สัมภาษณ์พิเศษ: ผมไม่ผิด แต่เป็น ‘แพะ’ การเมือง

หัวข้อข่าว: สัมภาษณ์พิเศษ: ผมไม่ผิด แต่เป็น ‘แพะ’ การเมือง

ที่มา: โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย ฐายิกา จันทร์เทพ

 

โครงการรับจำนำข้าว ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังเป็น คดีมหากาพย์ ถูกมองว่าเป็นทั้ง คดีการทุจริตในทางนโยบาย และเป็นคดีที่เป็นเบี้ยหมากทางการเมือง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ที่กำกับดูแลนโยบายของรัฐบาล และบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ คือตัวแสดงสำคัญของโครงการรับจำนาข้าวที่กำลังต่อสู้ทั้งในทางคดีและการเมือง

 

ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ต้องขอโฟกัส ไปที่ บุญทรง และแกนนำพรรคเพื่อไทย ผู้ที่ถูกกล่าวว่าเป็นคนสนิท เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวสายเลือดชินวัตร ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขาคือผู้ที่ ถูกแสงสปอตไลน์จับจ้องกับการต่อสู้คดีในครั้งนี้อย่างมาก ภายหลังจาก อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ และชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันลงนามในหนังสือบังคับทางปกครองเรียกร้องค่าเสียหายจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา จากที่เป็นปัญหายื้อการเซ็นลงนามอยู่นาน และในสังคมเองก็ตั้งคำถามว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เซ็นลงนามเสียเอง

 

บุญทรง เปิดใจกับทีมข่าวโพสต์ ทูเดย์ ถึงขั้นตอนการต่อสู้จากนี้ว่า เรามีสิทธิอุทธรณ์ โดยจะต้องอุทธรณ์ไปที่คนออกคำสั่งหรือกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นเขาจะตอบมาอย่างไรก็ว่ากัน แต่คงรู้อยู่แล้วว่าเขาคงไม่อุทธรณ์ให้ ซึ่งเราเองต้องไปร้องศาลปกครองต่อไป เพื่อให้เกิดกระบวนการต่อสู้ต่อไป ทั้งการไต่สวนฉุกเฉิน ทุเลาคำสั่ง หรือเพิกถอนคำสั่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เราต้องสู้ ส่วนเรื่องของกำหนดระยะเวลานั้น ต้องดูที่คำสั่งนั้นว่าให้เวลากี่วัน แต่เท่าที่ฟังคือมีเวลา 30 วันในการอุทธรณ์ ก็ถ้าไม่ทาอะไรเลย หรือเขาไม่ได้ยินข่าวจากเราก็จะมีหนังสือมาเตือนอีก 15 วัน นั่นคือแม็กซิมั่มที่เราจะอุทธรณ์กับกระทรวงพาณิชย์ได้

 

บุญทรง อธิบายว่า การต่อสู้จะต้องเห็นเอกสารคำสั่งนั้นเสียก่อน แต่ตอนนี้ผมยังไม่เห็น ไม่รู้ว่าเขาส่งมาถูกที่ไหม หรือส่งมาวันที่ผมไม่อยู่ ณ เวลานี้ผมยังไม่เห็นเอกสาร ยังไม่ได้รับเอกสาร คำสั่งนั้น ผมไม่ได้เล่นแง่หรือดึงเวลา แต่ผมไม่เห็นจริงๆ อาจจะช่วงเวลาที่เอกสารมาไม่ตรงกันกับผมก็ได้ ทั้งนี้กระบวนการต่อสู้เราจะต้องเห็นว่าใน คำสั่งนั้นอธิบายว่าอย่างไร วันนี้รู้เพียงแต่ว่าเขาจะให้เราไปชดใช้เงินจำนวนตั้ง 1,700 ล้านบาท โดยที่รายละเอียดของตัวเลขยังไม่รู้เลยว่ามายังไง เราต้องคลี่คำสั่งนั้นมาดูให้ละเอียด

 

ส่วนเรื่องหรือเหตุผลการขอทุเลาคำสั่งนั้น เพราะเราต้องการพิสูจน์ นั่นหมายความว่าในความเป็นจริงกฎหมายพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บอกว่าต้องไปฟ้องศาลหรือให้ออกคำสั่ง ซึ่งเราต้องดูว่ามันต้องออกคำสั่งหรือฟ้องศาล หรือพิสูจน์อะไรกันเสียก่อนหรือไม่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ จะมาบอกว่า ทำมาแล้วกว่า 5,000 คดี แล้วตัวเลขคดีพวกนี้คุณเรียกใครอย่างไร จะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการ และเรียกค่าเสียหายกันมากน้อยแค่ไหน แบบนี้เขาพูดได้หมด เพราะเราไม่ได้เคยได้เห็นรายละเอียดเลย

