หัวข้อข่าว: วิพากษ์ขึ้น’บัญชีดำ‘ ‘นักธุรกิจโกง‘
ที่มา: มติชน ฉบับวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559
หมายเหตุ – นักวิชาการนักธุรกิจและนักการเมืองให้ความเห็นกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอแนวคิดระหว่างการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ให้ขึ้นบัญชีดำ นักธุรกิจที่กระทำการทุจริต เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามาประมูลงานภาครัฐได้อีก
สามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย ในฐานะคณะทำงานติดตาม การยกร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย(พท.)
กรณีการรวบรวมรายชื่อนักธุรกิจที่ทุจริตเพื่อขึ้นบัญชีดำ ป้องกันไม่ให้เข้ามาประมูลงานภาครัฐได้อีกนั้น ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่น่าดำเนินการอย่างมากที่สุด เพราะว่าการฮั้วประมูลกันจะทำให้เกิดความเสียหายในภาครัฐ ที่ผ่านมาเราก็มีตัวอย่างให้เห็นมาโดยตลอด
ในทางตรงกันข้าม ผมคิดว่าแนวทางการปฏิบัติจะดำเนินการห้ามให้คนที่ถูกขึ้นบัญชีดำเข้ามาฮั้วประมูลไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมได้จริงหรือไม่ นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งสิ่งที่สำคัญจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรม และจัดการกับทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ถ้าทำได้เช่นนี้จริงๆก็จะเกิดผลดีกับภาครัฐเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับมาตรการในการดำเนินการป้องกันนั้นผู้รับผิดชอบจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับผู้รับผิดชอบโดยตรงจะต้องไปหามาตรการบังคับใช้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ขนาดมีระบบประมูลแบบอีออคชั่น (E-Auction) ที่เน้นการเข้าเสนอราคาในลักษณะประมูลราคาแข่งขันกันผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ที่ให้อยู่คนประมูล คนเสนอราคา อยู่คนละที่กัน ยังมีปัญหาเลย เพราะฉะนั้นผมอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคิดค้นมาตรการมาเพื่อให้ปฏิบัติกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ส่วนราชการทุกภาคส่วน โดยไม่เลือกปฏิบัติ และดำเนินการอย่างเป็นธรรมไม่กลั่นแกล้งกัน
อย่างไรก็ตาม การขึ้นบัญชีนักธุรกิจที่ทุจริตไม่ให้เข้ามาฮั้วประมูลกับภาครัฐนับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้รัฐไม่เกิดความเสียหาย
วิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการแบล๊กลิสต์ภาคเอกชนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น คงหมายถึงการทำเรื่องนี้ให้เป็นระบบและให้ภาคเอกชนร่วมด้วย เป็นเรื่องที่เห็นด้วย ในหลักการเป็นสิ่งที่ถูกต้อง กรณีมีภาคเอกชนไปประมูลงานรัฐ ทำผิดระเบียบทำผิดกฎหมาย ทำให้รัฐเสียหาย ปกติรัฐจะแบล๊กลิสต์อยู่แล้ว การจะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ จะให้ภาครัฐทำอย่างเดียวคงไม่ได้ ควรทำร่วมกันตั้งแต่ภาคเอกชน ราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้มีกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัวใหม่ ที่มีใจความสำคัญว่า กรณีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเอกชนไปจ่ายสินบน ทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. เจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต้องรับผิดชอบด้วย ยกเว้นว่าบริษัทนั้นมีการควบคุมภายในที่เหมาะสม เป็นกฎหมายที่เอาผิดกับเอกชนได้เลย
ตอนนี้ภาคเอกชนต้องมาคิดวิธีและระบบร่วมกัน หากจะนำเรื่องแบล๊กลิสต์เมื่อมีการ ทุจริตคอร์รัปชั่นมาใช้ เพื่อจะแบ่งแยกให้ชัดเจนว่ากรณีที่สมควรจะแบล๊กลิสต์หรือไม่แบล๊กลิสต์เป็นอย่างไร มีหลักเกณฑ์กลางหรือระเบียบอย่างไรที่ต้องเป็นกลาง เป็นธรรม ชัดเจนและทุกฝ่ายยอมรับ ที่ผ่านมามีการแบล๊กลิสต์ภาคเอกชน จะทำเป็นรายโครงการ แต่ต่อไปในยุคดิจิทัล ข้อมูลข่าวสารถึงกันหมดหากมีเอกชนรายหนึ่งทุจริตคอร์รัปชั่นสังคมภาพรวมก็จะรับรู้กันหมด
การแบล๊กลิสต์เอกชนที่ทุจริตจากความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน มองว่าจะช่วยป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นได้
ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน
การประมูลงานของรัฐมีระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ฉบับที่สำคัญก็คือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการ พัสดุฯ, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดต่อการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ, ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารส่วนท้องถิ่นฯ เป็นต้น บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้แล้วการที่จะกระทำนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดจะกระทำไม่ได้ เว้นเสียแต่จะออกกฎหมายมาใหม่หรือแก้ไขของเดิม หากอยากจะขึ้นบัญชีเป็นการภายในเองก็ขึ้นไปแต่จะเอาไปเป็นเหตุที่จะไปห้ามเขาไม่ให้ประมูลไม่ได้ถ้าเขาไม่ได้ทำผิดเงื่อนไข เช่น เคยทิ้งงาน เป็นต้น หากขืนทำเช่นนั้นก็อาจจะถูกฟ้องร้องเป็นคดีทั้งคดีปกครองและอาญาได้ครับ
การขึ้นบัญชีดำเป็นการภายใน ประเภทต้องจับตาเป็นพิเศษเท่านั้นเอง แต่ว่าจะไปห้ามเลยนั้นต้องทำเป็นกฎหมาย และการที่จะไม่ให้เขาประมูล จะมีเงื่อนไขตามกฎหมาย เช่น ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นผู้ทิ้งงาน แบงก์การันตีไม่ครบ หรือเอกสารไม่ครบ หรือผลงานในอดีตไม่ผ่านเกณฑ์ ถ้าจะขึ้นเลยว่านักธุรกิจชื่ออะไรบ้างที่ถูกประกาศห้าม มันทำไม่ได้ เพราะการประมูลงานนั้นไม่มีใครทำในนามบุคคล แต่เป็นนิติบุคคล มีหุ้นส่วนหลายคน อย่างไรก็แล้วแต่ มองว่าเป็นความริเริ่มที่ดี แต่ต้องทำให้มีกฎหมายรองรับ รอบคอบกว่านี้
แต่การทุจริตคอร์รัปชั่นมันปรบมือข้างเดียวไม่ดัง นักธุรกิจต่างๆ ไม่อยากเสียเงินแต่ว่าหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีส่วน บางที่มีการได้เงินทอน มันต้องทำหลายๆ อย่าง กฎหมายเป็นเพียงมาตรการอื่นเท่านั้นเอง แต่มันยังมีการสร้างระเบียบวินัย สร้างค่านิยมอะไรต่างๆ บางประเทศคนที่ทุจริตในการสอบตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ เขาไม่ให้ทำงานในหน่วยงานของรัฐเลย เช่น ฮ่องกง มีวัฒนธรรมน้ำร้อนน้ำชา แต่เดี๋ยวนี้เขามีความโปร่งใสรองจากสิงคโปร์แล้ว การทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยมาก แต่บ้านเรานั้นเคยมีกรณีที่ข้าราชการไปเรียนหนังสือ บางคนลอกวิทยานิพนธ์ มีการประกาศยกเลิกปริญญาก็ยังทำงานต่อไปแบบหน้าตาเฉย
ถามว่าเป็นการพูดที่หมายถึงคนบางกลุ่มหรือไม่ คำพูดไม่ใช่กฎหมาย แล้วเขาก็ไม่ได้อยู่ในเก้าอี้ตลอดไป เต็มที่ก็อยู่จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แม้จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งก็ต้องมีกฎหมายรองรับ ทางที่ดี ถ้าจะทำอย่างนั้นต้องออกเป็นกฎหมายออกมา เพราะการบริหารราชการหรือการประมูลงาน มันเป็นบริการสาธารณะ บริการสาธารณะจะเลือกปฏิบัติต่อคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เราเป็นนิติรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย แม้ว่ากฎหมายบางครั้งจะออกมาในภาวะที่มีรัฐบาลตามปกติหรือออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือจากการยึดอำนาจ มันก็ต้องใช้กฎหมายเป็นหลัก แม้คำสั่งจะเป็นลายลักษณ์อักษรแต่เมื่อขัดกับกฎหมายหลักก็ต้องรับผิด
อีกอย่างหนึ่ง หากไปกันเขาโดยไม่มีเหตุที่จะห้าม เขาก็สามารถนำคดีไปฟ้องศาลปกครองได้ หรือคดีอาญาในมาตรา 157 ก็ได้
เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ภาคเอกชนสนับสนุนนโยบายนี้อยู่แล้ว ปัจจุบัน ส.อ.ท.เป็นเครือข่ายของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่นโยบายดังกล่าวอยากให้พิจารณาขั้นตอนการขึ้นบัญชีดำ หรือแบล๊กลิสต์อย่างรอบคอบ และเป็นธรรม เพราะการจะขึ้นแบล๊กลิสต์ได้นักธุรกิจรายนั้นควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและคดีสิ้นสุดแล้ว เพราะอาจโดนกล่าวหาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้ ส่วนการแบล๊กลิสต์จะถาวร หรือมีกำหนดเวลา อยู่ที่ภาครัฐจะพิจารณา อาจเทียบเคียงกับกรอบเวลาล้มละลายตามกฎหมายก็ได้
ทั้งนี้ คาดว่านโยบายการขึ้นบัญชีดังกล่าวอาจเป็นผลพวงจากปัญหารถเมล์เอ็นจีวี กรณีนี้ควรตรวจสอบให้ชัดเจนและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย