วิเคราะห์: 2 ปีรัฐบาล’บิ๊กตู่’ ลุยสร้าง’ผลงาน’ แต่…ระวังผลร้าย

หัวข้อข่าว วิเคราะห์: 2 ปีรัฐบาลบิ๊กตู่ลุยสร้างผลงานแต่…ระวังผลร้าย

ที่มา; มติชน ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ความน่าเชื่อถือไม่มี

สิ่งดีดีมีมาก็หาไม่

จะฮึดฮัดตัดพ้อต่อใดใด

ความน่าไว้วางใจก็ไม่มา

 

ขรรค์ชัย บุนปาน

๏ มวยฮึดยกสุดท้าย ถีบถอย หมูฮา

พยัคฆ์กะปริบตาปรอย กะปลกกะเปลี้ย

ส่งเสียงหึ่งตวาดหอย ผสานแหบ

หวังถั่งเช่าเกี้ยเซี้ย ก่อนสิ้นแสงฉานฯ

 

ฟังน้ำเสียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีร่วมคณะแถลงผลงานรัฐบาลครบ 2 ปีแล้ว ยังคงความเข้มแข็งและเชื่อมั่น

 

ผลงานที่รัฐบาลนำอวดมีหลายประการ พล.อ.ประยุทธ์สรุปว่า ทำได้ดีทุกด้าน

 

ผลงานที่หยิบมาโชว์ มีอาทิ ผลการประเมินความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองดีขึ้น

 

จากปี 2557 อันดับที่ 58 ในปี 2559 อยู่อันดับที่ 21 ความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐดีขึ้น จากอันดับที่ 57 ในปี 2557 เป็นอันดับที่ 25 ในปี 2559

 

จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลดลงกว่าร้อยละ 50

 

ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (ซีพีโอ) เกือบ 180 ประเทศทั่วโลก พบว่าในปี 2556 ก่อนรัฐบาลชุดนี้เข้ามา ไทยอยู่ในอันดับที่ 102

 

ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 76 สถาบันและองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศประเมินสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทย

 

ระบุว่า ดีที่สุดในรอบ 6 ปี และมีความโปร่งใสที่สุดในรอบ 10 ปี

 

ในบรรดาผลงานทั้งหมด ดูเหมือนว่าการปราบปรามการทุจริต มีการใช้ ม.44 อย่างต่อเนื่องมีคำสั่งโยกย้ายข้าราชการ สั่งพักการทำหน้าที่นักการเมือง ท้องถิ่น รวมแล้วมีจำนวนมากกว่า 200 คน

 

แม้แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ สตง.สรุปว่าน่าสงสัย… ก็ต้องพักยาว

 

ล่าสุด ม.44 เปิดทางให้กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ยึดทรัพย์ในคดีจำนำข้าว และการแทรกแซงราคาข้าวโพดและมันสำปะหลังก็ปรากฏ

 

ที่น่าสังเกตคือ ม.44 ที่ใช้เพื่อการนี้ นอกจากจะปราบปรามการทุจริตแล้ว ยังมีผลข้างเคียงทางการเมืองด้วย

 

กลุ่มที่อยู่ในเป้าหมาย คือ ขั้วอำนาจเดิมที่เคยรุ่งเรืองขั้วอำนาจพรรคเพื่อไทย !การดำเนินการดังกล่าวเป็นผลลัพธ์ที่ก่อตัวมาตั้งแต่เริ่มยึดอำนาจเมื่อปี 2557

 

ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้นโยบายประชานิยมเป็นบันไดขึ้นสู่อำนาจ

 

แต่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ใช้ผลงานดังกล่าวเป็น “หลักฐาน” ร้องต่อองค์กรอิสระให้ลงทัณฑ์โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวโครงการนี้มีจุดโหว่ตรงที่การนำข้าวออกไปขายให้ประเทศจีน ไร้หลักฐานยืนยันว่าได้ส่งข้าวไปจีน

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โครงการรับจำนำข้าวมัวหมอง

 

และดึงเอาผู้ที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่บริษัทส่งออก เรื่อยมาจนถึงรัฐมนตรีว่าการสมัยนั้นต้องติดคดี

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ เองก็เจอกล่าวหาว่าไม่ยอมยับยั้งโครงการ ขณะนี้คดีอาญากำลังพิจารณากันในชั้นศาล แต่สำหรับความผิดทางแพ่ง กำลังมีคำสั่งชดใช้

 

และแล้ว ม.44 ที่อำนวยความสะดวกให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ก็ออกมา

 

มีกระแสว่า เป้าหมายอยู่ที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวก

 

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่รัฐบาลกำลังรุกไล่ขั้วอำนาจเก่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกคำสั่ง ม.44 มาอีกเป็นคำสั่งที่ให้คดีความมั่นคงไปขึ้นศาลพลเรือน เลิกใช้บริการศาลทหาร !สาเหตุที่ระบุในคำสั่งตาม ม.44 ที่ออกมานั้นว่า สถานการณ์ บ้านเมืองเริ่มคลี่คลาย ไม่จำเป็นต้องไปขึ้นศาลทหารแล้ว

