‘วิษณุ’เมิน’บุญทรง’ขู่ฟ้องกลับ

หัวข้อข่าว ‘วิษณุเมินบุญทรงขู่ฟ้องกลับ

ที่มา; ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559

 

ผู้จัดการรายวัน360 – “วิษณุ” ย้ำไม่ได้ใช้ ม.44 ยึดทรัพย์ เผย “สมัยรัฐบาลมาร์ค-ปู” ก็มีแนวคิดให้กรมบังคับคดีมีอำนาจ ไม่สน “บุญทรง”ฟ้องกลับ เหตุทำตามหน้าที่ ระบุเจ้าหน้าที่สุจริตกฎหมายคุ้มครองแน่ แจงคดีอาญา-แพ่ง แยกส่วนกันได้ไม่ต้องรอ เผยรายชื่อ ขรก.เอี่ยวทุจริตล็อต 8 ออกสัปดาห์หน้า  ด้าน “อภิรดี” ไม่กังวล และไม่หนักใจ กรณี “บุญทรง” ขู่ฟ้อง ยันการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและทำอย่างรอบคอบแล้ว

 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ประกาศจะฟ้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการเรียกค่าเสียหาย ในส่วนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ว่า เป็นสิทธิของนายบุญทรง หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถทำได้ ส่วนกระบวนการรับเรื่อง และการพิจารณาจะเป็นอย่างไร ต้องว่ากันตามกฎหมาย มีคนรายงานให้ทราบว่า นายบุญทรงได้ทักท้วงในบางประเด็น คือ รัฐบาลใช้ ม.44 ไปยึดทรัพย์ ทั้งที่ตนอธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า ไม่ใช่ ถ้านายบุญทรง เข้าใจผิดต้องช่วยกันอธิบายให้เข้าใจ แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

 

นายวิษณุ กล่าวว่า ม.44 ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่รัฐในเวลาที่รัฐจะไปยึดทรัพย์เท่านั้น โดยใช้กระบวนการตามกฎหมายปกติ คือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ที่ใช้มา 3-5 พันราย แต่เมื่อคณะกรรมการทางกฎหมายบอกว่า ใครผิดแล้วจะต้องไปยึดทรัพย์ ปรากฏว่า ในกรณีที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท ทางกระทรวงเจ้าทุกข์ไม่สามารถทำได้  เพราะไม่มีเวลา ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญในการทำ จึงใช้ ม.44 ออกมา เพื่อให้การกรมบังคับคดีไปทำหน้าที่นี้ ซึ่งจะไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่มีเรื่องที่จะต้องให้ไปยึด  แต่เรื่องที่จะยึดเกิดมาจากคณะกรรมการได้วินิจฉัยมาก่อนแล้ว และมีคำสั่งทางปกครอง

 

รองนายกฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้แต่ละกระทรวงประสบปัญหา เพราะแม้ทรัพย์จะมีมูลค่าไม่มาก แต่เวลาไปยึด ทำไม่เป็น และยึดได้ยาก เรื่องดังกล่าวจึงมีความพยายามมาก่อนที่ คสช. จะเข้ามา ที่จะให้กรมบังคับคดี ไปทำการยึดทรัพย์ โดยกรมบังคับคดีท้วงมาตลอด ตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าอยากให้ออกกฎหมายให้อำนาจมาแก่เขา ต่อมาสมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รมว.ยุติธรรม ขณะนั้น ได้เตรียมเรื่องให้กรมบังคับคดี ตั้งกองบังคับคดีตามคำสั่งทางปกครอง แต่ยังติดอยู่ที่ว่า กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ยึด เพราะกฎหมายให้ยึดคำสั่งศาล จึงต้องพับเรื่องดังกล่าวไว้ มาถึงรัฐบาลนี้ จึงใช้ ม.44 ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจเข้าไปทำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปตั้งกอง

 

คดีแพ่ง-อาญา แยกกันพิจารณาได้

 

ส่วนข้อทักท้วงที่ระบุว่า คดีอาญายังไม่จบ แต่มีการดำเนินการเตรียมยึดทรัพย์นั้น เป็นคนละเรื่อง และคนละประเด็น เนื่องจากการดำเนินคดีวินัยกับบุคคล สามารถแยกทางกับคดีอาญา หรือคดีแพ่งได้  เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับ คนละข้อหา พิจารณาคนละศาล ใครจะทำก่อนหรือหลัง ไม่แปลก เพราะไม่ได้แปลว่าเมื่อศาลหนึ่งยกฟ้อง แล้วจะยกฟ้องทั้งหมด เช่น ยกฟ้องคดีอาญา แต่ผิดวินัย และถูกไล่ออก หรือยกฟ้องคดีอาญา แต่ต้องชดใช้ทางแพ่ง หรือยกฟ้องทางแพ่ง แต่ต้องติดคุก แต่การเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนี้ อายุความสั้นเพียง 2 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 16-17 ก.พ. 60 ถ้าจะถ่วงเวลาให้คดีอาญาจบ รับรองว่าเลยอายุความ ตอนนั้นจะฉุกละหุก ดังนั้น ทั้งหมดนี้อยู่บนความเป็นธรรมพื้นฐาน และมาตรฐานปกติ ขอยืนยันได้ ส่วนจะผิด หรือถูก หรือที่นายบุญทรง โต้แย้งในข้ออื่น ไม่ใช่เรื่องที่ตนต้องไปเถียงกับท่าน ที่บอกว่าเรื่องจำนำข้าว จีทูจี ไม่มีทุจริต ต้องไปว่ากันในศาล ตนไม่สามารถตอบได้

