มาตรฐานใหม่เพื่อความโปร่งใส

หัวข้อข่าว: มาตรฐานใหม่เพื่อความโปร่งใส

ที่มา: คอลัมน์ กล้าได้กล้าเสีย, ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 

หนีไม่พ้นที่จะกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมาทันทีกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำคณะ 38 คนเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐฯ ที่ฮาวาย เป็นการเดินทางด้วยการเช่าเหมาลำเครื่องบินการบินไทยและมีการประเมินราคาเอาไว้สูงถึง 20.9 ล้านบาท ตัวเลขนี้ระบุค่าอาหารบนเครื่อง 6 แสนบาท

 

ก็เลยมีคำถามจากสังคมว่าทำไมราคาถึงสูงอย่างนั้น ทำไมจึงมีคณะที่ร่วมเดินทางไปด้วยมากขนาดนั้นและต้องการทราบว่าใครเป็นใครกันบ้าง แม้การเดินทางไปฮาวายครั้งนี้จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการก็ตาม

 

พูดถึงเรื่องการเดินทางไปราชการต่างประเทศได้มีปัญหามาตลอดโดยเฉพาะข้าราชการการเมือง ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งจะถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอดโดยเฉพาะการไปดูงานว่า “คุ้มค่า” หรือไม่ ความเป็นจริงหลายคณะก็ดำเนินการกันอย่างถูกต้องและเหมาะสมได้ประโยชน์จริงๆ แต่อีกหลายคณะกลายเป็นว่าไม่เหมาะสม ไม่คุ้มค่าเพราะไปดูงานกันเป็นข้ออ้างเท่านั้นจริงๆกลายเป็นไปเที่ยว ไปช็อปปิ้ง ไปหาของอร่อยกินกันมากกว่ามากไปกว่านั้นการขนลูกเมีย เครือญาติและผู้ติดตามพ่วงไปด้วย พอจับได้ไล่ทันก็บอกว่าใช้งบส่วนตัวไม่ได้ใช้งบประมาณรัฐ

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้เข้ามาบริหารประเทศได้มีกำหนดกรอบการเดินทางไปศึกษาดูงาน ประชุม สัมมนาอบรม ณ ต่างประเทศที่พอจะสรุปได้ดังนี้ การเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศว่ากิจกรรมใดที่มีความจำเป็นน้อยก็ต้องปรับลดให้เกิดความเหมาะสม แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการศึกษาดูงานต่างประเทศก็ขอให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะสามารถเชิญวิทยากรมาบรรยายในประเทศได้หรือไม่

 

มีข้อเสนอแนะถึงระดับผู้บริหารที่จะเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อไปประชุมในประเทศและต่างประเทศ เช่น อธิบดีก็ขอให้เดินทางในชั้นประหยัด กรณีต้องเดินทางไปต่างประเทศให้พิจารณาตามความเหมาะสม ขณะที่ระดับรองอธิบดีลงมาก็ให้เดินทางในชั้นประหยัด เพียงแต่ไม่ได้วางกรอบการเดินทางในระดับรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงกว่าอธิบดีขึ้นไปว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรบ้างนั่นคงเห็นว่ามีวิจารณญาณ คำนึงถึงความเหมาะสมและคุ้มค่า

 

หรือแม้แต่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาก็ได้ตั้งข้อสังเกตคล้ายๆกันในลักษณะที่ว่าการเดินทางไปราชการต่างประเทศควรมีหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันจำนวนคนต้องไม่ซ้ำซ้อน มีเป้าหมายชัดเจน ตอบสนองต่อภารกิจของหน่วยงาน ระยะเวลาการเดินทาง เดินทางโดยเครื่องบินเฉพาะที่จำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และควรใช้ชั้นประหยัด คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับและความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ

 

เหล่านี้ล้วนเป็นทิศทางเพื่อสร้างกรอบในทางปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของรัฐบาลและ สนช.ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ต้องแปลกใจว่าเมื่อการเดินทางของ พล.อ.ประวิตร และคณะไปฮาวายครั้งนี้จึงมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมดังที่ปรากฏอยู่ เวลานี้ได้มีการยื่นเรื่องให้ สตง.ตรวจสอบว่าถูกต้อง เหมาะสม ควรไม่ควรอย่างไร ถือว่าเป็นวิธีการที่ทำให้คลี่คลายความเคลือบแคลงสงสัยและความโปร่งใส แม้กระทั่งบุคคลที่ร่วมเดินทางไปด้วยก็รู้ว่าใครเป็นใครกันบ้างเพราะสังคมทุกวันนี้ไม่สามารถปกปิดกันได้แล้ว ขอเพียงอย่าคิดว่าเป็นเรื่องของอารมณ์หรือการทำลายกันทางการเมือง.

“สายล่อฟ้า”