 

แต่สาเหตุที่ร่ำลือกันภายในคือ รัฐบาลไทยต้องทำอะไรสักอย่างหลังจากที่นานาชาติเรียกร้องให้ไทยยุติละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

ข้อเรียกร้องนี้มีขึ้นที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บนเวทียูเอ็น เมื่อครั้งที่ผ่านมา

 

ข้อเรียกร้องดังกล่าวกึกก้อง และส่งอานุภาพมาถึงปัจจุบันกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ต้องใช้ ม.44 ยุติการใช้บริการศาลทหารหากแต่ผลที่ออกมา ยังไม่สะเด็ดน้ำเพราะหลังจากการใช้ ม.44 ไม่ใช้ศาลทหารในคดีความมั่นคง

 

แล้ว กลับยังปรากฏเสียงเรียกร้องเพิ่มเติม

 

นั่นคือ เรียกร้องให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเดิมไม่ต้องขึ้นศาลทหารด้วย

 

แต่รัฐบาลไทยยืนยันว่า ผู้ต้องหาเหล่านั้นยังต้องขึ้นศาลทหารต่อไป

 

ความขัดแย้งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาวะเผชิญหน้าไทยยังเผชิญหน้ากับโลก

 

2  ปีที่ผ่านมา ถือว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์สามารถสร้างความเข้มแข็งขึ้นภายใน รัฐบาลสามารถร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติได้อย่างท่วมท้น รัฐบาลมีผลงานในด้านการปราบปรามการทุจริตออกมาโชว์

 

รัฐบาลสามารถทำให้ผลโพลออกมายอมรับผลงาน ขณะที่ฝ่ายการเมืองคู่กรณีมีคะแนนนิยมตกต่ำ กระทั่งมีแนวโน้มอย่างสูงว่า รัฐบาลชุดนี้อาจจะได้สืบทอดอำนาจหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้

 

เท่ากับว่า รัฐบาลสามารถกำราบการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้ อยู่หมัด

 

เหลือเพียงปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งระยะหลังมีเสียงโอดครวญถึงความเหลื่อมล้ำ

 

ทุนใหญ่กอบโกย “รากหญ้า” เหี่ยวเฉา หนี้ท่วม  และแว่วข่าวปัญหาภายใน ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีไปดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

มีข่าวตามมาว่า สาเหตุที่ทำเช่นนั้นเพราะเกิดเกาเหลาในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

 

กระทั่งล่าสุดมีข่าวปรับคณะรัฐมนตรี  แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันว่าไม่มี แต่กระแสข่าวดังกล่าวก็ยังสะพัด

 

และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ใช้ ม.44 เลิกใช้บริการศาลทหารในคดีความมั่นคง แล้วปรากฏเสียงต่างชาติแสดงความกังวล ทำให้แลเห็นอุปสรรคอีกประการของรัฐบาลชุดนี้เป็นอุปสรรคจากโลกเป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากความต้องการของรัฐบาลไทย กับความต้องการของโลกไม่สอดคล้องกัน

 

รัฐบาลต้องการความสงบโดยใช้กฎเหล็ก แต่โลกต้องการให้ไทยมีเสรีภาพ

 

คำถามคือ ต่อไปรัฐบาลไทยจะมีนโยบายในเรื่องที่โลกเรียกร้องเช่นไร

 

ทั้งเรื่องศาลทหารกับผู้ต้องหาที่ต้องคดีก่อนมี ม.44 ยุติการใช้ศาลทหารตัดสินพลเรือน

 

ทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิกับบุคคลที่เห็นต่าง   รวมไปถึงกระบวนการจัดการกับรัฐบาลเก่าด้วยข้อหาทุจริตการใช้ ม.44 กับการกวาดล้างขั้วอำนาจเดิม อาจจะเป็นคุณแก่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในวันนี้

 

แต่ก็ไม่แน่ว่า กระบวนการดังกล่าวจะย้อนกลับไปทำร้ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในโอกาสที่หมดอำนาจลงแค่ไหน

 

จะเป็นเหมือนกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ “ผลงาน” กลายเป็น “ผลร้าย” ต่อรัฐบาลเพื่อไทยเองหรือไม่กระบวนการการจัดการจึงเป็นเรื่องที่พึงระวัง กระบวนการที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นหนทางสร้าง “ผลงาน”  บางทีอาจย้อนกลับไปส่ง “ผลร้าย” ในอนาคตต่อรัฐบาลที่กำลังบริหารประเทศอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้

 

กระบวนการการจัดการจึงเป็นเรื่องที่พึงระวัง กระบวนการที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นหนทางสร้าง “ผลงาน”  บางทีอาจย้อนกลับไปส่ง “ผลร้าย” ในอนาคตต่อรัฐบาลที่กำลังบริหารประเทศอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้”