 

“ต้องเข้าใจก่อนว่าเดิมเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง มันเป็นคดีอาญาอยู่แล้ว เนื้อหาสาระมาจากต้นตอเดียวกัน คือมาจากคำฟ้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นสำนวนเดียวกัน ในเมื่อยังอยู่ในศาลที่รอการพิสูจน์อยู่ แต่การที่คุณจะรีบออกคำสั่งการปกครอง เรียกผมไปชดใช้ เท่ากับว่าผมผิด แล้วหรือ วันนี้คดียังอยู่ในศาล และผมก็ยังต่อสู้ของผมอยู่ ผมเชื่อมั่นว่าผม ไม่ผิด” อดีต รมว.พาณิชย์ กล่าวยืนยันอย่างมั่น

 

บุญทรง กล่าวอีกว่า การออกคำสั่งการปกครอง มันก็ออกมาก่อน แล้วจะให้เราไปชดใช้ซึ่งผิดปกติวิสัย ทำไมไม่รอให้ศาลฎีกาพิจารณาให้เสร็จเสียก่อนแล้วค่อยมาเรียก อยู่ๆ จะมาอ้างมีเวลา 2 ปี ก็ในเมื่อศาลฎีกาเรียกให้ผมต้องชดใช้ 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนของตัวเลขเรายังไม่เห็นรายละเอียดเรายังไม่ผิด เราต้องสู้ทุกประเด็น ตัวเลข 1,700 ล้านบาท หรือ 2 หมื่นล้านบาท หรือแม้กระทั่งตัวเลขของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ จิรชัย มูลทองโร่ย เป็นประธาน แล้วมีข่าวว่าส่งไปให้กระทรวงการคลัง 1.8 หมื่นล้านบาท พอส่งให้กระทรวงการคลังเป็น 2 หมื่นล้านบาท ตัวเลขกลับไปกลับมาพวกนี้เราไม่เห็นเลย เรื่องของตัวเลขที่ขึ้นๆ ลงๆ ก็น่าสงสัย แต่เขาก็ไม่ให้เราดูเอกสารอะไรสักอย่าง ทั้งนี้กระบวนการศาลปกครอง ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าศาลจะรับพิจารณาและจะใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งระหว่างนั้นเราต้องขอให้ศาลทุเลาคำสั่งไปด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นกระบวนการมันเดิน แต่เราคงไม่รอเวลานานขนาดนั้น เมื่อดูแล้วก็ต้องรีบทา

 

กับคำถามที่ว่า คิดหรือไม่ว่าวันหนึ่งจะมาถึงจุดนี้ บุญทรง ครุ่นคิดสักครู่หนึ่ง แล้วค่อยๆ ตอบออกมาว่า การดำเนินการในวันนั้นเพราะเรามีหน้าที่ในทางการเมือง มีตำแหน่งในการบริหาร ซึ่งต้องทำให้ดีที่สุด และเราต้องยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อมันเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นเป็นเหตุการณ์พิเศษเพราะมันมีการปฏิวัติ เรื่องนี้ถูกเร่งรัดโดยเอาอำนาจพิเศษของคณะปฏิวัติ คสช.มาใช้ แบบนี้เราไม่คิดว่าเราจะเจอ เพราะไม่คิดว่าจะมีปฏิวัติอีก การปฏิวัติเมื่อปี 2549 ควรจะเป็นครั้งสุดท้ายของชาติไทยแล้ว ถ้ามันเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองแบบปกติ เลือกตั้งไปสู้กันไปและเกิดอุบัติเหตุอะไร หรือเกิดอะไรขึ้นจากการกระทำของเรา อย่างนั้นเราทำใจได้ เรายอมรับอยู่แล้ว

 

