สองมาตรการใหม่เพื่อโปร่งใสก่อสร้าง CoST และ IP..ความเหมือนที่แตกต่าง

หัวข้อข่าว: สองมาตรการใหม่เพื่อโปร่งใสก่อสร้าง CoST และ IP..ความเหมือนที่แตกต่าง

ที่มา: คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน, แนวหน้า ฉบับวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

 

ต่อภัสสร์: ผมจำได้ว่าเราเคยพูดถึง การทุจริตในวงการการก่อสร้างอยู่หลายครั้ง คุยกันถึงความซับซ้อนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและ การก่อสร้าง รวมถึงความหลากหลาย ของผู้เล่นในวงการนี้ ว่าเป็น ตัวการสำคัญหนึ่งที่ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นได้ง่ายในโครงการก่อสร้างของรัฐ เราเคยได้วิเคราะห์มาตรการการต่อต้านคอร์รัปชันในวงการการก่อสร้างไทยที่มีอยู่ และพบว่า มีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จอยู่หลายข้อ เช่น การที่ผู้ออกแบบนโยบายไม่มีความเข้าใจที่แท้จริงถึงลักษณะกระบวนการก่อสร้าง การที่มาตรการต่างๆ เหล่านี้ไม่ปรับปรุงให้เท่าทันเทคโนโลยีการก่อสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ และการที่สภาพแวดล้อมการทำงานวงการนี้ ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานอย่าง ตรงไปตรงมา ดังจะเห็นได้ว่าบริษัท รับเหมาก่อสร้างหลายราย แม้จะแพ้การประมูลเพราะถูกรายอื่นโกง ก็มักไม่ร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมักจะทำเพียงแค่บ่นเมื่อพูดถึงเรื่องการคอร์รัปชัน

 

ต่อตระกูล: ข้อนี้ผมยืนยันได้ ตลอดเวลากว่า 40 ปี ที่คลุกคลีกับวงการการก่อสร้างไทยในฐานะอาจารย์วิศวะ วิศวกรโครงสร้างและวิศวกรควบคุมงาน ได้พบเห็นการทุจริตเกิดขึ้นเสมอ ทั้งที่เจอกับตัวเอง และรับฟังเพื่อนร่วมวิชาชีพ แต่น้อยนักจะเห็นใครนำเรื่องทุจริตไปร้องเรียน ป.ป.ช. หรือ สตง.ที่เห็นชัดคือ เมื่อ ปี 2543 ที่ผมจัดสัมมนาเรื่องความโปร่งใสในวงการการก่อสร้างไทยกับ 4 สมาคมวิชาชีพก่อสร้างได้แก่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสถาปนิกสยาม สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีเพื่อนร่วมวิชาชีพเข้าร่วม 500 คนเต็มห้องประชุม ทุกคนล้วนอึดอัดความรุนแรงการทุจริตในวงการนี้ และพรั่งพรูประสบการณ์ที่แต่ละคนพบเจอมา เรียกได้ว่า ถ้าเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดได้รับการร้องเรียน คดีความ คงล้น ป.ป.ช.แน่นอน

 

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เป็น เช่นนี้ แนวทางที่ผมเห็นว่าเหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในวงการการก่อสร้างคือ การสร้างความโปร่งใส ด้วยมาตรการต่างๆ ที่ออกแบบมาสำหรับวงการการก่อสร้างไทยโดยเฉพาะ

 

ต่อภัสสร์: ดังนั้นข้อเสนอแนวทางนี้ ก็ตรงกับ 2 มาตรการ ที่กำลังได้รับการผลักดันให้ใช้จริงในประเทศไทยเลยสิครับ 2 มาตรการนี้คือ 1 .ระบบ CoST (Construction Sector Transparency Initiative) หรือโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ และ 2. IP (Integrity Pact) หรือข้อตกลงคุณธรรม ทั้งสองมาตรการเน้นการเปิดเผยข้อมูลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการก่อสร้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญและประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาตรวจตราการใช้เงินภาษีของเราเองได้อย่างสะดวก ผมจำได้ว่า เราเคยพูดถึงทั้งสองมาตรการนี้ไปแล้ว เมื่อเริ่มใช้ใหม่ๆ จึงอยากรู้ว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ใช้การได้อย่างมีประสิทธิผลจริงอย่างที่คาดหวังกันไว้หรือไม่

 

