หัวข้อข่าว: สปท.จ่อใช้กฎหมายปปง.ยึดทรัพย์ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เข้าข่ายทุจริต
ที่มา: คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ประธาน อนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในคณะกรรมการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการปราบปรามการทุจริตและประพฤติ มิชอบ กล่าวภายหลังประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ว่า ปัญหาการทุจริตเป็นเสมือนมะเร็งร้ายที่กัดกินในทุกองค์กรของประเทศ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข การที่คณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษากล้าออกมาร้องเรียนการทุจริตในสถาบันนับเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะอุดมศึกษาต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยปกป้องคนเหล่านี้ด้วย ตนถือว่าการทุจริตเป็นเรื่องเลวร้ายที่ต้องช่วยกันขจัดให้หมดสิ้น และยินดีจะไหว้ทุกคนที่ออกมาต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชั่น
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า อุดมศึกษาไทยมีเกือบ 200 แห่ง บุคลากรของรัฐมี 2 กลุ่มหลัก คือ ข้าราชการ และพนักงาน ในสกอ.มีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ ก.พ.อ. ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการบริหารงานบุคคล และกกอ. ทำหน้าที่กำหนดแนวทางด้านหลักสูตร และการบริหารสถาบัน ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากแต่ละสถาบันมีสภาทำหน้าที่กำกับดูแล ควบคุมการดำเนินงานของอธิการบดี แต่หลายสถาบันเกิดปัญหาทั้งในส่วนของสภาและอธิการบดี โดยที่เลขาฯ กกอ.ไม่มีอำนาจเข้าไปจัดการได้โดยตรง
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาในสถาบันอุดมศึกษาต้องแก้ให้ถึงต้นตอ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ มี 2 แบบคือ ที่เป็นส่วนราชการ และในกำกับ ทั้งสองแบบต่างก็มี พ.ร.บ.ที่ให้อำนาจในการบริหารงานต่างกัน แต่ปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยแทบไม่แตกต่างกัน คืออำนาจสูงสุดอยู่ที่สภากับอธิการบดี ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่การบริหารงบประมาณ และการบริหารบุคคล ที่มีการแสวงหาผลประโยชน์ จากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือออกระเบียบที่เอื้อต่อตนเองและพวกพ้อง ใช้สภาเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะพนักงานมีจุดอ่อนในเรื่องสัญญาจ้าง ส่วนคณะกรรมการ ก.พ.อ. และกกอ. รวมไปถึงผู้บริหารระดับสูงใน สกอ.ที่ไปนั่งเป็นนายกสภาและกรรมการสภาในสถาบันอุดมศึกษามีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้นเหตุของการทุจริต
“ตัวแทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เสนอว่า การทุจริตที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ว่ามีมูลหรือที่ได้แจ้งความดำเนินคดีมีหลักฐานชัดเจนให้ยื่นปปง.เข้าไปอายัดและยึดทรัพย์ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ได้มาโดยมิชอบได้ เป็นอีกช่องทางช่วยให้การแก้ไขปัญหาทุจริตชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้จะรวบรวมหลักฐานเสนอต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 กับสถาบันที่เข้าข่ายความผิดตามคำสั่งนี้” ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว