‘พลเมือง’ ธรรมาภิบาล’ช่วยแก้ทุจริต’น่าคิด’คุมกำเนิดโกง’

หัวข้อข่าว ‘พลเมืองธรรมาภิบาลช่วยแก้ทุจริตน่าคิดคุมกำเนิดโกง

ที่มา; คอลัมน์ สกู๊ปหน้า1 – เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

 

“…ปัญหาการทุจริตนั้น นอกจากการละเลย บกพร่อง และมีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจแล้ว การที่ประชาชนไม่สนใจ ละเลย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ โดยคิดว่า…ธุระไม่ใช่ ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้แก้ไขได้ยาก…”

 

นี่เป็นบางช่วงบางตอนจากการระบุไว้บนเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายภาคประชาสังคมต่อต้านการทุจริต ที่จัดโดยสำนัก งานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และศูนย์ประสานงานภาคประชาสังคมส่งเสริมธรรมาภิบาลและ ต่อต้านการทุจริต (ศปสธ.ปปท.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยโฟกัสที่ “ปัญหาทุจริต” ที่ “สังคม-ชุมชน” ก็เป็นส่วนหนึ่ง…

 

ที่มีส่วนทำให้ปัญหาทุจริตแก้ไขได้ยาก

 

จากการเพิกเฉยไม่คิดที่จะร่วมแก้ปัญหา

 

จนทำให้ปัญหา “รุนแรง-ซับซ้อน” ยิ่งขึ้น…

 

เกี่ยวกับ “การแก้ปัญหาทุจริต” นั้น ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ระบุไว้ในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สำนึกธรรมาภิบาล โกงเก่าหมดไป โกงใหม่ไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้โกง” ว่า…ปัญหาทุจริตในไทยรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า…มีปัจจัยจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่ปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา คือมีหน้าที่ แต่ไม่ทำหน้าที่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง จนทำให้โครงสร้างต่าง ๆ อ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ …นี่เป็นการระบุจากเลขาธิการ ป.ป.ท. ที่ชี้ชัดกันตรง ๆ ถึงปัจจัยที่ทำให้ปัญหาการทุจริตซับซ้อนและเพิ่มขึ้น ชี้ว่ามีผลมาจาก “เจ้าหน้าที่รัฐ” มีส่วน…

 

ปราบทุจริต” กันอย่าง “ไม่จริงจังจริง ๆ”

 

ปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้น หากจะแก้ปัญหา ต้องแก้ที่ต้นเหตุ 2 จุด คือ 1. แก้ที่ปัญหา คือแก้ที่การทุจริต และ 2. แก้ที่หน่วยงานของรัฐ คือเกิดเรื่องขึ้นแล้วก็ต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด แต่ถ้าหากยังไม่เกิดปัญหาขึ้น ก็ต้องหาทางป้องกัน ไม่ให้การทุจริตทำได้ง่าย โดยวิธีที่ดีที่สุดคือการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้” …เป็นอีกส่วนจากการระบุไว้…

 

นำเสนอ “คุมกำเนิดโกง” ทุจริตทำได้ยาก

 

ด้วยการ “นำเอาหลักธรรมาภิบาลมาใช้”

 

เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวอธิบายถึง “การใช้หลักธรรมาภิบาลเพื่อปราบโกง” ว่า…มีหลักใหญ่ ๆ ที่สำคัญอยู่ 6 ประการ คือ…

1. การนำหลักนิติธรรมมาใช้ คือใช้หลักกฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด และตรงไปตรงมา รวมถึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมด้วย โดยถ้ากฎหมายไม่ดีพอก็ต้องแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น

2. การนำหลักคุณธรรรมมาใช้ คือการยึดมั่นความถูกต้อง ความดีงาม และมีสำนึกในหน้าที่ของตนเอง รวมถึงต้องทำด้วยความซื่อสัตย์

