รัฐมนตรีคลังหญิงอินโดฯ กับภารกิจปราบโกง

หัวข้อข่าว: รัฐมนตรีคลังหญิงอินโดฯ กับภารกิจปราบโกง

ที่มา: คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง, โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

 

พิษณุ พรหมจรรยา ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

เมื่อวันก่อนได้อ่านบทสัมภาษณ์ ศรี มุลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหญิงของประเทศอินโดนีเซียในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ทำให้ได้เห็นแง่มุมที่น่าสนใจของเธอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแผนจัดการกับขบวนการโกงภาษี และผลงานการต่อต้าน ทุจริตในอดีต เลยอยากนำเรื่องราวของเธอมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักบุคคลสำคัญที่น่าสนใจของประเทศเพื่อนบ้านเราคนนี้กันบ้าง

 

ประสบการณ์การทำงานของเธอถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว ก่อนที่ อินทราวตี จะกลับเข้ามากุมบังเหียนเศรษฐกิจอินโดนีเซียรอบนี้ เธอเป็นถึงกรรมการผู้จัดการธนาคารโลก ดูแล 74 ชาติในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา แคริบเบียน ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก

 

อินทราวตี กลับมารับตำแหน่งที่บ้านเกิดในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด หรือโจโกวี่ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2559 ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์มองว่าเธอเป็นตัวเลือกที่ดี ที่โจโกวี่เลือกเข้ามาร่วมรัฐบาล เนื่องจากประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล บวกกับประวัติการจัดการข้าราชการคอร์รัปชั่นในอดีตของเธอ น่าจะช่วยหนุนกระแสความนิยมของ รัฐบาลให้เพิ่มขึ้น หลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่างานด้าน การต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาลค่อนข้างอืด และผลงานยังไม่ค่อย เข้าตาประชาชน

 

ตำแหน่ง รมว.คลัง นี้ถือเป็นงานถนัดที่ อินทราวตี คุ้นเคย เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะเธอเคยนั่งเก้าอี้ตัวนี้มาแล้วนานถึงเกือบ ห้าปี ตั้งแต่ปี 2548-2553 ซึ่งการทำหน้าที่ของเธอในคราวนั้น นอกจากจะได้รับการยกย่องในแง่การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็งซึ่งทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียฝ่าข้ามวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 มาได้แล้ว อินทราวตี ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่ บทบาทสำคัญในการกวาดล้างขบวนการโกงภาษีของอินโดนีเซีย อีกด้วย ผลงานในการบริหารเศรษฐกิจทำให้เธอได้รับรางวัล Finance Minister of the Year ในปี 2006 จาก Euromoney และในปี 2016 นิตยสาร Forbes ก็จัดให้เธออยู่ในอันดับที่ 36 ของสตรีที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

 

ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในคราวที่แล้ว เธอได้ปฏิรูปการบริหารงานในกระทรวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้กวาดล้างขบวนการคอร์รัปชั่นโดยได้ไล่เจ้าหน้าที่ ของกระทรวงการคลังซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตออกจากตำแหน่งเป็นร้อยคน และลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่อีกเป็นพันๆ คน เป็นผลงานที่ทำให้เธอได้รับคำชมอย่างมากจากสาธารณชน และ ผลจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้ฐานภาษีบุคคลธรรมดาในช่วง 5 ปีที่อินทราวตีเป็นรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นจากแค่ 4 ล้านกว่าคนเป็นเกือบ 16 ล้านคน

 

ภารกิจสำคัญของอินทราวตี ในการกลับมารับตำแหน่งรอบนี้ คือการพยายามดึงเม็ดเงินที่รั่วไหลออกจากระบบการจัดเก็บภาษีและบางส่วนถูกนำออกไปฝากไว้ในต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลประเมินว่ามีมูลค่าสูงถึงกว่า 300 ล้านเหรียญให้กลับเข้ามาเป็นรายได้ของรัฐ พร้อมทั้งดำเนินการเพื่ออุดช่องว่างที่ทำให้เกิดการโกงภาษี โดยหวังว่าจะช่วยให้สถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐดีขึ้น เพื่อให้รัฐบาลมีเงินสำหรับลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่น ถนน ทางรถไฟ และ ท่าเรือเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งช่วยลดแรงกดดันต่อการขาดดุลงบประมาณของประเทศในระยะต่อไปด้วย

 

ในการนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศโครงการนิรโทษกรรมทางภาษี (Tax Amnesty) เพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจที่นำเงินที่นำ เงินออกไปฝากไว้ ในสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ เพื่อเลี่ยงภาษี สามารถนำเงินกลับเข้ามายังอินโดนีเซียได้โดยเสียภาษีในอัตราต่ำ พิเศษแค่ 2-5% ภายในเดือน มี.ค. 2560 อินทราวตี บอกว่าหลังจากนั้น รัฐบาลจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่โกงภาษี โดยหากพบว่า มีการยื่นภาษีไม่ถูกต้อง รัฐบาลจะปรับแรงถึง 200% ของยอดภาษี ที่ต้องชำระ

 

ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศจะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ให้รายงานการถือสินทรัพย์ในต่างประเทศของประชาชนในแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบสินทรัพย์ในต่างประเทศของคนในประเทศโดยรัฐบาลจะทำได้ง่ายขึ้น และการขนเงินออกไปซุกยังต่างประเทศเพื่อเลี่ยงภาษีหรือเจตนาทุจริตอื่นๆ ก็จะถูกติดตามได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

 

เห็นประเทศเพื่อนบ้านขยับตัวแบบนี้แล้ว ก็ยิ่งชัดเจนว่าความตื่นตัวเรื่องการจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้เป็นปรากฏการณ์พิเศษเฉพาะที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกระแสโลกที่ประเทศต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญ ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยจึงต้องเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และพยายามร่วมมือกันแสวงหาแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศเอาไว้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่รอไม่ได้ เพราะถ้ามัวแต่ชักช้าเดี๋ยวเพื่อนบ้านที่อยู่หลังเราจะแซงหน้าเราไปหมด