ผิดหรือ เป็นแพะเพราะการเมือง”ความเห็นส่วนตัวผมเรื่องนี้มันการเมือง ถามว่าจะรีบเร่งไปไหน ผมยังอยู่ในขั้นตอนของศาลอีกตั้งหลายปี จะเร่งทำไม เพื่อให้สังคมเห็นหรอว่า เรื่องจำนำข้าวมันผิดชัวร์ๆ หรือต้องการเอาผมให้ผิดชัดเจนแล้วเอาไปเล่น งานนายกฯ ปู เพราะการไปกล่าวหา นายกฯ ปู กล่าวหาท่านก่อนกล่าวหาผม การกล่าวหานายกฯ ปู คือ การทาผิดมาตรา 157 ปล่อยปละละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดการทุจริตในโครงการ ซึ่งขณะที่กล่าวหา ป.ป.ช.ยังไม่ได้ลงมติกล่าวหาผมเลยด้วยซ้ำ มากล่าวหาตามเอาทีหลัง ถามว่าจะเอาผมให้ผิดเพื่อจะเป็นเหตุ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกล่าวหานายกฯ ปู ชอบแล้ว จะเอาผิดนายกฯ ปู ต้องเอาผิดผมเสียก่อน คดีผมมันเกิดหลัง แต่ตอนนี้คดีกลับเร่งสปีดนำหน้าไปแล้ว รู้สึกว่ามันเป็นการเมือง เพราะเหตุพฤติการณ์ที่เราโดนกระทำมันแน่นอนมาก เพราะลองเทียบคดีเรือเหาะ คดีที่เกี่ยวกับกองทัพ หรือคดีอื่นๆ ที่อยู่ใน ป.ป.ช. ไม่เห็นจะเดินหน้าสักที ทำไมของผมมันสปีดจังเลย ถามให้ผมหน่อยได้ไหม ทำไมคดีที่เกี่ยวกับกองทัพมันไม่เดินหน้าเลย”

 

บุญทรง กล่าวมั่นใจว่า เรื่องนี้คิดว่า คสช.มีธงไว้อยู่แล้ว ซึ่งธงคือยังอยู่ที่คนเดิม ไม่ต้องการให้ทักษิณกลับเข้าสู่การเมือง อะไรที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองนี้ หรือคนคนนี้ เมื่อมีเรื่องมีราว เป็นคดีก็ต้องออกมาอย่างนี้ แต่ที่ผมพูดไม่ได้ไปก้าวล่วงเรื่องที่ในคดีของศาลฎีกาที่ผมเป็นจำเลยอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้บอกว่าคณะผู้พิพากษาท่านมีธงอยู่แล้ว ไม่ใช่ แต่กำลังพูดถึงฝั่งกรรมการ คสช.

 

“เมื่อเขามีธง เขาต้องทำร้ายคุณทักษิณ ซึ่งต้องทำร้ายครอบครัว นั่นคือนายกฯ ปู และก่อนถึงนายกฯ ปู ก็ต้องมีอะไรมารองรับหน่อย ถ้าผมไม่มีตรงนี้ ไม่มีเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ก็ต้องมีเรื่องน้ำ เรื่องอื่นๆ ไประดมใส่อีกมากมาย ถามว่าที่นายกฯ พูดออกมาว่า ถ้าผมจะฟ้องนายกฯ ให้ไปขึ้นศาล แล้วท่านบอกว่า ออกจากคุกก่อนแล้วกัน หมายความอย่างไร รู้ได้ยังไงว่าผมจะติดคุก เขาสั่งใครได้หรือเปล่า ซึ่งเรื่องการละเมิดผมเองก็คิดว่าเขาสั่งได้อยู่แล้ว ในเมื่อเป็นลูกน้องเขา ใน ครม.ก็สั่งได้ สั่งให้คนเซ็นแทนยังสั่งได้เลย เพราะฉะนั้นไม่รู้ว่าความหมายคืออะไร รู้ได้ยังไงว่าผลลัพธ์จะออกมายังไง รู้หรือว่าศาลจะตัดสินออกมายังไง ที่มาไล่ผมออกจากคุกก่อนแล้วค่อยมาเอาเขาขึ้นศาล ผมฝากบอกว่าช่วยดูแลน้องชายกับหลานเขาหน่อยว่า อย่าเพิ่งมาให้ติดคุกก่อนผมก็แล้วกัน”

 

“การดำเนินการวันนี้มันเร็ว ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปว่า ผมคือแพะ คือคุณจะเอาผิดท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์หลัง จากที่ไม่มีมูลและเหตุ แต่ไปกล่าวหาเขาแล้ว เลยเอาผมไปเป็นมูลเหตุ” บุญทรง กล่าว

 

“…ถามว่าจะเอาผมให้ผิดเพื่อจะเป็นเหตุเพื่อแสดงให้เห็นว่าการกล่าวหานายกฯ ปู ชอบแล้วจะเอาผิดนายกฯ ปู ต้องเอาผิดผมเสียก่อนคดีผมมันเกิดหลัง แต่ตอนนี้คดีกลับเร่งสปีดนำหน้าไปแล้ว รู้สึกว่ามันเป็นการเมือง…”

 

นายกฯ ตู่ ต้องอธิบายต่อ ‘ศาล’

นอกจากเรื่องของกระบวนการต่อสู้คดีแล้ว ก่อนถึงจุดนี้ อดีต รมว.พาณิชย์ ได้ตั้งข้อสงสัย เกี่ยวกับการลงนามในคำสั่งดังกล่าว ว่า ผมไม่ทราบว่าเขาให้เซ็นและไม่เซ็นกันกี่รอบ แต่เท่าที่ ดูจากสื่อพบว่ากระทรวงการคลัง ก็ส่งไปนานแล้ว และกระทรวงพาณิชย์ก็บอกว่าส่งไปให้สำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณา ให้กฤษฎีกาอีก สุดท้ายกว่าจะมาเซ็นร่วมกันได้เพิ่งจะไม่กี่วัน ที่ผ่านมานี่เอง

 

“ผมว่ามันน่าสงสัยว่าทำไมต้องส่งไปมาหลายรอบเหลือเกิน ทำไมนายกรัฐมนตรีไม่ลงนามเสียเอง คงต้องไปดูว่ากฎหมายเขียนว่ายังไง ใครต้องลงนาม ทำไมไม่ลงนาม เมื่อเป็นแบบนี้การที่จะถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะไปตีความเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร เพราะในเมื่อกฎหมายเขียนไว้อย่างไร ไม่ทำตามจนกระทั่งต้องงัดเอามาตรา 44 ออกมา อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังพูดย้ำว่า การใช้มาตรา 44 เอาออกมาเพราะคุ้มครองคนที่จะทำจะได้ไม่ต้องกลัวว่าจะกระทำความผิด นั่นหมายความว่าถ้าไม่มีมาตรา 44 การกระทำทุกอย่างก็ต้องผิดสิ และถ้าไม่มีมาตรา 44 คนก็จะไม่กล้าทำอะไร”

 

บุญทรง สำทับข้อมูลว่า ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นั้น เขียนไว้ชัดเจนว่าผู้ที่ลงนามแต่งตั้งกรรมการเพื่อไปเอาผิดหรือเรียกความเสียหายต้องลงนามในคำสั่งเรียกความเสียหาย นั่นหมายความว่า ใครลงนามตั้งกรรมการก็ตั้งเซ็นลงนามเอง เมื่อนายกฯ ตั้งกรรมการก็ต้องลงนามเอง

 

บุญทรง ตั้งคำถามไปถึง พล.อ. ประยุทธ์ ว่า ทำไมนายกฯ ไม่ลงนามเอง ทำไมต้องมอบหมายเรื่องนี้ ไม่ทราบว่าขั้นตอนยังไง ผมจะไปฟ้องศาลและคงต้องไปอธิบายกับศาลเอง ไปตอบว่าทำไมตัวเองไม่ลงนาม ทั้งๆ ที่ตัวเองก็นั่งอยู่ในที่ทำงานอยู่ด้วย รอไปหลายวันแล้วค่อยเรียกให้รัฐมนตรีเซ็นแทน คิดว่าเรื่องนี้คงต้องไป พิสูจน์ เพราะถ้าคนอื่นการลงนามแทนได้จริงทำไมไม่ลงเลย ทำไมต้องรอมาตรา 44 เพราะในเนื้อความคำสั่งมาตรา 44 บอกโดยชัดเจนอยู่ว่า โดยสุจริตไม่ได้ไปกลั่นแกล้งใคร นั่นหมายถึงทำโดยมีกฎหมายรองรับ แต่ถ้าทาโดยขัดกับกฎหมายแล้วจะไปสุจริตได้ยังไง รัฐมนตรีพาณิชย์ก็นั่งอยู่ ปลัดก็นั่งอยู่อีกห้อง รัฐมนตรีพาณิชย์จะไปมอบทำไม คำว่าปฏิบัติราชการแทนหรือมอบอำนาจ นั่นหมายความว่าตัวผู้มอบต้องไม่อยู่ปฏิบัติราชการในขณะนั้นในเวลานั้น ใช่ไหม หนังสือมารอตั้งหลายวัน แต่คงไม่ใช่เพราะผมไปขู่หรอกว่าจะไปเจอกันที่ศาล เพราะผมพูดหลังจากที่เขาลงนามกันไปแล้ว

 