ต่อตระกูล:จากลักษณะเฉพาะของวงการการก่อสร้างไทยที่ได้วิเคราะห์ให้ฟังแล้ว มาตรการเรื่องความโปร่งใสนั้น สำหรับประเทศไทยคงต้องใช้วิธีบังคับ ดูแลใกล้ชิดจึงจะได้ผลกว่า ทำให้ระบบข้อตกลงคุณธรรม(IP)ได้ผลมาก เพราะไม่ใช่แค่มีการเซ็นสัญญาข้อตกลงกันเท่านั้น แต่ยังส่งคณะ ผู้สังเกตการณ์ไปนั่งเฝ้าติดตามการประชุมร่างเงื่อนไข(TOR)การประมูลต่างๆ ไปเฝ้าดูกระบวนการเสนอราคา การตรวจเอกสาร ไปเก็บข้อมูลด้วยตัวเองทุกขั้นตอนโดยตลอด วิธีนี้ได้ผล แต่ต้องใช้คนจำนวนมากที่มีคุณภาพไปเฝ้า ไม่สามารถทำกับโครงการก่อสร้างของรัฐ ทั้งหมดที่มีเป็นพันเป็นหมื่นโครงการได้ มาตรการนี้จึงเหมาะสำหรับโครงที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตมาก หรือมีมูลค่าสูงมากๆ

 

ส่วนระบบ CoST ใช้วิธีกำหนดว่า มีข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้าง ประเภทใดบ้างที่หน่วยงานต้องเปิดเผยต่อ สาธารณะ แล้วให้หน่วยงานไปปฏิบัติตามเอง โดยไม่ต้องมีบุคคลเข้าไปนั่งร่วมการประชุมต่างๆ เหมือนวิธี ข้อตกลงคุณธรรม วิธีนี้สามารถสั่งการให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามได้ ไม่ต้องใช้คนเข้าไป แต่จะใช้ไม่ได้ผลกับโครงการก่อสร้างที่มีผู้จ้องหมายตาไว้แล้วว่า เป็นเป้าหมายชิ้นใหญ่ที่จะแสวงหาประโยชน์ให้ได้! เพราะหน่วยงานนั้นอาจถูกครอบงำให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญช้าๆ โดยอ้างอุปสรรคต่างๆ ได้ตลอด เช่น โครงการหนึ่งที่เข้าร่วมระบบ CoST มาปีกว่าแล้ว เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งจะเปิดเว็บไซต์ออกข่าวสาร ซึ่งข้อมูลที่เพิ่งเปิดก็ปรากฏว่างานไปถึงขั้นได้ผู้รับเหมามูลค่าเป็นหมื่นล้านไปแล้ว เป็นต้น

 

จริงๆ แล้ว หากมีมาตรการใดๆ ในโลกที่จะเพิ่มความโปร่งใสในวงการก่อสร้างไทยให้ดีขึ้นได้ ที่ผ่านมา คณะกรรมการต่อต้านการทุจริต แห่งชาติ หรือ คตช.ก็จะรับมาทดลองใช้และปรับปรุงให้เหมาะกับสภาวะของประเทศไทยเสมอ ปัจจุบันนอกจาก CoST และ IP แล้ว มาตรการความโปร่งใสในงานก่อสร้างของเกาหลี (Clean Construction System: CCS) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์รายงานความคืบหน้าการก่อสร้างทุกขั้นตอนแบบทันทีทันควัน(Real Time) ที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(UNDP) สนับสนุนให้นำมาใช้ในประเทศไทย คตช.ก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่ ส่วนของไทยเองก็ยังจะมีการปรับร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่ ให้ข้อมูลออกมาได้มากและเร็วขึ้น ข้อมูลใด ที่เป็นข้อมูลสาธารณะก็ให้เผยแพร่ทางอินเตอร์เนตเลยโดยไม่ต้องรอให้มี ผู้ร้องขอ นอกจากนี้กรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นผู้ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างของรัฐทั่วประเทศ ยังมีระเบียบให้หน่วยราชการทั้งหลายต้องรายงานข้อมูลการประมูลและผลประมูลเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ ที่สำคัญปัจจุบันข้อมูลและตัวเลขต่างๆ ได้เชื่อมต่อกับระบบของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (EGA) ที่จะเผยแพร่ต่อในระบบข้อมูลดิจิทัลให้ ผู้สนใจนำไปใช้ต่อได้สะดวก

 

ต่อภัสสร์:มาตรการเยอะ ขนาดนี้ มุ่งเรื่องสร้างความโปร่งใสอย่างเดียว มันจะซ้ำซ้อนกันบ้าง ไหมครับ

 

ต่อตระกูล: ในขั้นทดลอง นำมาใช้นี้ ก็อาจมีการซ้ำซ้อนกันบ้าง ทั้งรูปแบบของมาตรการและหน่วยงานรับผิดชอบ แต่ก็เป็นเรื่องดีกว่าในอดีตที่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการก่อสร้างล้วนเป็นความลับและรู้กันเฉพาะกลุ่มในแต่ละกระทรวงทบวงกรม เป็นแดนสนธยาที่คนนอกกรมกองไม่มีโอกาสรู้ข่าวสารใดๆ เลย และเมื่อระบบเข้าที่แล้ว ความซ้ำซ้อนเหล่านี้ก็จะ หายไป เปลี่ยนเป็นความโปร่งใส ที่จะช่วยป้องกันการคอร์รัปชันในวงการก่อสร้าง อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป