หัวข้อข่าว ฟันทุจริตล็อต8งาบกันยกจังหวัด แก๊งขรก.รวมหัวโกงชาติ‘วิษณุ‘เร่งกม.7ชั่วโคตรไม่ให้นำมือถือชาร์จแบตแจกคู่มืออธิบายข้อห้าม
ที่มา; บ้านเมือง ฉบับวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559
“วิษณุ” ลั่นประกาศใช้แน่ “กฎหมาย 7 ชั่วโคตร” ขู่ฟันผิดไม่ได้เวอร์ “ห้ามใช้ไฟราชการชาร์จแบตโทรศัพท์-ห้ามใช้ซองตราครุฑใส่ตังค์ช่วยงาน” ยันต้องตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อป้องปรามทุจริต เตรียมทำคู่มือแจกข้าราชการรู้ข้อห้าม-ความผิด-บทลงโทษ
ตั้งกรรมการ ฉก.คุมเข้ม จ่อเชือด ขรก.ทุจริตล็อก 8 อีกกว่า 80 รายชื่อ ซัดจงใจทุจริตเรื่องเดียวกันแบบชนิดยกครัว-ยกจังหวัด ระบุไล่ออกไปแล้วกว่า 300 คน ตั้งแต่ซี 7 อธิบดี ยันปลัดกระทรวง พร้อมแจกคาถา “สุจริต” คือเกราะกำบัง
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง “การกระจายอำนาจกับการตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ในการเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบ ที่มีตัวแทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมประชุมว่า วันนี้มีจำนวนไม่น้อยที่มีหนังสือขอแสดงความนับถือจากหน่วยงานตรวจสอบทุจริตไปถึง ที่จู่ๆ ก็เจอคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าด้วยมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ซึ่งนั้นแสดงว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน ซึ่งคนทำงานไม่ว่าจะฝ่ายบริหาร รัฐบาล ท้องถิ่น ห้างร้านเอกชน รู้ว่าการทำงานต้องมีงบประมาณ บุคลากร วิทยายุทธ์ คือความรู้ แต่ในที่สุดมาตายในเรื่องที่เหนือสิ่งอื่นใดคืออำนาจ แต่นั่นไม่ใช่ว่าใช้อำนาจไปข่มเหงใคร แต่การทำให้มีพลังทำงาน
ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย ย่อมยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ทุกอย่างวนเวียนที่กฎหมาย ถ้าไม่มีกฎหมายก็ทำงานไม่ได้ ซึ่งไม่ได้ห่วงว่าผู้บริหารงานไปทำแล้วไม่มีกฎหมาย แต่ห่วงมันไม่มีกฎหมายให้อำนาจท่าน แต่ท่านนึกว่ามีอำนาจ มันต่างกันระหว่างไม่มีอำนาจแล้วยังขืนทำ กับนึกว่ามีอำนาจแล้วขืนทำ หลายคนที่เป็นนายก อบจ. นายก อบต.ที่ทำลงไปนั้นผิด แล้วมายืนสารภาพว่าไม่ได้ทำอะไรต่างจากนายกคนก่อนๆ แล้วทำไมทำไม่ได้ ข้อแก้ตัวส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ ไม่ได้ทำต่าง ทำไมต้องผิด คำตอบคือมันผิด แต่คนก่อนนี่เขาเกษียณหรือไม่มีใครไปตามคิดบัญชี หลักฐานเลื่อนลอย แต่นี้ทำไปโดยไม่มีอำนาจแต่คิดว่ามีอำนาจ และทำไปโดยไม่มีอำนาจ กฎหมายบอกว่าต้องปฏิบัติตามขั้นตอน แต่กระโดดข้ามขั้นตอน ทั้งหมดคือมีอำนาจ แต่ใช้อำนาจเกินขอบเขต เกินกำหนดเวลา คือเหมือนไม่มีอำนาจ
อีกประเภทเหมือนมีอำนาจ แต่แปลว่าอย่างโน้น แต่ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ไปแปลเข้าข้างตัวเองว่าทำได้ อย่างนี้วันหนึ่งก็จะได้จดหมายแสดงความนับถือ โดยที่บางคนมีทิฐิบอกว่าไม่จริง ตรวจแล้วเชื่อว่าทำถูก ถามแล้วทำกันทั้งนั้น แล้วเรื่องต้องไปถึงองค์กรใดสักแห่งชี้ขาด ถ้าชี้ผิดกู่ไม่กลับ แก้ตัวไม่ทันแล้ว
ถ้าอธิบายเป็นรูปธรรม การที่เราพบว่า อปท.หลายแห่งไม่เข้าใจ ไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ ในอำนาจหน้าที่ของตัวเอง มีพวกหนึ่งเหมือนกันรู้ว่าผิดยังทำ พวกนี้ต้องปล่อยไป เพราะมีวิธีจัดการอยู่ แต่มีพวกนึกว่าทำได้ คือทำผิดโดยสุจริต อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ วันนี้พูดถึงการป้องกันคอรัปชั่นประพฤติมิชอบ เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ป้องกันและปราบปราม รัฐบาลเน้นตัดไฟแต่ต้นลมคือการป้องกัน เพื่อไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ต้องใช้เวลานาน หรือสุดท้ายกลายเป็นการผิดใจกันเปล่าๆ ควรบอกว่าจริงแล้วคืออย่างไรดีสุด
