ดุลพินิจให้องค์กรต่างๆ อย่างง่ายดาย ไม่มีเสียงทัดทานเหมือนรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย

 

ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ ที่ให้อำนาจ ก.ล.ต.ใช้ดุลพินิจอย่างมากนี่ไง นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นกฎหมายที่ผ่านในกระแส “ล่าแม่มด” ภายใต้วิธีคิดรัฐราชการเป็นใหญ่

 

เพราะเราเห็นกฎหมายที่มีวิธีคิดคล้ายกันหลายฉบับ เช่น ร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างใหม่ รวบอำนาจกำกับควบคุมไว้กับกรมบัญชีกลาง ร่างกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อน 4 ชั่วโคตร ซึ่งดูเหมือนดี แต่ถ้ามาจากวิธีคิดจ้องจับผิดและเพิ่มอำนาจใช้ดุลพินิจ ระบบราชการจะทำงานไม่ได้

 

หรือกฎหมายศาลทุจริต ที่มีแต่คนชมว่าดี โดยไม่เข้าใจว่าใช้ศาลระบบไต่สวน ยึดสำนวน ป.ป.ช.เป็นหลัก เพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. เพิ่มอำนาจใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษา ในขณะที่ผลการประเมินความโปร่งใสป.ป.ช.กลับได้ที่ 100 จาก 115

 

ปัญหาในช่วงต่อไปจะไม่ใช่ “นักการเมืองโกง” เพราะนักการเมืองหมดอำนาจ แต่จะเป็นปัญหาองค์กรอำนาจต่างๆ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไล่จับผิด แล้วใช้อำนาจทับกันจนสับสน จนระบบทำงานไม่ได้ ขณะที่ภายในเองก็เกิดปัญหาเหลิงอำนาจฉ้อฉลอำนาจเพราะไม่มีใครถ่วงดุล

 

ทุกวันนี้ยังไม่เห็นชัด เพราะถูกกดทับอยู่ใต้ ม.44 แต่กระทั่ง ม.44 เองก็ยังถูกแช่ง “ดาบนั้นคืนสนอง”