สอบตกแก้คอร์รัปชันอันดับความโปร่งใสร่วง100คะแนนได้35บิ๊กตู่-ปปช.เต้นผาง

หัวข้อข่าว: สอบตกแก้คอร์รัปชันอันดับความโปร่งใสร่วง100คะแนนได้35บิ๊กตู่-ปปช.เต้นผางที่

ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

 

ไทยโพสต์ * ดัชนีความโปร่งใสขยี้ภาพลักษณ์ปราบคอร์รัปชันไทยยุครัฐบาลทหารแย่ลง อันดับร่วงจาก 76 ลงมาอยู่ที่ 101 จาก 176 อันดับ ในเอเชีย-แปซิฟิกทำคะแนน ได้แย่ลงพอๆ กับเขมรที่ยังครองแชมป์คอร์ รัปชันมากสุดในอาเซียน ทีไอชี้การทุจริตเชื่อมโยงปัญหาการเมือง กดขี่สิทธิเสรีภาพ ขาดการตรวจสอบอย่างอิสระ ขณะที่ “ป.ป.ช.” รับตกใจ!
เมื่อวันพุธที่ 25 มกราคม 2560 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ) เผยแพร่รายงานผลการจัดอันดับความโปร่ง ใสประจำปี 2559 ที่ได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด พร้อมกับบทวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของกระแสประชานิยมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกว่าเสี่ยงต่อการบั่นทอนการต่อสู้ปัญหาคอร์รัปชัน
รายงานดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (ว) ล่าสุดนี้ อ้างอิงข้อมูลผลการสำรวจจากหลายหน่วยงาน อาทิ ธนา คารโลก, ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา, อีโคโนมิสต์อินเทลลิเจนซ์ยูนิต และอีกหลายองค์กร จัดเรียงอันดับภาพลักษณ์การทุจริตใน 176 ประเทศและดินแดน ตามคะแนนไล่จาก 0 ถึง 100 คะแนน โดยคะแนนเท่ากับความโปร่งใสน้อย หรือคอร์รัปชันมากนั่นเอง
ประเทศที่ได้คะแนนมากที่สุดหรือ โปร่งใสที่สุด ได้แก่ นิวซีแลนด์และเดนมาร์ก ที่ได้ 90 คะแนนเท่ากัน ส่วนประเทศที่คะแนนต่ำที่สุดยังคงเป็นโซมาเลีย ที่อยู่อัน ดับล่างสุดเป็นปีที่ 10 ติดต่อกันแล้ว ส่วนประเทศที่คะแนนตกต่ำลงมากที่สุดคือ กาตาร์ ลดลงจากการจัดอันดับในปีก่อน 10 คะแนน ทีไออ้างถึงคำกล่าวหาการทุจริตติดสินบนเพื่อให้ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022
สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รายงานของทีไอชี้ว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้อยู่ท่อนล่างของตาราง มี 19 ประเทศจาก 30 ประเทศที่ได้คะแนน 40 หรือน้อยกว่า สองประเทศที่ทีไอยกขึ้นกล่าวถึงคือกัมพูชาและไทย ที่มีคะแนนความโปร่งใสแย่ลง กรณีกัมพูชานั้น ทีไอกล่าวว่า ครองตำแหน่งประเทศคอร์รัปชันที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ได้เพียง 21 คะแนน
ส่วนไทย รายงานเน้นว่าอันดับแย่ลงเช่นกัน โดยไทยได้คะแนนลดลงเหลือเพียง 35 คะแนน ติดอันดับ 101 ทีไอระบุว่า อันดับที่แย่ลงสนับสนุนถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาพลักษณ์การคอร์รัปชันกับความวุ่นวายทางการเมือง นอกจากนี้ การกดขี่ปราบปรามของรัฐบาล, การขาดการตรวจสอบอย่างอิสระ และการลดทอนสิทธิเสรีภาพ ได้ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศนี้
รายงานกล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย จะเน้นด้านการแก้ไขปัญหาคอร์ รัปชันอย่างมาก แต่ก็ยังคงปกป้องอำนาจของกองทัพและขาดการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการคืนสู่การปกครองโดยพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตยในท้ายที่สุด
ทีไอกล่าวถึงการอภิปรายเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยว่าไม่สามารถกระทำได้อย่างเสรีเลย ฝ่ายค้านไม่สามารถรณรงค์หาเสียงได้ ประชาชนหลายสิบคนถูกจับกุม รัฐบาลทหารของไทยยังห้ามการสังเกตการณ์การลงประชามติ และปราศจากการควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรอิสระและการอภิปรายอย่างเคร่งครัด
องค์กรนี้ยังกล่าวเตือนถึงกระแสประชานิยมที่กำลังมาแรงทั่วโลกด้วยว่าเสี่ยงที่จะบั่นทอนการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน “ประชานิยมเป็นยาผิดขนาน” โฮเซ อูกัซ ประธานทีไอกล่าวในแถลงการณ์ พร้อมกับเสริมว่า ในประเทศที่มีผู้นำประชานิยมหรือเผด็จการอำนาจนิยม เรามักเห็นประชาธิปไตยถดถอย และเกิดรูปแบบของความพยายามกดขี่ภาคประชาสังคม, จำกัดเสรีภาพของสื่อ และลดทอนความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ “แทนที่จะจัดการกับทุนนิยมเล่นพรรคเล่นพวก ผู้นำพวกนี้มักจะสร้างรูปแบบของระบบการคอร์รัปชันที่เลวร้ายยิ่งกว่า” เขากล่าว