3. การนำหลักความโปร่งใสมาใช้ คือการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยความเท่าเทียม และตรวจสอบได้

  1. การนำหลักการมีส่วนร่วมมาใช้ คือการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน และภาคสังคม ได้มีส่วนร่วมรับรู้ ร่วมคิดในการแก้ปัญหา รวมถึงเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอความคิดเห็นในการตัดสินใจแก้ปัญหา
  2. การนำหลักความรับผิดชอบมาใช้ ด้วยการสร้างกลไกที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตระหนักถึงหน้าที่ของตนเอง
  3. การนำหลักความคุ้มค่ามาใช้ คือการบริหารจัดการ หรือใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด รวมถึงใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด…

ถ้าทุกฝ่ายอยู่ในกรอบนี้ ไม่มีทางที่ทุจริตจะเกิดขึ้นได้แน่ ๆ เพราะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม แต่ที่ทุกวันนี้ปัญหานี้มันรุนแรง จนกลไกรัฐไม่สามารถทำงานได้ เพราะไม่อยู่ในกรอบธรรมาภิบาลนั่นเอง ฉะนั้น จึงต้องมีกลไกเสริมขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้กลไกทำหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่ง ม.44 ก็ใช่ การสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมก็จำเป็น” …เลขาธิการ ป.ป.ท. ระบุ

 

กับกรณีกลไกเสริมเพื่อกระตุ้นกลไกเดิมที่มี

 

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับ “การใช้หลักธรรมาภิบาลเพื่อปราบทุจริต” อย่าง “หลักการมีส่วนร่วม” นั้น ในเวทีดังกล่าวนี้ยังได้เปิดตัว “เครือข่ายพลเมืองธรรมาภิบาล” ที่ประกอบด้วยชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ นำ”ภาคประชาชน-ภาคสังคม” เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพื่อร่วม “ปราบโกง-ปราบทุจริต” ที่มีอยู่มากในประเทศไทย…ทั้งนี้ สมพงษ์ พัดปุย เลขาธิการเครือข่ายพลเมืองธรรมาภิบาล ระบุว่า…ก่อนจะมาโฟกัสที่ “การปราบทุจริต” ทางเครือข่ายฯเคยทำงานร่วมกับ ป.ป.ท. มาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ในเรื่องการป้องกันยาเสพติดให้กับชุมชน ขณะที่ในปีนี้ เนื่องจากการทุจริตเป็นวาระสำคัญเร่งด่วน ทาง ป.ป.ท. จึงส่งเสริมให้เครือข่ายฯ ที่เคยทำงานร่วมกัน มาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งสาเหตุที่ “การแก้ทุจริตล่าช้า” นั้น สมพงษ์ยอมรับว่า…มาจากความซับซ้อนของปัญหาการทุจริต และโดยส่วนตัวก็เห็นด้วยกับแนวคิดส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ ผ่านทางการรวมกลุ่ม การ เพิ่มช่องทางตรวจสอบทุจริตให้แก่ประชาชน

 

ร่วมอุดช่องโหว่” ที่ทำให้การทุจริตเกิดขึ้น

 

การแก้ปัญหาทุจริต มีหลัก 3 เรื่อง คือ 1. โกงเก่าต้องหมดไป 2. โกงใหม่ห้ามเกิด 3.ไม่ให้โกงง่าย ๆ ถ้าตัดไฟตั้งแต่ต้นลมแบบนี้ได้ ไม่เพียงปัญหาทุจริตจะหมดไป แต่สังคมยังได้คนดีเพิ่มขึ้นด้วย” …เป็นอีกส่วนจากการระบุในเวทีนี้

 

แก้โกงที่มีอยู่เก่า-คุมกำเนิดมิให้มีการโกงใหม่

เสริมกลไก-สร้างพลังชุมชน เพื่อปราบทุจริต

แนวทางนี้ถ้าทำได้จริง-ทำได้ดี…ย่อมจะดี!!!.