หัวข้อข่าว: มีชัย’ขอศึกษาโทษ’ใบดำ’ก่อนสรุป
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559
“มีชัย” แจงฐานความผิดเลือกตั้งมีหลายประเภท ต้องทำ กม.ลูกให้เคลียร์ โดยเฉพาะโทษ “ใบดำ” เนื่องจากไม่เคยมีใน รธน.ฉบับไหนมาก่อน
วานนี้ (19 ก.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า กกต.ได้มาตามคำเชิญของ กรธ. เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นถึงร่างพ.ร.ป.ที่ กกต.ได้ส่งมายัง กรธ. 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยสิ่งสำคัญที่ฝ่ายยกร่างกำลังศึกษาอยู่ตอนนี้ ก็คือเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับที่ส่งมา ว่าแตกต่างจากของเดิมอย่างไร และเนื้อหานั้นครบถ้วนตามร่าง รธน.หรือยัง อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่ากำหนดการที่จะส่งร่าง พ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้องกับ กกต.นั้น น่าจะเป็นวันที่ 28 ก.ย.
เมื่อถามถึงบทลงโทษทางการเมือง ที่มีทั้งการตัดสิทธิเลือกตั้ง 5-10 ปี และการตัดสิทธิการเป็นผู้สมัครตลอดชีวิตนั้น นายมีชัย ชี้แจงว่าความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จะมีทั้งประเภทที่ไม่เกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง เช่น การฉีกบัตร การจำหน่ายสุรา ซึ่งฐานะความผิดจะเป็นการตัดสิทธิการเลือกตั้ง กับความผิดฐานทุจริตเลือกตั้ง เช่น การซื้อเสียง ขนคน ซึ่งศาลจะวินิจฉัยว่ามีความเชื่อมโยงชัดเจนถึงขั้นตัดสิทธิการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีผลเท่ากับการไม่สามารถดำรงตำแหน่งทาง การเมืองตลอดชีวิตหรือไม่ อย่างไรก็ตามการทุจริตการเลือกตั้งนั้น ศาลก็อาจสั่งให้ตัดสิทธิการเลือกตั้ง 5-10 ปี ไปด้วยก็ได้
“ลักษณะความผิด อาจจะมีน้ำหนักแตกต่างกัน เวลาทำกฎหมายลูก ก็จะไประบุความผิดเอาไว้ให้ชัด ทั้งนี้ เพราะการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งบางกรณี อาจจะไม่ถึงขั้นการทุจริตต่อการเลือกตั้งก็ได้ เช่น ฉีกบัตร ก็ไม่ได้ทุจริตต่อการเลือกตั้ง แต่จะต้องงดใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจะมีระดับความผิดของมัน ทั้งนี้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเองก็ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ จนกว่าจะพ้นเวลาที่กำหนด ต่างจากการทุจริต ซึ่งจะถูกเพิกถอนสิทธิการเป็นผู้สมัครซึ่งมีผลตลอดไป แต่ถ้าไม่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งด้วย เขาก็ยังไปลงคะแนนได้” นายมีชัย กล่าว
ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวภายหลังหารือร่วมกับนาย มีชัย ว่าได้ชี้แจงถึงสาระสำคัญในร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ กรธ. โดยวันที่ 28 ก.ย.นี้ กรธ. จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อกฎหมายลูกของ กกต. และเชิญให้ กกต.มารับความเห็น หาก กรธ. มีข้อสงสัย กกต.ก็จะชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลที่เขียนกฎหมายในแต่ละมาตรา
ส่วนกรณีการกำหนดโทษเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งหรือ ใบดำ ทาง กรธ.ได้ชี้แจงว่า จะเป็นฝ่ายดำเนินการเขียนรายละเอียดเองว่าโทษใดที่เข้าข่ายลักษณะ ใบดำ เพราะคำว่าทุจริตการเลือกตั้ง ตามมาตรา 98 (11) ใน รธน.ฉบับผ่านประชามติ ไม่เคยปรากฏขึ้นในกฎหมายฉบับใดๆ มาก่อน ดังนั้น รายละเอียดการกำหนดต้องนำไปคิดเองว่าจะใส่ไว้อย่างไรบ้าง รวมถึงโทษใดที่จะเข้าข่ายเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือใบแดง เพื่อที่เวลา กกต.ส่งคำร้องไปให้ศาลพิจารณา และยังเป็นการสะดวกต่อศาลในการพิจารณาคำร้องตามที่ กกต.ส่งสำนวนไปให้.