รายงานเมื่อปีที่แล้วซึ่งเป็นการจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันในปี 2558 ไทยได้คะแนน 38 คะแนน และได้อันดับ 76 จาก 168 ประเทศและดินแดน อันดับล่าสุดของไทยเทียบเท่ากับประเทศกาบอง, ไนเจอร์, เปรู, ฟิลิปปินส์, ติมอร์เลสเต และตรินิแดดและโตเบโก
หากดูเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนนั้น ประเทศที่โปร่งใสที่สุดยังคงเป็นสิงคโปร์ ซึ่งได้คะแนนถึง 84 คะแนน อยู่อันดับที่ 7 ของโลก รองลงมา ได้แก่ บรูไน (อันดับ 41 ได้ 58 คะแนน), มาเลเซีย (อันดับ 55 ได้ 49 คะแนน), อินโดนีเซีย (อันดับ 90 ได้ 37 คะแนน), ไทยและฟิลิปปินส์ ได้อันดับ 101 เท่ากัน ที่ 35 คะแนน, เวียดนาม (อันดับ 113 ได้ 33 คะแนน), ลาว (อันดับ 123 ได้ 30 คะแนน), พม่า (อันดับ 136 ได้ 28 คะแนน) และกัมพูชา ได้อันดับที่ 156 ของโลก มี 21 คะแนน รายงานกล่าวด้วยว่า ติมอร์เลสเต, ลาว และพม่า ทำคะแนนได้ดีขึ้นจากปีที่แล้ว
ประเทศมหาอำนาจที่บริษัทเอกชนมีข่าวพัวพันการจ่ายสินบนไทย เช่น สหรัฐ อันดับร่วงลง 2 อันดับในปีนี้ มาอยู่อันดับ 18 ได้คะแนน 74 คะแนน ลดลงจากที่เคยได้ 76 คะแนนในปี 2558 ส่วนอังกฤษ อยู่อันดับที่ 10 ร่วมกับเยอรมนีและลักเซมเบิร์ก ได้ 81 คะแนน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐ มนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ) เปิดเผยดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (ซีพีไอ) ของไทยในปี 2559 ว่า ต้องดูว่าต่ำลงเรื่องอะไรบ้าง เพราะบางอันก็สูงขึ้น บางอันก็ต่ำลง จึงต้องไปดูว่าที่ต่ำลงเพราะอะไร แล้วอะไรดีขึ้น ไม่ใช่มันแย่ลงทั้งหมด อย่ามองประเทศไทยอย่างนั้น มันดีขึ้นหมด แต่จะแย่ลงก็ตรงที่ข่าวที่ออกมา อย่าลืมว่าทุกอย่างเกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบันตนสั่งการให้ตรวจสอบทั้งหมด ร้องเรียนให้หน่วยงานหรือองค์กรอิสระดูแลทั้งหมดอยู่แล้ว ตนไม่เคยไปห้ามใครเลยตรวจสอบอะไรก็ตรวจสอบไป นี่คือการบริหารราชการแผ่นดินของตนมาโดยตลอด
“ดูแล้วกันตามคำโหราศาสตร์ในหนังสือ ปีนี้เป็นปีแห่งคนไม่ดีที่จะต้องถูกอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นให้ทำตัวเป็นคนดี มีคุณธรรม อยู่ในศีลธรรมอันดี ทำงานเพื่อประเทศชาติ ช่วยกันไม่โกงกิน ไม่ทุจริต ผมว่ามันอยู่ได้ หมอดูเขาบอกไว้แล้ว โหราศาสตร์ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ขณะที่นายสรรเสริญ พลเจียก เลขา ธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างพิจารณา เนื่องจากมีข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับเพิ่มเติมขึ้นมาคือ เรื่องของความเป็นประชาธิปไตย แต่ยังไม่ได้วิเคราะห์ เพียงแต่เห็นอันดับตกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมคะแนนตก ซึ่งในช่วงบ่ายวันเดียวกันจะได้ดูข้อมูลที่ใช้จัดอันดับแต่ละตัวว่า ส่วนไหนคะแนนเพิ่มหรือตกลงเพราะสาเหตุใด
“ดูจากคะแนนและผลการจัดอันดับที่ออกมา ป.ป.ช.รู้สึกผิดหวัง เพราะเราคาดการณ์ว่าเราจะได้เกินกว่า 38 คะแนน แต่กลับตกมาที่ 35 คะแนน โดยต้องกลับไปดูอีกทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับการประเมินในครั้งนี้” นายสรรเสริญกล่าว
นายสรรเสริญกล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการจ่ายสินบนให้หน่วยงานของรัฐในประเทศไทยในช่วงนี้ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นมาก่อนรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่อย่างน้อยได้แสดงให้เห็นอย่างมีนัยสำคัญประการหนึ่ง ว่าสังคมมีความมั่นใจในองค์กรตรวจสอบและรัฐบาลมากขึ้น จึงได้มีการส่งข้อมูลมาให้ดำเนินการตรวจสอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตและการลดปัญหาการทุจริตจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกันสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต”.