หัวข้อข่าว: ฟัน’จีทูเจี๊ยะ’รอบ2ก๊วน’บุญทรุด’เจออีกกระทง/’พท.’แก้เกี้ยวชงสอบ’อภิรดี
ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559
ไทยโพสต์ * ก๊วนขายข้าวจีทูจีเก๊อ่วม จ่อเจอดาบสองทั้งอาญาและแพ่ง ทบต้นทบดอก กับสำนวนแรก ป.ป.ช.จ่อฟันหลังสอบ ขยายผลย้ำปมนิติกรรมอำพรางอีก 8 สัญญา “บุญทรง-ภูมิ-มนัส” กับพวกไม่รอด แต่ พ่วงชื่อใหม่อดีตบิ๊กพาณิชย์เข้ามาด้วย พท. สางแค้น “อภิรดี” ยื่นตรวจแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ
มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ขณะนี้การพิจารณาตรวจสอบการทุจริตการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อตที่ 2 อีก 8 สัญญา ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใกล้จะได้ข้อยุติแล้ว และคาดว่า ป.ป.ช.จะมีการชี้มูลความผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ได้มีการตรวจสอบการขายข้าว จีทูจีพบว่าไม่มีการขายจริง บริษัทของจีน ที่มาซื้อข้าวก็ไม่มีตัวตนจริง และยังมีการดำเนินการเป็นขบวนการ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชน ทำให้รัฐเสียหายจากการขายข้าวที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการชี้มูลครั้งนี้ ผู้ที่จะถูกชี้มูลความผิดจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มเหมือนกับการชี้มูลความผิดการทุจริตขายข้าวจีทูจีล็อตแรก 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน โดยมีกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการ และภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น กลุ่มเดิม
สำหรับนักการเมืองและข้าราชการที่ถูกชี้มูลความผิดการขายข้าวจีทูจีล็อตแรก คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์, พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ
รายงานข่าวแจ้งว่า อย่างไรก็ตาม ในการชี้มูลครั้งใหม่นี้ จะมีผู้ที่ถูกชี้มูลความผิดเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของข้าราชการและภาคเอกชน โดยในส่วนของข้าราชการ คือ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศอีกคนที่มารับตำแหน่งต่อจากนายมนัส ส่วนความผิดตามข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. คือทั้งหมดร่วมกันกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งหากมีการชี้มูลความผิดแล้ว จะมีการเสนอความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา โดยกรณีข้าราชการ จะมีการพิจารณาลงโทษทางวินัย และจะมีการเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง เพื่อพิจารณาเรียกค่าเสียหายกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขายข้าวจีทู จีล็อต 2 ที่ได้มีการตรวจสอบ พบว่าไม่มีจริง เช่น การขายข้าวให้กับบริษัท ไฮกู เหลียงเหมา ซีเรียล แอนด์ ออยล์ เทรดดิ้ง จำกัด ปริมาณ 3 ล้านตัน, บริษัท ไฮกูเหลียงหยุ่นไหล่ ซีเรียล แอนด์ ออยล์ เทรดดิ้ง จำกัด ปริมาณ 2 ล้านตัน, บริษัท ไฮหนาน โพรวินซ์ แลนด์ รีเคลเมชั่น อินดัสเทรียล ดิเวล็อปเม้นท์ ปริมาณ 4 ล้านตัน และบริษัท ไห่หนาน แลนด์ รีเคลเมชั่น คอมเมอร์ส แอนด์ เทรด กรุ๊ป จำกัด ปริมาณ 5 ล้านตัน
ทั้งนี้ บริษัทจากจีนทั้งหมดพบว่าไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจีกับไทย แต่เป็นการดำเนินการเพื่อแอบอ้างการขายจีทูจี เพื่อขายข้าวให้กับภาคเอกชนของไทย ที่อยู่ในกระบวนการ และไม่มีการส่งออกข้าวไปยังจีนจริง
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ป.ป.ช.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการขายมันสำปะหลังแบบจีทูจี ซึ่งพบว่ามีการทุจริตเหมือนกับการขายข้าวจีทูจี โดยมีการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังจำนวน 7 สัญญา ปริมาณ 4.79 ล้านตัน ที่พบว่าบริษัทจากจีนไม่ใช่บริษัทที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาล โดยกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมชี้มูลความผิด ซึ่งผู้ที่ถูกชี้มูลก็เป็นกลุ่มเดียวกันกับการทุจริตขายข้าวจีทูจี แต่จะมีในส่วนของข้าราชการและภาคเอกชน บางส่วนเพิ่มเข้ามา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจากนายมนัส คือ นางปราณี ศิริพันธ์ และนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ
พท.เอาคืน รมว.พาณิชย์
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 3 ต.ค. จะยื่นคำร้อง พร้อมแนบสำเนาหนังสือกระทรวงพาณิชย์ และสำเนาหนังสือ ป.ป.ช. เพื่อขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตรวจสอบนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ว่ายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ โดยบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ได้ยื่นถึง ป.ป.ช.มาแล้ว 3 ครั้ง เพราะพบข้อมูลที่ควรให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบ ประกอบด้วย การถอนเงินในรูปแบบของ TRN ซึ่งบ่งชี้ว่านางอภิรดีมีการถือครองบัตรเครดิต 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบสอบ บัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน กลับไม่พบข้อมูลดังกล่าว จึงต้องการให้ ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบว่าระหว่างวันที่ 21 ส.ค.-4 ก.ย.57 มีการใช้บัตรเครดิตหรือไม่ ถ้ามีจะต้องนำมาแสดงในส่วนของหนี้สินหรือไม่
นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า รายการต่อมาคือบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีรายการหนึ่งเป็นเงินจำนวนกว่า 9.7 แสนบาท มีความน่าสงสัย เพราะมีลายมือเขียนไว้ว่าร้านถูกใจ ซึ่งเป็นเหตุอันควรให้ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบว่าเงินดังกล่าวได้มาอย่างไร ได้มาจากใคร และถ้าเป็นเงินพึงประเมินมีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สิน อย่างเข็มกลัดเพชร ราคา 1.7 แสนบาท ที่ได้มาระหว่างดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ และมีที่มาแตกต่างจากรายการอื่น จึงต้องการให้ ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบว่าใช้เงินจากบัญชีใดซื้อหามา ขัดมาตรา 103 แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช.หรือไม่ เพราะนางอภิรดีย่อมทราบดีว่า ป.ป.ช.กำหนดเงื่อนไขการยื่นทรัพย์สินและบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินไว้อย่างไรบ้าง
นายเรืองไกรกล่าวว่า เชื่อว่าหลายคนที่มีรายได้ยังไม่ยื่นแบบแสดงการเสียภาษีอีกเป็นจำนวนมาก แม้แต่ นักการเมืองบางคนที่ได้รับเงินจากการไปออกรายการทีวี จำนวน 3,000 บาท ทางไทยพีบีเอสก็ยังไม่ได้ยื่นแบบแสดงการเสียภาษี
ศาลแจงข้อบังคับ ปธ.ศาลฎีกา
นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการออกกฎหมายจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งศาลได้เปิดทำการแล้ววันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา และในวันที่ 3 ตุลาคม จะเริ่มทำการตามวัน-เวลาราชการเป็นวันแรก โดยการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลางนั้น นอกจากปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม หลังจากมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาแล้ว ล่าสุดได้มีการลงประกาศข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ที่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
นายสืบพงษ์กล่าวอีกว่า โดยข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอน และลักษณะพิจารณา การอุทธรณ์ การฎีกาไว้ อาทิ ข้อ 13 ในกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากศาลเห็นว่ากรณีมีเหตุจำเป็น ต้องสืบพยาน ก็ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 166 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ
ข้อ 14 ในกรณีที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ให้ศาลพิจารณาสั่งคำร้องขอถอนฟ้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและความเสียหายที่มีผลกระทบต่อรัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ศาลอาจไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องก็ได้ แต่ถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นในภายหลังเมื่อจำเลย ให้การแก้คดีแล้ว ให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
ข้อ 15 ในการพิจารณาพิพากษาคดี ให้ศาลนำรายงานและสำนวนการสอบสวน หรือสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของโจทก์ มาเป็นหลักในการแสวงหาความจริง แต่ไม่ผูกพันศาลว่าจะต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้น ศาลมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ หรือพยานหลักฐานอื่นใดนอกเหนือจากพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างอิงได้ตามที่ศาลเห็นสมควร
ส่วนการอุทธรณ์ ข้อ 25 ระบุว่า ในการยื่นอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขัง จำเลยต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล หากจำเลยร้องขอขยายระยะเวลาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล ให้ระบุถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขอขยายระยะเวลาพร้อมแสดงหลักฐานและที่อยู่หรือช่องทางที่สามารถติดต่อกับจำเลยได้ การพิจารณาคำร้องให้ศาลคำนึงถึงความหนักเบาของโทษที่จำเลยได้รับ พฤติการณ์หรือโอกาสที่จำเลยอาจหลบหนี รวมถึงความสุจริตในการต่อสู้คดีของจำเลยประกอบกัน ในการแสดงตนของจำเลย ให้เจ้าพนักงานศาลดำเนินการตามข้อ 9 (1)
ข้อ 26 ในการยื่นอุทธรณ์ หากจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังไม่มาแสดงตน หรือเมื่อครบกำหนด ขอขยายระยะเวลาแสดงตนแล้วจำเลยไม่มาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล ให้เจ้าพนักงานศาลทำรายงานเจ้าหน้า ที่เสนอต่อศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นส่งฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าวพร้อมสำนวน รวมทั้งรายงานเจ้าหน้าที่ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป
และการยื่นฎีการะบุไว้ใน ข้อ 27 ว่า การยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขัง จำเลยต้องมาแสดงตน ต่อเจ้าพนักงานศาล
ข้อ 28 คำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาต้องแสดงถึง (1) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกา และ (2) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 หรือในข้อบังคับนี้ ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย.