ยัน’2ก.-1ส.’รับสินบน ปปช.ยอมรับข้อมูลตรงกับสตง.มั่นใจโอกาสสูง’ไอ้โม่ง’ถูกเชือด

หัวข้อข่าว: ยัน’2ก.-1ส.รับสินบน ปปช.ยอมรับข้อมูลตรงกับสตง.มั่นใจโอกาสสูงไอ้โม่งถูกเชือด

ที่มา: แนวหน้า ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

 

ป.ป.ช.ยืนยันข้อมูลรายชื่อ “2 ก.-1 ส.” เอี่ยวรับสินบน “โรลส์-รอยซ์” ตรงกับข้อมูลของ สตง. มั่นใจมีโอกาสสูงที่จะสาวขึ้นไปจนจัดการ กับไอ้โม่งตัวเขมือบเงินใต้โต๊ะได้ ด้านทีดีอาร์ไอแนะ “บิ๊กตู่” แยกประเภท “สินบน” อย่าเหมาเข่งเว้นโทษคนจ่ายทุกคดี ชี้เป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ

 

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ถึงกรณี นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุข้อมูลตัวย่อรายชื่อ “2 ก.” กับ “1 ส.” ซึ่งเป็นบุคคลที่พัวพันกับการรับสินโครงการจัดซื้อเครื่องยนต์จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ เมื่อปี 2534 ว่า เป็นข้อมูลตรงกับ ป.ป.ช. โดยบุคคลเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบการจัดซื้อ เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ป.ป.ช.ไม่มีข้อมูลลึกถึงขั้นว่ามีพฤติการณ์ไปกินข้าวด้วยกันที่โรงแรมในวันลอยกระทง

 

ทั้งนี้ในส่วนข้อมูลสินบนโรลส์-รอยซ์นั้น ป.ป.ช.มีข้อมูลอยู่พอสมควรแล้ว ขณะนี้ กำลังรอข้อมูลจากป.ป.ช.อังกฤษอยู่ ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ว่า จะส่งข้อมูลมาให้ ป.ป.ช.ได้เมื่อใด และยังคาดเดาไม่ได้ว่า ป.ป.ช.อังกฤษจะส่งรายชื่อผู้ได้รับสินบนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้ป.ป.ช.หรือไม่

 

กระนั้นก็ตามหากในที่สุดแล้ว ป.ป.ช. อังกฤษไม่ส่งข้อมูลรายชื่อผู้รับสินบนมาให้ ก็เป็นหน้าที่ป.ป.ช.ต้องไปสืบหาหลักฐานเองว่า ใครเป็นผู้เกี่ยวข้องรับสินบน ซึ่งป.ป.ช.มั่นใจว่า มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะสามารถหาตัวผู้รับสินบนได้ เพื่อนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งขณะนี้ป.ป.ช.พอมีข้อมูลเชิงลึกส่วนหนึ่งแล้ว

 

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังเสนอขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเว้นโทษอาญาแก่ผู้ให้สินบน โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายแทน เพื่อหากนำข้อมูลมาเอาผิดกับนักการเมือง ข้าราชการ หรือ เจ้าหน้าที่ที่รับสินบนนั้น นายสรรเสริญกล่าวว่า ถือเป็นข้อเสนอที่ดี ที่ผ่านมาในรายงาน ผลการศึกษาของป.ป.ช.เรื่องปัญหาสินบน ได้ข้อสรุปว่า หากไม่ดำเนินการเรื่องโทษจำคุก แก่ผู้ให้สินบน โดยให้มีแต่โทษปรับ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหามากกว่า เพราะทำให้ผู้ให้สินบนกล้าเปิดเผยข้อมูล เพราะปกติคนกลัวโทษทางอาญา ติดคุก แต่สามารถยอมรับเรื่องโทษปรับได้

 

ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า ยังไม่มีการนำเรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์ เข้าที่ประชุมเพราะยังอยู่ในขั้นตอนแสวงหาข้อมูลถ้าหากมีความคืบหน้าจะมีการรายงานจากเลขาธิการ ป.ป.ช. ให้ทราบภายหลัง

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวกรณี บริษัท โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนจัดซื้อเครื่องยนต์ แก่เจ้าหน้าที่รัฐของไทยว่า เรื่องที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ ขออย่าได้ยกมาเป็นประเด็นเลย อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังคิดหาวิธีการ แล้ว ซึ่งมีหลายแนวทาง ส่วนแนวทางแก้ไขกฎหมายอาญาในเรื่องการรับสินบนที่กระทรวงการคลังเสนอมานั้น ถือเป็นวิธีการของ ต่างประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำ เพราะต้องหารือกันก่อนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะเรื่องนี้มีทั้งผู้ให้และผู้รับ หากตรวจสอบไม่ได้แล้วหาคนผิดไม่ได้ ก็ต้องกลับไปดูที่คนให้สินบน แล้วดูว่าจะทำอย่างไรกับคนให้สินบนบ้าง โดยให้ไปศึกษาสิ่งที่ ต่างประเทศได้ดำเนินการมาก่อน

 

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเด็นเรื่องสินบนในแวดวงราชการ โดยหลักการแล้ว ทั้งผู้ให้ และผู้รับมีความผิดทั้งคู่ แต่ว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อัยการต้องชั่งน้ำหนักความผิดฝ่ายไหนร้ายแรงกว่ากัน แล้วกันอีกฝ่ายเป็นพยานแผ่นดิน

 

เมื่อถามว่าที่ผู้ว่าฯ สตง.ระบุ 2 ก. กับ 1 ส. มีเอี่ยวสินบนโรลส์-รอยซ์ ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ สตง.ได้รายงานเรื่องชื่ออักษรย่อดังกล่าวให้ที่ประชุมได้รับทราบหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า พูดเรื่องอื่น ไม่ถึงขนาดเปิดชื่ออักษรย่อ แต่ถึงรู้เขาคงไม่แจ้งในที่ประชุม เมื่อถามต่อว่า การเปิดเผยชื่อแบบนี้จะทำให้ไก่ตื่นหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่ทราบ แต่จริงๆเขาก็ตอบสนองสื่อ พอไม่เปิดก็บอกว่า ไม่แน่จริง เขาก็วางตัวไม่ถูกเหมือนกัน

 

วันเดียวกัน นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ (ทีดีอาร์ไอ) มีความเห็นแย้งในบางส่วนต่อประเด็นจะแก้ไขกฎหมาย โดยลดโทษผู้ให้สินบนไม่ต้องรับผิดทางอาญา แต่ให้รับผิดเฉพาะทางแพ่ง และจะกันไว้เป็นพยานเพื่อให้ยอมบอกข้อมูลผู้รับ

 

นายสมเกียรติระบุว่า สินบนมี 2 ประเภท คือ ให้เพราะถูกเรียก และให้เพื่อเอาผลประโยชน์ ซึ่งตนเห็นต่าง เพราะสินบนทั้ง 2 แบบ ลักษณะไม่เหมือนกันและควรต้องถูกปฏิบัติโดยกฎหมายไม่เหมือนกันด้วย

 

ประเภทที่ให้เพราะถูกเรียก เวลาติดต่อราชการแล้วถูกดึงเรื่องทั้งที่เรามีสิทธิตามกฎหมาย เพราะข้าราชการอยากได้อะไรก็แล้วแต่ เรื่องแบบนี้ถ้าให้สินบนไปแล้ว แล้วถ้าผู้ให้สินบนมาช่วยแฉข้าราชการ จนคดีไปสู่กระบวนการยุติธรรมได้ จะเป็นประโยชน์กับประเทศ ให้ทำแบบที่นายกฯ พูดได้เลย ว่า อย่าเอาผิดคนให้สินบนหรือคนที่ถูกเรียก เขาจะได้มีแรงจูงใจมาให้ข้อมูลข้าราชการที่ทุจริต

 

“แต่ไม่ควรใช้แนวคิดแบบเดียวกันกับผู้ให้สินบนเพื่อหวังผลประโยชน์ เช่น ให้สินบนเพื่อให้ได้สัมปทาน โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะการให้สินบนแบบนี้ไปสร้างการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่ง เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ กรณีแบบนี้ควรเอาผิดเช่นเดิม ไม่ควรไปแก้ไขกฎหมายให้คนให้สินบนหลุดพ้นจากความผิด ทางอาญาไปได้กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ เป็นการซื้อความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ใช่การซื้อความสะดวกในการติดต่อกับราชการ เพราะฉะนั้น การที่นายกฯ เสนอแนวคิด จนหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ โดยยังไม่ได้แยก 2 ประเภท ของการทุจริตคอร์รัปชั่นดีพอ ซึ่งมันต้องปฏิบัติกันคนละแบบ” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวในตอนท้าย