หัวข้อข่าว: สอบทุจริตรถไฟฟ้าสีม่วง ป.ป.ช.กังขารฟม.จ่ายเงินล่วงหน้า15%ให้ BEM
ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
รฟม.หนาว ป.ป.ช. ส่งหนังสือบี้ถามหาความโปร่งใส ยกสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้ BEM จี้แจงข้อมูลจ่ายหนี้เงินกู้แทนบริษัท พร้อมให้เบิกค่าจ้างล่วงหน้า 15% “ยงสิทธิ์” อดีตผู้ว่าการ รฟม.ยันเรื่องปกติ
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติราชการแทนเลขา ธิการ ป.ป.ช.ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย (รฟม.) ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่ได้รับเรื่องกล่าวหาพนักงาน รฟม. ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีทำสัญญาให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ระยะที่ 1 ออกแบบและก่อสร้าง จัดซื้อขบวนรถ และอุปกรณ์เดินรถ ระยะที่ 2 การให้บริการเดินรถไฟฟ้า) แก่บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 และจ่ายเงินล่วงหน้าโดยมิชอบ
ป.ป.ช.ระบุว่า สำนักงานป.ป.ช. มีความจำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารหลักฐาน ประกอบการพิจารณา ดังนี้ 1. ขอทราบว่า รฟม. ได้ทำสัญญาให้สัมปทานรถไฟฟ้าสาย สีม่วง แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดย รฟม. รับผิดชอบชำระหนี้เงินกู้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ในการจัดหาขบวนรถ อุปกรณ์และระบบเดินรถนั้น ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือสัญญาใด
2.ขอทราบว่า ในการทำสัญญา ให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีม่วงรฟม.ได้ให้ บริษัท BEM เบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้า 15% ของค่าอุปกรณ์ระบบงาน หรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นประการใด
นอกจากนี้ ปปช. ยังตั้งคำถามว่ารฟม. ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือสัญญาใด 3.ขอทราบชื่อและตำแหน่งของบุคคลที่เกี่ยวข้องในการทำสัญญาดังกล่าว และ 4.ขอเอกสารหลักฐานแสดงถึงความเป็นรัฐวิสาหกิจของ รฟม.
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้รฟม.ชี้แจงข้อเท็จจริงและจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องทุกแผ่นให้สำนักงานป.ป.ช. ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ
ผู้ว่าการรฟม.เร่งรวบรวมข้อมูล
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ต่อกรณีนี้ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจง ข้อเท็จจริงไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่ได้สอบถามมาแต่ไม่สามารถที่จะเปิดเผยรายละเอียดต่อสื่อมวลชนในขณะนี้ได้
“รฟม.พร้อมให้ข้อมูลแก่ป.ป.ช.ตามที่แจ้งไว้ในหนังสือส่งมายังรฟม. โดยในหนังสือระบุว่าเกิดในวันที่ 4 กันยายน 2556 แต่จากที่อ่านรายละเอียดในหนังสือของ ป.ป.ช.แล้วจะพบว่าขอทราบข้อมูลรายละเอียดและยังไม่ได้ชี้ว่าถูกหรือผิดแต่อย่างใด ดังนั้นป.ป.ช.จึงต้องรวบรวมหลักฐานต่างๆเพื่อนำไปพิจารณาว่าคดีนี้มีมูลหรือไม่ จึงต้องทำหนังสือมายังรฟม.ซึ่ง รฟม.จะเร่งตอบกลับไปยังป.ป.ช.โดยเร็วต่อไป”
ซัดเหตุเกิดสมัยผู้ว่าการยงสิทธิ์
นายรณชิต แย้มสะอาด อดีตรองผู้ว่าการรฟม.กล่าวว่า ช่วงนั้นได้ทำหน้าที่คณะกรรมการมาตรา 13 ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยอยู่ในช่วงที่นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ รฟม. แต่จำไม่ได้ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้หรือไม่และขอตรวจสอบในรายละเอียดนี้อีกครั้งเนื่องจากผ่านพ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ทั้งนี้เข้าใจว่าสัญญาทั้งหมดผ่านการพิจารณาของครม.แล้วพร้อมอนุมัติให้ลงนามว่าจ้างกับผู้รับจ้างต่อไป
“ยงสิทธิ์”ยันทำถูกขั้นตอน
ด้านนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าการรฟม. กล่าวว่าสัญญาต่างๆ จะต้องผ่านการตรวจสอบของอัยการสูงสุด อีกทั้งยังต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 13 ซึ่งหากผ่านการพิจารณาก็จะต้องส่งเรื่องให้รฟม.เสนอคณะกรรมการรฟม.รับทราบเท่านั้นก่อนที่ รฟม.จะต้องส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป
“เข้าใจว่าป.ป.ช.ยังไม่ตัดสินว่าโดยมิชอบคืออะไร เนื่องจากจะต้องรวบรวมเอกสารข้อเท็จจริงต่างๆก่อนพิจารณาชี้ชัด ยอมรับว่าช่วงนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรฟม.และมีหน้าที่เซ็นหนังสือก่อนนำเสนอบอร์ด รฟม.และกระทรวงคมนาคม เสนอครม.ต่อไป ประการสำคัญยังมีเอกสารประกวดราคากำหนดไว้ชัดเจนอย่างไร และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 13 เรียบร้อยแล้วจึงจะสามารถเปิดประมูลได้ ดังนั้นจึงยืนยันว่าเป็นการดำเนินการที่ปฏิบัติตามขั้นตอนและผ่านการพิจารณาของหน่วยงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว ส่วนการจ่ายเงินล่วงหน้าเข้าใจว่าระบุเอาไว้ในเงื่อนไขทีโออาร์ด้วยและเป็นการปฏิบัติตามปกติดังเช่นที่ปฏิบัติในสัญญาการก่อสร้างทั่วไปอยู่แล้วของการเบิกจ่าย 15% เมื่อเซ็นสัญญาว่าจ้าง ขณะเดียวกับเอกชนคู่สัญญายังจะต้องวางเงินประกันหรือแบงก์การันตีเอาไว้ด้วยจึงถือว่ากรณีดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามปกติที่ได้ปฏิบัติกันทั่วไป” อดีตผู้ว่าการรฟม. กล่าว
บริษัท BMCL หรือบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ต่อมาได้ควบรวมกับบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เป็นบริษัท BEM หรือบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาซื้อ-ขายปิดตลาดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน อยู่ที่ 7.80 บาท