หัวข้อข่าว รายงาน: ‘พรีม่า‘แนะใช้หลักธรรมาภิบาลป้องธุรกิจยาแสนล้าน-ลดราคาถูกลง
ที่มา; ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559
ธนดล ยิ่งยง
นโยบายสำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือ การสร้างหลักธรรมาภิบาล ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง หากพบกรณีที่มีการกระทำความผิด จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และยังต้องสื่อสารนโยบายดังกล่าวให้ประชาชนได้รับรู้ในวงกว้างอย่างทั่วถึงด้วย
สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) ถือเป็นหนึ่งหน่วยงานในระบบสาธารณสุข ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งมาประมาณ 46 ปี และได้มีส่วนสนับสนุนสิทธิของประชาชนและผู้ประกอบการวิชาชีพทางการแพทย์ ในการเลือกใช้ยาคุณภาพที่สามารถให้ผลรักษาโรคได้สูงสุด โดยใช้หลักเกณฑ์จริยธรรมในการปฏิบัติงานมาโดยตลอด ได้จัดสัมมนา “ธรรมาภิบาลในระบบสาธารณสุขและยาของสังคมไทย” เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังคมทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการใช้หลักธรรมาภิบาล สำหรับการดำเนินธุรกิจ เพราะธุรกิจยาที่ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทถูกส่งไปยังโรงพยาบาลและร้านขายยาต่างๆ มีมูลค่ามหาศาลและมีผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภค โดยเฉพาะหากใช้หลักธรรมาภิบาล จะส่งผลให้การเข้าถึงยาที่มีคุณภาพของประชาชนมีเพิ่มมากขึ้น
กระตุ้นสร้างมาตรฐานโลก
ภ.ญ.บุษกร เลิศวัฒนสีวลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์ (พรีม่า) แสดงความเห็นว่า การสร้างหลักธรรมาภิบาลจะต้องได้ความร่วมมือในภาพใหญ่ในทุกหน่วยงานของระบบสาธารณสุขไทย รวมถึงมีหลักเกณฑ์มาตรฐานระดับสากล เพื่อเป็นการยกระดับให้ระบบสาธารณสุขไทยสูงขึ้นไปกว่านี้ เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจยามีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นปัจจัย 4 ของคน ในการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก ธุรกิจยา เป็น 1 ใน 3 ธุรกิจที่มีการจัดทำเวิร์กช็อปทุกครั้งที่มีการประชุมนอกจากธุรกิจเครื่องมือแพทย์และการก่อสร้าง
ปัจจุบันพรีม่ามีสมาชิก 37 บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจยาและธุรกิจเกี่ยวข้อง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลโดยตลอด ไม่ได้ใช้ระบบการจ่ายผลประโยชน์ให้กับหน่วยราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีหลักเกณฑ์ปฏิบัติที่ถือเป็นแนวทางให้กับสมาชิกได้นำไปใช้ และยังทำหน้าที่ฝึกอบรมให้กับสมาชิก รวมถึงการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจที่อาจจะมีพฤติกรรมเข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชันด้วย ล่าสุดยังมีคณะกรรมการอีกหนึ่งชุดที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับหน่วยงานภายนอก เพื่อปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลด้วย
ก่อสร้าง-อสังหาฯคอร์รัปชันนำโด่ง
ขณะที่ “กุลเวช เจนวัฒนวิทย์” ที่ปรึกษาโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ระบุว่าปัจจุบันธุรกิจที่พบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดจะเป็นธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการดำเนินการของทางโครงการ จะเป็นตัวกลางในการเจรจากับหน่วยงานที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยว ข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาที่นำไปสู่กระบวนการของการทุจริต ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ นอกเหนือจากการดำเนินการให้บริษัทเอกชนประกาศเจตนารมณ์ที่จะไม่ทุจริต และการเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมระบบการป้องกันการทุจริต
นอกจากนี้ทางโครงการยังได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นหรือ ACT เพื่อเตรียมมอบฉลาก ACT GOOD ที่รับรองว่าหน่วยงานดังกล่าวมีธรรมาภิบาล ส่วนการใช้หลักธรรมาภิบาลกับธุรกิจยา มองว่าประโยชน์ที่จะได้รับเห็นได้อย่างชัดเจน คือ ต้นทุนยาจะถูกลงและราคายาจะลดลง เพราะการจ่ายผลประโยชน์ต่างๆ ล้วนเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการจะนำไปรวมกับค่าการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น
ขีดโทษจำคุก5ปีปรับ1แสน
ส่วนศ.คลินิก น.พ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา ระบุว่าที่ผ่านมาแพทยสภาได้รณรงค์ให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีการดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลโดยตลอด รวมถึงช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา นิสิตนักศึกษาแพทย์ไทย ยังได้ร่วมกันร่างหลักจรรยาบรรณเพื่อใช้เป็นแนวทางตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาด้วย นอกจากนี้ แพทยสภายังมีกฎระเบียบที่นำมาใช้เป็นแนวทางให้กับบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลด้วย โดยเฉพาะหากผู้ใดเห็นว่ามีการกระทำความผิด ประชาชนที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องก็กล่าวโทษได้ แม้ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้น
ขณะที่ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องมีมาตรการทางกฎหมายควบคู่ไปกับการส่งเสริม ตามหลักสากลจากการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ UNCAC ที่สมาชิกในแต่ละประเทศต้องกำหนดหลักเกณฑ์ภายในนิติบุคคล ตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ในการให้ทรัพย์สินหรือสินบนกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ไม่เฉพาะหน่วยงานของประเทศเท่านั้น แต่หมายความถึงองค์กรระหว่างประเทศด้วย ที่มีการระบุโทษทั้งจำและปรับกับผู้ให้สินบน ที่มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับ 1 แสนบาทด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่มีการลงโทษผู้ให้สินบน จากที่ผ่านมาตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้ให้สินบนจะเป็นตัวสนับสนุน ไม่ใช่ตัวการที่แท้จริง
กรณีที่คนไปทำผิดนั้นเป็นนิติบุคคล โดยนิติบุคคลนั้นไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม ก็มีความผิดโดยมีบทลงโทษปรับ 1 เท่าของความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 2 เท่า แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่ ถือเป็นการกระทำความผิด สำหรับมาตรการภายในที่เหมาะสม มีหลักการใกล้เคียงกับหลักธรรมาภิบาล แต่เน้นมาตรการป้องกันการให้สินบนที่เหมาะสม ซึ่งเริ่มตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ การสื่อสารและฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญจะต้องมีนโยบายจากผู้บริหารสูงสุดลงมา ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันการทุจริตภายในองค์กร และองค์กรจะต้องมีระบบการบริหารต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการป้องกัน รวมถึงมีช่องทางการแจ้งข่าวสารในเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจน และการติดตามทบทวนตลอดเวลาว่าระบบมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่