หัวข้อข่าว: สภาพัฒนาการเมืองกับมาตรฐานกลางทางจริยธรรม
ที่มา: มติชน ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง
การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ทำให้ได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีความโปร่งในระดับต่ำ ซึ่งองค์กรทางศาสนาพยายามร่วมกันแก้ในปัญหานี้ โดยเน้นหลักคำสอนให้ทำความดี ละเว้นความชั่ว และนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติที่เรียกว่า มาตรฐานทางจริยธรรม โดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้นำมาบัญญัติไว้ด้วย
ความเป็นมาของมาตรฐานทางจริยธรรมมาตรฐานนี้มาจากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2559 ฉบับลงประชามติ มาตรา 219 บัญญัติว่า “ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง
ในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้รับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้ว ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย แต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
และมาตรา 276 วรรคแรก บัญญัติว่า “ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระดำเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมตามมาตรา 219 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่ง”
จากบทบัญญัติทั้งสองมาตรา แยกองค์ประกอบสำคัญได้ดังนี้
1.องค์กรที่จัดทำมาตรฐานจริยธรรมคือ ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
2.การใช้บังคับ ให้ใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
3.ใช้บังคับเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
4.ขอบเขตของมาตรฐานทางจริยธรรม ครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ
5.การขยายผลการบังคับใช้ เมื่อมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวได้รับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีแล้วให้ใช้บังคับแก่บุคคลเหล่านี้ด้วย
6.การกำหนดมาตรฐานจริยธรรมเพิ่มเติม ให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรี สามารถกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรมที่ได้กำหนดไว้ก่อนในมาตรา 219 วรรคแรก
7.กำหนดเวลาจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม มาตรา 276 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ต้องดำเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
8.ผลของการจัดทำมาตรฐานจริยธรรมไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด (1 ปี) ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่ง
ทั้งสองมาตราได้บัญญัติการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมไว้อย่างชัดเจน ซึ่งขณะนี้ได้มีองค์กรที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมคือ “สภาพัฒนาการเมือง”จัดทำมาตรฐานกลางทางจริยธรรมกสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) โดยคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาล ได้ศึกษาความสำคัญทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ได้จัดทำร่างประเด็นหลักมาตรฐานกลางทางจริยธรรม โดยเบื้องต้นได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันกับองค์กรภาคีเครือข่าย 7 องค์กร ประกอบด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาพัฒนาการเมือง เพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องมาตรฐานกลางด้านคุณธรรมจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนทั่วไป ให้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน
ส่วนในการดำเนินการ คณะกรรมการฯได้นำร่างมาตรฐานกลางเสนอทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มข้อคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานกลางและร่วมกันพิจารณาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ร่างมาตรฐานกลางฉบับนี้ใช้เป็นแนวปฏิบัติตนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งขยายผลสู่ภาคประชาชนในวงกว้าง คณะกรรมการฯจึงดำเนินการจัดสัมมนาโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อกำหนดมาตรฐานกลางทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในวันที่ 4 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วย องค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป จำนวน 200 คน
จากนั้นจะนำสาระที่ได้จากการสัมมนามาถอดบทเรียนเป็นมาตรฐานกลางทางจริยธรรม ซึ่งองค์กรและหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนในโอกาสต่อไป
ย่างไรก็ตาม ในการประชุมร่วมกับองค์กรอภาคีเครือข่าย 7 องค์กร และผลจากการจัดสัมมนาได้ข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดมาตรฐานกลางทางจริยธรรม ดังนี้
1.ต้องมีกระบวนการทำให้สังคมมีความรู้สึกมีจิตสำนึกร่วมกันว่า ถึงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
2.ต้องส่งเสริมด้านการศึกษา โดยการพยายามให้ประชาชนมีการศึกษาที่ดี บุคลากรของสถาบันหล่อหลอมกล่อมเกลาทางสังคมต้องเป็นต้นแบบและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยเคร่งครัด
3.ต้องอาศัยโครงสร้างทางการเมืองและการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีการถ่วงดุลกันระหว่างสถาบันการเมืองหลักตามรัฐธรรมนูญ เป็นกรอบเชิงสถาบันในการกำกับการทำงานของตัวแทนผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน มิให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือใช้อำนาจในลักษณะที่มีการก้าวก่ายทับซ้อนกันจนขาดประสิทธิภาพ
4.ต้องยึดโยงกับประชาชน โดยเฉพาะการทำงานขององค์กรเฉพาะที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นบทบาทที่มีความสำคัญ ต้องดำเนินงานควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล โดยมีส่วนโครงสร้างและการบริหารจัดการยึดโยงกับประชาชน
5.ต้องกำหนดให้ภาคประชาสังคมมีบทบาทในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น อันเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
6.การปฏิรูปกระบวนการทางการเมืองเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนในการส่งเสริมและควบคุมจริยธรรมนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
7.รัฐบาลต้องมีมาตรการหนุนเสริมการปฏิรูปทางการเมือง โดยกำหนดให้ทุกภาคส่วนมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาล โดยการกำหนดให้ทุกองค์กรมีมาตรฐาน กลไกบังคับใช้ และบทกำหนดโทษที่ชัดเจนเผยแพร่ต่อสาธารณะ ให้ประชาชนตรวจสอบและร้องทุกข์กล่าวโทษได้โดยมีมาตรการคุ้มครองประชาชน
8.การคัดสรรบุคลากรในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องเน้นมาตรการในเรื่องการสอบประวัติ ความประพฤติ และความรู้ความเข้าใจเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ต้องเน้นผลสัมฤทธิ์ได้แก่ผลผลิต และผลลัพธ์คือประโยชน์สุขประชาชนตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
9.เสนอให้มีกฎหมายกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่มีตำแหน่งที่สูงให้มีโทษสูง มีการกำหนดตัวชี้วัดด้านจริยธรรมของหน่วยงาน การให้เพิ่มบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคม สภาองค์การชุมชน องค์กรชุมชน และเครือข่ายภาคประชาชนให้ติดตามตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม
10.เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม สภาพลเมืองและประชารัฐทุกจังหวัดแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาวินัยของคนในสังคมทุกระดับในแต่ละจังหวัด เนื่องจากวินัยเป็นจริยธรรมพื้นฐานที่เป็นการเคารพสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงออกถึงความเข้มแข็งของประชาชนในแต่ละพื้นที่
วนสรุปว่าคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาล สภาพัฒนาการเมืองมีวัตถุประสงค์โดยตรงในการส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานกลางทางจริยธรรมมาเกือบเสร็จสิ้นแล้ว ทำให้เป็นแนวทางและข้อมูลสำหรับการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมตามที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้