“แม้จะต้องฟ้องคุณประยุทธ์ก็ต้องฟ้อง ถ้ากฎหมายมันมี เห็นว่าเขาทาผิดก็ต้องฟ้อง จะมาอ้างมาตรา 44 ใหญ่กว่าทุกกฎหมาย ผมก็ไม่รู้ ต้องลองฟ้องดู แล้วสิ่งที่นายกฯ พูดว่ามาตรา 44 คุ้มครองคนทำงานจะได้ไม่กลัว ถามว่ากลัวอะไร กลัวว่าทำผิดกฎหมายหรือกลัวว่าผมจะไปฟ้องเอาผิดทีหลังอย่างนั้นหรอ ถ้าไม่ทำผิดจะกลัวทำไม ถ้าคุณทำถูกผมฟ้องผมก็แพ้ แต่ถ้าผมฟ้องแล้วผมชนะ นั่นคือคุณทำผิดกฎหมายเสียเอง จะมาบอกเหตุผลว่ากลัว ผมก็ไม่ทราบได้ จะบอกว่ามาตรา 44 เป็นเหมือนคาถาวิเศษ เอาไปปลดใครก็ได้หมด มันไม่ใช่”

 

อดีต รมว.พาณิชย์ พูดอย่างมั่นใจว่า ล้านเปอร์เซ็นต์ว่าเรื่องนี้มันมี Motivation (แรงจูงใจ) ทางการเมืองแน่นอน ใครจะออกมาพูด มาแถ เบี่ยงประเด็นยังไงก็แล้วแต่ แต่ผมเชื่อของผมอย่างนี้ ตอนที่เขาปฏิวัติเข้ามา โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้เป็นเหตุผล แต่เหตุผลที่เขาปฏิวัติคือคนทะเลาะกัน ต้องการที่จะเข้ามาเป็นคนกลางเพื่อมายุติเหตุการณ์ สังคมจะได้ไม่แตกแยก แต่ตอนหลังมากลายเป็นเรื่องอย่างนี้ จากต้องการเป็นกรรมการ กลายมาเป็นนักมวยมาชกกับเราเสียเอง บทบาท คสช.ไม่เหมือนตอนพูดปฏิวัติ เป็นทั้งกรรมการเอง แล้วกรรมการก็ขึ้นมาชกเอง ตัดสินเอง ดูท่าทีกรรมการพอจะเพลี่ยงพล้าก็เอานกหวีดมาตรา 44 ออกมาใช้ มันตลก ปิดประตูตีแมวหรือเปล่า

 

บุญทรง ยังย้อนถามกลับไปยังรองนายกฯ วิษณุ ด้วย ที่ระบุว่า เมื่อถึงเวลาที่ต้องยึดทรัพย์ มีคนต้องทำอยู่แล้ว แล้วถามว่าทำไมต้องใช้มาตรา 44 ออกมาเพื่อให้กรมบังคับคดีไปทาหน้าที่นี้ เมื่อมีคนทำอยู่แล้วจะไปออกมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีทำอีกทำไม มันมีกระบวนการอยู่แล้วทำไมไม่ใช้ให้เกิดความเป็นธรรม ทำไมต้องมาทาแบบนี้ รีบออกมาตรา 44 ทำไม คุณยังอยู่ในอำนาจอีกตั้งเท่าไหร่ ทำไมต้องออกก่อนลงนามในคำสั่ง

 

เมื่อการเดินหน้าดำเนินคดีมาถึงจุดนี้แล้ว ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ ได้ย้อนถามกลับไปว่า เมื่อขณะนั้นที่มีการเตือนจากหน่วยงานต่างๆ ต่อการดำเนินการนโยบายรับจำนำข้าว ทำไมจึงไม่หยุดการดำเนินโครงการ อดีต รมว.พาณิชย์ อธิบายเหตุผลในเวลานั้นว่า ตอนนั้นเป็นการเตือนกรณีศึกษาแล้วนำส่งมาให้รัฐบาล ซึ่งวันนั้นเราดำเนินการทำโครงสร้างทุกอย่างอย่างรัดกุมที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ส่วนที่ถามกันว่าทำไมไม่หยุด เพราะเป็นโครงการที่เราดำเนินการเป็นนโยบายที่ได้ประกาศต่อรัฐสภา ประกาศต่อสาธารณะ เราก็มีหน้าที่ที่ต้องดำเนินตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ อีกทั้งโครงการนี้เป็นโครงการที่เริ่มต้นก่อนที่ผมจะไปเป็น รมว.พาณิชย์ ด้วยซ้ำ โครงการเดินหน้าอยู่แล้ว เมื่อเราได้รับตำแหน่งเราต้องรับผิดชอบ เหมือนตัวจักรอันหนึ่งที่เราต้องขับเคลื่อน เป็นหน้าที่ และหลังจากที่เราได้รับการแจ้งเตือน เราได้ทำทุกอย่างอย่างรัดกุม ปรับกระบวนทุกอย่าง การดำเนินการทั้งหมดมีขั้นตอนมีระเบียบรองรับหมด