 

เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่า การใช้ ม.44 ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจในการยึดทรัพย์ก่อนที่จะมีคำสั่งทางปกครอง เหมือนเป็นการตั้งใจออกมารองรับไว้ก่อน นายวิษณุ กล่าวว่า จะก่อนหรือหลัง ไม่แปลก ถึงออกมาก่อน แต่ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องรอคำสั่งทางปกครองก่อน แต่ที่ออกมาให้อำนาจก่อน เพื่อจะได้เตรียมการไว้ โดยคำสั่งออกมาก่อนที่จะมีการลงนามคำสั่งกรณีจีทูจี ไม่กี่สัปดาห์  ส่วนที่มีการถกเถียงโต้แย้งกันว่า ใครจะลงนามในการออกคำสั่งของกรณี จีทูจี ไม่ทราบว่าข่าวนี้ออกมาได้อย่างไร แต่ในกระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้มีปัญหาอะไร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะรู้ว่ามีการลงนาม และจบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา จากนี้เป็นเรื่องของกระทรวง ที่ต้องส่งคำสั่งทางปกครองไปให้นายบุญทรงกับพวก ถ้าภายใน 30 วัน ยังไม่อุทธรณ์ จะมีการเตือนอีก 15 วัน ถ้ายังไม่ดำเนินการอะไร เมื่อครบ 45 วัน นับแต่วันส่งคำสั่งไปให้ กรมบังคับคดีจะเข้าไปยึดทรัพย์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม  ไม่ได้ยึดจากนายบุญทรง มาเป็นของใคร แต่ยึดมาเป็นของแผ่นดิน เพราะไม่มีสินบน หรือรางวัลนำจับ ทุกอย่างทำตามหน้าที่

 

ไม่สนบุญทรงขู่ฟ้องกลับ

 

ส่วนที่นายบุญทรงออกมาขู่ฟ้องกลับ จะทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความเกรงกลัวหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบว่ากลัวหรือไม่ แต่ก็ต้องดำเนินการต่อไป ทุกคนทำตามหน้าที่ เมื่อศาลบอกว่าผิด คือผิด และ ม.44 ไม่ได้คุ้มครองทุกคน ทุกสถานการณ์ เพราะมีข้อแม้ว่า ต้องทำภายใต้ความสมควรแก่เหตุ สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ ต้องขอบคุณ นายพูลเดช กรรณิการ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่แสดงความเป็นห่วง และเตือนมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ข้อกฎหมายบางเรื่องได้พิจารณามาก่อนที่นายพูลเดช จะยื่นหนังสือแล้ว ไม่ได้บอกว่ามั่นใจอะไร แต่ทุกคนทำไปตามหน้าที่

 

รมว.พาณิชย์ ยันทำตามหน้าที่

 

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไม่กังวล และ ไม่หนักใจกรณีที่นายบุญทรงจะฟ้องกลับ เพราะมั่นใจว่าการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งหมด ได้ตามขั้นตอนที่ถูกต้องและรอบคอบแล้ว หากนาย บุญทรงจะฟ้องร้องดำเนินคดี ก็สามารถทำได้

 

โดยในขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการเพื่อส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ที่ถูกเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้ง 6 ราย และตามขั้นตอน ต้องชดใช้ค่าเสียหายภายใน 30 วัน หากครบ 30 วันแล้ว ยังเพิกเฉย ก็จะส่งหนังสือแจ้งเตือนอีก 15 วัน หากยังไม่จ่ายอีก ก็จะส่งเรื่องเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดีต่อไป โดยมีกรมบังคับคดีที่จะไปดำเนินการอายัดทรัพย์ตามกฎหมาย

 

ยันคดีจีทูจีไม่มีลัดขั้นตอน

 

ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายบุญทรง ระบุจะฟ้องกลับทั้งแพ่งและอาญา ต่อผู้เกี่ยวข้อง โดยอ้างว่าการใช้ ม.44 เป็นการลัดขั้นตอน รวมทั้งเรื่องการลงนามที่อ้างว่าจะต้องเป็นนายกฯ ลงนามเท่านั้น จะมอบหมายให้รัฐมนตรีอื่นลงนามแทนไม่ได้ ว่าการที่นาย บุญทรง อ้างว่าลัดขั้นตอนนั้น คงจะไม่ใช่ เพราะสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากนายบุญทรง รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็เป็นไปตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน ไม่ได้มีการลัดขั้นตอนแต่อย่างใด แม้แต่สิทธิ์การร้องต่อศาลปกครองของนายบุญทรง ก็ยังอยู่ตามปกติ ซึ่งเขาคงใช้สิทธิ์นี้ เพียงแต่ว่า ม.44 ที่ให้อำนาจกรมบังคับคดีนั้น เป็นเพียงมาทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งไม่ได้มีการลัดขั้นตอนแต่อย่างใด.