วันหนึ่งคุยกับกระทรวงมหาดไทย ปลัดมหาดไทย อธิบดีต่างๆ วันนี้มีปัญหาท้องถิ่นร้องเรียนมามาก เขาหลงเชื่อทำตาม วันหนึ่งบอกว่าผิด ท้องถิ่นถามเอาอย่างไรกันแน่ ฟังนึกเห็นใจมหาดไทยและ อปท. ตนเป็นกฤษฎีกาพบ 3-5 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องมาสอบถามอำนาจหน้าที่ อปท.หลายเรื่อง ครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติ อีกครึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ ซึ่งเรื่องอำนาจหน้าที่คนที่มีคุณสมบัติทำไปผิดหรือถูก เราเรียกอำนาจหน้าที่ ถามมาเรายังงง แล้วคนเป็นนายก อปท.จะรอดหรือ หลายเรื่องเห็นชัดทำไม่ได้ แต่เขาทำไปแล้ว มันผิด แต่ทำไปโดยสุจริต ปัญหาคือ ผิดมันผิด สุจริตมันสุจริต แล้วทำอย่างไร
ทั้งนี้ 2 ปีมานี้ เรามีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นการร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ที่ย่อๆ นี้ น่ากลัวทั้งนั้น ลงไปตรวจสอบทุจริตประพฤติมิชอบ แล้วรายงานเข้ามาแล้วมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ออกไป เวลานี้พักงาน หรือให้ออก เกือบ 300 คนแล้ว ตั้งแต่ปลัดกระทรวง อธิบดี ข้าราชการระดับซี 7 ซี 8 ข้าราชการท้องถิ่นมีหมด ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ส่งรายชื่อมาเกือบ 80 คน ท้องถิ่นทั้งนั้น ยกครัว ยกจังหวัด ทุจริตเรื่องเดียวกัน คล้ายๆ กัน ดูแล้วเป็นเรื่องความตั้งใจทุจริตก็มี และไม่รู้จริงในอำนาจหน้าที่ของตัวเองแท้ๆ นึกว่าทำได้
ดังนั้น การป้องกันนอกเหนือจากการตรวจสอบกันเอง ยังต้องมีคู่มือในการปฏิบัติอะไรทำได้ อะไรไม่ได้ เพราะเรากำลังจะมีร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฉบับใหม่ออกมา เปลี่ยนแปลงผิดจากเดิมไปอย่างมาก รวมถึงกฎหมายวินัยการเงินการคลังภาครัฐ และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวมหรือที่เรียกว่า “กฎหมาย 7 ชั่วโคตร” ซึ่งยังไม่ออก แต่บอกเลยว่าออกมาใช้แน่ ใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนในประเทศไทย ในนั้นเข้มงวดมาก อะไรทำได้ อะไรไม่ได้ ต้องระวังอย่างมาก ใครริเริ่มโครงการอะไร ใครอนุมัติโครงการ ถ้าเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ได้มากกว่าส่วนรวม คนต้นคิดผิดหมดทั้งกระบวนการ จนถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) และที่ปล่อยข่าวไม่ได้เวอร์ แต่เป็นเรื่องจริง ต่อไปเอาโทรศัพท์ชาร์จไฟราชการถือมีความผิด ใช้ซองตราครุฑใส่ตังค์ ไปให้ของขวัญผิด โดยว่าด้วยกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อนก็ผิด
โดยวิธีปฏิบัติอย่างนี้เขาก็มีกัน กฎหมายเหล่านี้เอามาขู่ แต่ก็มีข้อยกเว้น ตนเอาสิ่งเหล่านี้มาพูดเพื่อบอกให้รู้ว่า นับวันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมยากขึ้นทุกที คู่มืออาจจะไม่พอ สัมมนาอาจไม่พอ ต้องซักซ้อมกันมาก อาจต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ จะรบกวน สตช. กฤษฎีกา มหาดไทย ป.ป.ช. คนที่ทำงานท้องถิ่นวางมือไปนาน มานั่งตอบข้อหารือ เพื่อทำให้แน่ใจว่า คนที่มีจดหมายแสดงความนับถือท่านได้ให้ความเห็นไปแต่ต้นแล้ว ปลอดภัยสถานะเดียว ถ้าไม่อย่างนั้นก็อย่าเป็น อปท.ไปบวชดีกว่า แต่การทำงานเพื่อส่วนรวมต้องกล้า ต้องเสียสละ และสุจริต เพราะสุจริตเป็นเกราะกำบังศาสตร์พ้องจริงๆ วิธีทำสุจริตคือทำอะไรมีคำตอบ มีคำแนะนำ อะไรทำไม่ได้อย่าทำ
นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับการจัดเลือกตั้งระดับท้องถิ่นถึงอย่างไรต้องจัดขึ้นแน่ แต่ตอบไม่ได้ว่าจะจัดการเลือกตั้งก่อนหรือหลังการเลือกตั้งใหญ่ ต้องให้ คสช.เป็นคนตอบ แต่จะจัดก่อนหรือหลังเลือกตั้งใหญ่ ท่านก็ต้องทำงานของท่านไป สุจริต ท่านจะอยู่รอดปลอดภัย บุญกุศลนี้ กลับมาสนองท่านแน่